สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ “เด็กดี?” ในยุคดิจิตอล อีโคโนมี
หากอัตราการรู้หนังสือรวมถึงปริมาณหนังสือที่ผู้คนในสังคมอ่านเฉลี่ยในแต่ละปี จะเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีและมาตรวัดความจำเริญเติบโตทางสติปัญญาของสังคมนั้นๆ ได้บ้าง ความพยายามที่จะสร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านผ่านกิจกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 43 ในครั้งนี้ ก็คงเป็นภาพสะท้อนวิวัฒนาการของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนไม่น้อย ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยตั้งแต่เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ทุกอาชีพเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์รู้เทคนิควิธีการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมและได้ผล รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เห็นหนังสือจากนานาชาติ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นถึงการพัฒนาและเติบโตของโลกหนังสือของต่างประเทศ และในทางกลับกันเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เห็นหนังสือไทย และสร้างโอกาสให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ของไทยได้ขายลิขสิทธิ์สู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวปรับปรุงพัฒนาการผลิตหนังสือให้มีคุณภาพ มีความหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ตลอดจนเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องนี้ ดูเหมือนกิจกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะเป็นประหนึ่งประตูบานใหญ่ที่เปิดออกไปสู่โลกกว้าง หากแต่ในความเป็นจริงและความเป็นไปแห่งยุคสมัย ที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึง ดิจิตอล อีโคโนมี วันละหลายเวลา และช่องห่างความแตกต่างระหว่างการอ่านและการดู ตีบแคบจนหลายฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อน บางทีคุณค่าความหมายของสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ อาจเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่มีความแหลมคมอย่างยิ่ง โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดงานที่นอกจากจะมีข้อความรายละเอียดชื่องานและกำหนดเวลา สถานที่จัดงานแล้ว ยังปรากฏข้อความ “เด็กดี?” ให้ต้องไขปริศนา ที่ต้องเกิดจากการอ่านที่ไม่ใช่การดู ได้อย่างแยบคายและลงตัว ขณะที่ในพื้นที่การจัดงานนอกจากจะประกอบด้วยนิทรรศการและเวทีเสวนาในหัวข้อที่หลากหลายแล้ว นิทรรศการภายใต้หัวข้อ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” เป็นประหนึ่งการยั่วแย้งและย้อนแยงให้ผู้เข้าชมงานต้องตระหนักถึงคุณค่าของการอ่านเพิ่มขึ้นอีก “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” เป็นนิทรรศการที่ได้รับการสนับสนุนการจัดจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นนิทรรศการที่นำเสนอตัวอย่างบางส่วนของหนังสือและถ้อยคำที่สะท้อนความจริงของวัยเด็ก ช่วยเปิดโลก กระตุ้นจินตนาการ ทลายกรงขัง และเป็นแรงขับให้เด็กจำนวนมากได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยหนทางแห่งปัญญามาแล้วหลายยุคสมัย โดยหวังว่าจะเป็นการเปิดหน้าต่างสู่โลกกว้างให้กับเด็กๆ ที่ได้เข้าชม และในขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่บางท่านที่อาจยังไม่รู้ตัวว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็ก “การเรียนรู้ที่สำคัญในวัยเด็ก ถ้อยคำที่นำพาเด็กไปสู่การมีสติปัญญาอย่างเข้มแข็ง
Read More