ยุคเข็ญเศรษฐกิจไทย กลไกรัฐหมดแรงขับเคลื่อน
ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหมู 2562 ดูจะไม่ปรากฏสัญญาณบวกหรือกระเตื้องขึ้นตามที่กลไกรัฐคาดหวัง หากแต่ยังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามและถูกถมทับด้วยปัจจัยลบ ที่ก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างกว้างขวางว่าเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้จะเดินหน้าเข้าสู่จุดวิกฤต และเผชิญกับภาวะที่ไม่พึงประสงค์ที่กำลังคืบใกล้เข้ามา แม้ว่าตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา รัฐนาวา ภายใต้การนำของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามโหมประโคมและระบุว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวขึ้นจากความซบเซา และกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่นภายใต้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นการปรับลดต่ำลงของตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องมีการปรับลดประมาณการและคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ก่อนที่ล่าสุดจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ทั้งที่รัฐบาลจะทุ่มเทเงินงบประมาณจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาทด้วยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะอยู่ไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2562 ไว้ที่การเติบโตร้อยละ 3 พร้อมกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบลดแลกแจกแถมสารพัด แต่ดูเหมือนว่ามาตรการของรัฐเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกมากนัก ขณะที่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพล พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 65.54 ระบุว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาข้าวของแพง และมีปัญหาการว่างงาน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าในปัจจุบัน ประเด็นที่น่าสนใจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ประการหนึ่งอยู่ที่การประเมินปัญหาที่รุมเร้าว่าหากมองว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ ก็จะเกิดความรู้สึกรับรู้ว่าย่ำแย่ และนำไปสู่ความรู้สึกโดยรวมที่ไม่ดีขาดความมั่นใจ จนนำไปสู่ภาวะชะลอตัวในการบริโภคและการลงทุน ซึ่งทัศนะเช่นว่านี้ทำให้กลไกรัฐดูจะไม่ได้ยืนอยู่บนตรรกะและข้อเท็จจริงของสภาพที่เผชิญอยู่ และพยายามเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้ ทั้งที่สถานการณ์โดยรวมไม่ได้เป็นไปตามที่เอ่ยอ้างเช่นนั้น การออกมายอมรับของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งเคยขับเคลื่อนด้วยการส่งออก
Read More