การเดินทางเยือนเมียนมาร์ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้ภารกิจสำคัญว่าด้วยการเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประพฤติกรรมที่ทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความเหมาะสมและประเด็นว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนที่พร้อมจะเป็นไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งเฟื่องฟูให้กับเครือข่าย สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ และควรตระหนักจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ในด้านหนึ่งอยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพในงานสารนิเทศ ที่ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีแนวทางและกำหนดบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอาจเป็นโครงการที่มีความสืบเนื่องมาจากฐานรากที่บริษัทเอกชนไทย ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้าง และหาแหล่งทุน ที่มีลำดับขั้นและพัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2551 ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ในช่วงปลายปี 2553 หากประเมินในมิติที่ว่านี้ โครงการดังกล่าวย่อมเป็นเพียงเรื่องราวความเป็นไประหว่างเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลแห่งเมียนมาร์ โดยที่เอกชนรายที่ว่าก็คงอยู่ในตำแหน่งและบทบาท ไม่แตกต่างจาก “นายหน้าที่วิ่งเร่ขายโครงการ” ให้กับผู้ร่วมทุนหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในห้วงที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเรืองอำนาจในฐานะรัฐบาล ก็เคยวาดหวังจะให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นจักรกลในการผลิตสร้างเมกะโปรเจกต์ โดยอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยประกาศบนเวทีปาฐกถาเรื่อง “GMS ในทศวรรษใหม่” ที่ จ. เชียงราย เมื่อต้นปี 2553 ว่า จะผลักดันท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นส่วนหนึ่งในอภิมหาโครงการเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือไทย-เมียนมาร์ แต่ความเป็นไปและคืบหน้าของโครงการพัฒนาดังกล่าวกลับขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงกลางปี 2555
AECMyanmarโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย Read More