เศรษฐกิจไทย จากโครงสร้างสู่ฐานราก ยิ่งอัดฉีดยิ่งเหลื่อมล้ำ?
ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ดูเหมือนจะกลายเป็นกรณีที่ฟากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไม่ค่อยอยากจะกล่าวถึง เพราะตลอดระยะเวลาที่มีโอกาสคุมกลไกและออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมากว่า 5 ปี กลับไม่ปรากฏผลสัมฤทธิ์ให้ประจักษ์อย่างน่าพึงพอใจ และในความรับรู้ของผู้คนทั่วไปดูจะยิ่งทรุดหนักไปกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ แม้ว่าในช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมาภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินจากตัวเลขสถิติต่างๆ จะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวจากระดับ 1.4 แสนบาทต่อปีในปี 2551 มาสู่ระดับ 2.2 แสนบาทในปี 2560 หรือเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 55 ขณะที่เสถียรภาพของประเทศก็ดูจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งในมิติของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันถึง 5 ปี หากแต่ความท้าทายหลักที่กำลังสั่นคลอนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ที่การพัฒนาด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้นได้ โดยแรงงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด ขณะที่นโยบายภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยเน้นการดูแลราคา การประกันรายได้ และการให้เงินอุดหนุน หรือการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพในระยะยาว ขณะเดียวกัน แรงงานไทยยังมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคลำดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจและเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจต่างชาติในการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ส่วนแบ่งเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศจากเงินลงทุนทั้งโลกลดลง
Read More