ช่วงนี้ประเด็นร้อนของฝ่ายค้านนิวซีแลนด์ในการโจมตีรัฐบาลคือ การที่รัฐบาลกำลังจะขายธุรกิจหลายอย่างของรัฐที่ไม่ค่อยจะทำเงินให้กับต่างชาติ ซึ่งคนนิวซีแลนด์ที่หวงแหนทรัพย์สมบัติของรัฐก็เห็นว่า นี่เหมือนเป็นการขายชาติ แต่ในขณะที่ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งของรัฐในนิวซีแลนด์กำลังทยอยขายธุรกิจให้ต่างชาติกันไม่หยุดหย่อน ก็มีธุรกิจของคนนิวซีแลนด์ที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีเงินทุนมหาศาล ไม่ได้ทำธุรกิจข้ามชาติแต่กลับขยายธุรกิจไปถึงออสเตรเลียและไอร์แลนด์เรียบร้อยแล้ว ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปีก็คือ Grabone ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นธุรกิจประเภทออนไลน์ที่มีไอเดียธุรกิจที่ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน และสามารถทำให้เว็บไซต์ที่ไม่เคยมีใครรู้จักกลายเป็นเว็บไซต์ที่คน จำนวนมากต้องเข้าไปดูทุกวันว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง
นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่คนนิยมใช้อินเทอร์เน็ตกันมาก สถิติปัจจุบันคือประชากรร้อยละ 83 ของนิวซีแลนด์ถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นใน การดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 8 ของโลกเลยทีเดียว โรงเรียนในนิวซีแลนด์หลายโรงเรียนตอนนี้ เวลานักเรียนทำการบ้านส่งครูก็เปิดไฟล์ใหม่ ทำเสร็จแล้วก็บันทึกไฟล์แล้วส่งไฟล์ทางออนไลน์แทนการทำการบ้านลงสมุด และครูก็จะตรวจการบ้านทาง ออนไลน์ด้วยตัวพิมพ์สีแดง แล้วส่งไฟล์กลับมาให้นักเรียน ตัวผมเวลาทำงาน อินเทอร์เน็ตก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ การติดต่องานกับหน่วยงานราชการกับสำนัก งานทนายความอื่น หรือการติดต่อพูดคุยกับลูกความ ใช้อีเมลในการติดต่อเป็นส่วนใหญ่ คดีความและมาตรา กฎหมายส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เปิดอ่านทางอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งว่าถ้าวันไหนที่ออฟฟิศไม่มีอินเทอร์เน็ตสัก 3 ชั่วโมง ผมเริ่มรู้สึกว่าชีวิตที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือน ขาดอะไรไปสักอย่าง อยากให้เน็ตกลับมาเร็วๆ
ผมเชื่อว่าคนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ก็คิดแบบที่ผมคิด หลังจากมีเว็บไซต์ Trademe ที่คนนิวซีแลนด์ ให้ความนิยมกันอย่างสูงในการซื้อขายสินค้าออนไลน์1 ทำให้นักธุรกิจรู้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ธุรกิจ ของเขาเป็นที่รู้จักในชุมชนที่เขาอยู่โดยสื่ออินเทอร์เน็ต ปัญหาคือธุรกิจเล็กๆ ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ คนรู้จักธุรกิจของพวกเขาโดยสื่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากพวกเขาเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก การลงทุนมหาศาลในการโฆษณาทีวีหรือวิทยุก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีธุรกิจระดับประเทศที่จะทำรายได้คุ้มค่ากับการ จ่ายค่าโฆษณามากมายขนาดนั้น ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่พวกเขาต้องใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้คนรู้จักพวกเขา เพราะประหยัดและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย
ฉะนั้น Grabone จึงใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ เชน แบรดลีย์ (Shane Bradley) เจ้าของ Grabone และทีมงาน ตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ Grabone (www.grabone.co.nz) ในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งทีมงานของแบรดลีย์จะไปหาธุรกิจหรือร้านค้าที่ต้องการให้ร้านของตนเป็นที่รู้จักในชุมชนนั้นๆ และต่อรองราคาที่จะขายคูปองสินค้าของร้านนั้นๆ ในราคาถูกมาก ธุรกิจที่ใช้บริการ Grabone มากที่สุด คือธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม และคูปองที่ออก มาบ่อยๆ เกือบทุกวันคือ ร้านอาหาร ขายอาหารหลัก 2 จาน ในราคาลด ถึง 50% เช่น ร้านอาหาร ฝรั่งที่ขายสเต๊กราคา 34 ดอลลาร์ต่อจาน ก็จะมีคูปองให้ซื้อสเต๊ก 2 จาน ที่ร้านอาหารนั้นๆ ในราคา 34 เหรียญ หรือพูดง่ายๆ คือลดถึง 50% ขึ้นในเว็บไซต์ Grabone ให้คนซื้อ
แน่นอนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รู้อยู่แล้วว่าร้านอาหารนี้เป็นร้านหรูราคาแพง แต่ยังไม่กล้าไปกิน เพราะไม่รู้ว่าอาหารอร่อยหรือเปล่า พอเห็นมีคูปองลดราคา 50% ก็จะไม่รีรอที่จะลองซื้อคูปองเข้าไปลองกินอาหารร้านนี้ดูว่ารสชาติเป็นอย่างไร นโยบายอีกอย่างหนึ่งของGrabone คือเมื่อผู้มุ่งหวังเห็นสินค้าแล้ว จะต้องกระตุ้นให้พวกเขาซื้อทันที เพราะการขายของทางออนไลน์ โดยที่ผู้ซื้อผู้ขาย ไม่เห็นหน้ากันนั้น ผู้ขายจะไม่มีโอกาสไปนั่งอยู่กับผู้ซื้อแล้วกระตุ้นให้เขาเซ็นสัญญา หรือควักเงินออกมาจ่าย ในขณะที่ผู้ซื้อกำลัง ‘ร้อน’ อยากจะได้สินค้า คนที่มีประสบ การณ์ทำธุรกิจทุกคนรู้ดีว่าถ้าผู้ขายไม่สามารถทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจเซ็นสัญญาทันทีขณะที่ความต้องการยังสูงอยู่ อีกเพียง 3-4 ชั่วโมงต่อมา ความอยากได้ของผู้ซื้อจะเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ และยิ่งเวลาผ่านไปมากขึ้นๆ โอกาสที่ผู้ซื้อ จะเปลี่ยนใจไม่ซื้อก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
แบรดลีย์รู้ดีถึงปัญหานี้ เขาจึงตั้งระบบคูปองต่างๆ ใน Grabone คูปองของสินค้าต่างๆ จะมีเวลาจำกัดในการซื้อคูปองสินค้านั้น ส่วนใหญ่หลังจากเว็บไซต์ Grabone อัพโหลดคูปองสินค้าชนิดหนึ่งๆ เข้าไปในเว็บไซต์ ผู้ซื้อจะมีเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้นในการซื้อคูปองนั้นๆ โดยใต้ปุ่มที่ให้ลูกค้ากดซื้อจะมีเวลานับถอยหลังตลอดเวลาทุกวินาทีว่าเวลาที่จะซื้อคูปองของร้านนี้ๆ เหลืออยู่กี่ชั่วโมง ทำให้ผู้ซื้อจะไม่ลังเลที่จะกดซื้อทันทีเมื่อเห็น และทันทีที่กดซื้อจะต้องจ่ายเงินด้วยเครดิตการ์ดทันที ซึ่งก็เป็นข้อดีว่าทั้งเว็บไซต์ Grabone และร้านค้าที่ร่วมขายคูปองกับเขาได้เงินแน่นอน ไม่ต้องกลัวการเบี้ยว และผู้ซื้อจะมีเวลาจำกัดในการใช้คูปองนี้ เพราะคูปองจะระบุเอาไว้ชัดเจนว่าวันหมดอายุเมื่อไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเวลาประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ฉะนั้นผู้ซื้อจะต้องรีบใช้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะเท่ากับว่าGrabone กำหนดให้ผู้ซื้อ รีบมาใช้บริการร้านค้านั้นเร็วๆ ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ซื้อไม่ลืมร้านนี้ ต้องหาโอกาสมาใช้บริการโดยเร็ว และถ้าถูกใจในบริการหรือสินค้าก็น่าจะกลับมาเป็นลูกค้าอีกในโอกาสต่อไป
ฟังดูแล้วก็เป็นแผนการตลาดที่ดี แต่ว่าก่อนที่ผมจะค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้เพื่อเขียนเรื่อง ผมก็สงสัยมานานเหมือนกันว่า แล้ว Grabone สามารถหาธุรกิจร้านค้ามาขายคูปองลดราคามากมายในเว็บไซต์เขาในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร ซึ่งผมเพิ่งจะรู้คำตอบว่าเป็นเพราะ Grabone มีการการันตีร้านค้าทุกร้านที่มาขายคูปองกับเว็บไซต์ของเขาว่าอย่างน้อยที่สุดเขาจะขายคูปองให้ร้านๆ นั้นได้กี่คูปอง ซึ่งถ้ายอดขายไม่ได้ตามนั้น Grabone จะต้องรับผิดชอบ สมมุติว่าร้านอาหารนี้ลงขายคูปองอาหารหลัก 2 จานในราคา 30 ดอลลาร์ Grabone จะต้องรับประกันว่าอย่างน้อยจะต้องขายได้ 100 คูปอง ถ้าขาย ได้แค่ 90 คูปอง Grabone จะต้องจ่ายเงินอีก 10 คูปองนั้นให้กับร้านเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงไม่น้อยเพราะ ถ้าคนไม่เข้ามาในเว็บไซต์นี้แล้วซื้อคูปองมากพอ Grabone ก็ต้องขาดทุนย่อยยับ
ปรากฏว่าผลตอบรับกลับดีเกินคาด ผู้คนจำนวนมากรู้จักเว็บไซต์ Grabone อย่างรวดเร็ว และคูปองลดราคาแต่ละร้าน ส่วนใหญ่นั้นขายได้เป็นร้อยๆ ใบ มีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากทั่วประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารอร่อยๆ โรงแรมสวยๆ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และไม่รู้ว่าจะทำการตลาดเพื่อให้เป็นที่รู้จักได้อย่างไร ติดต่อ Grabone เพื่อขอขายคูปองสินค้า หรือคูปองบริการมากมาย จน Grabone ต้องจัดหมวดหมู่เว็บไซต์ของเขา โดยแยกเขตต่างๆ ในประเทศนิวซีแลนด์ออกจากกันหมด เพื่อประชากร ในเขตต่างๆ จะได้รู้ว่าธุรกิจร้านค้าในเมืองที่พวกเขาอยู่ ลงขายคูปองที่หน้าไหน ยอดขายของคูปองสินค้าในปีแรกที่เปิดเว็บไซต์ คือปี 2553 อยู่ที่สัปดาห์ละ 5 แสนดอลลาร์ ซึ่ง Grabone จะเอาส่วนแบ่งในการขายคูปองและการทำตลาดประมาณ 20% ฉะนั้นรายได้จากส่วนแบ่งในการขายคูปองนั้น สัปดาห์หนึ่งก็ประมาณ 1 แสนดอลลาร์ ซึ่งสำหรับธุรกิจที่เปิดใหม่ มีรายได้ขนาดนั้นทุกสัปดาห์ก็ถือว่าดีพอสมควร และในปีที่แล้ว (ปี 2554) รายได้จากการขายคูปองก็เพิ่มขึ้นไปถึงสัปดาห์ละ 1.5 ล้านเหรียญในนิวซีแลนด์อย่างเดียว นั่นก็หมายความว่า Graboneก็มีรายได้จากค่าส่วนแบ่งจากการขายคูปองถึงสัปดาห์ละ 3 แสนเหรียญ ซึ่งสำหรับธุรกิจเล็กๆ ที่เจ้าของทำเองเกือบทุกอย่าง มีลูกจ้างไม่กี่คนในการติดต่อกับร้านค้าที่จะมาร่วมขายคูปองด้วย รายได้ขนาดนี้ก็ต้องถือว่าดีมาก
เนื่องจากราคาคูปองที่ขายนั้นส่วนใหญ่ราคาถูกมาก ฉะนั้นคำถามก็คือแล้วร้านค้าที่มาร่วมขายคูปองกับ Grabone นั้นได้กำไรหรือเปล่าจากการขายอันนี้ขอตอบจากการอ่านสัมภาษณ์ร้านค้าต่างๆ ที่เคยขายคูปองมาแล้วว่าส่วนใหญ่ไม่ได้กำไรเลย หรือถ้าได้ก็ได้น้อยมาก เพราะราคาที่ขายในคูปองถูกมากอยู่แล้ว แถมยังโดนส่วนแบ่งไปอีก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อดีก็คือได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น คนที่เลือกซื้อคูปองของร้านเขาจะได้มาลองสินค้าที่ร้านเองเลย ถ้าถูกใจคุณภาพของสินค้าก็จะกลายมาเป็นลูกค้าของร้านของเขาในอนาคต และเนื่องจากการใช้คูปองใช้ได้ครั้งเดียว ฉะนั้นเมื่อเขามาซื้อสินค้าใหม่ เขาก็ต้องซื้อในราคาปกติ เมื่อถึงเวลานั้น เจ้าของร้านก็จะได้กำไรจากลูกค้าคนนั้น เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์บอกว่าเขาตัดสินใจใช้ Grabone เพราะ Grabone เป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามาวันหนึ่งเยอะมาก เนื่องจากพวกเขาเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ไม่มีทุนจะไปโฆษณาทีวี นาทีหนึ่งแพงๆ ให้คนรู้จักร้านของเขา เขาจึงถือว่าการขายคูปองใน Grabone นั้นเหมือนเป็นการลงโฆษณาของเขา และข้อดีคือเป็นการโฆษณาที่เขาไม่ต้อง จ่ายเงิน เงินที่ได้หลังจากการหักส่วนแบ่งจาก Grabone นั้นถือเป็นต้นทุน และก็มีการลงแรงตัวเองเพิ่มนิดหน่อย ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะไม่ได้ลงทุนเป็นตัวเงิน แต่ข้อดีคือผู้มุ่งหวังของเขาจะได้มีโอกาสมาทดลองสินค้าของเขาด้วยตัวเองถึงที่ และการโฆษณาแบบปากต่อปาก หากว่าผู้มุ่งหวังของเขาพอใจในคุณภาพสินค้าของเขาเป็นการโฆษณา ที่ดีที่สุด
ข้อดีอีกอย่างของคูปอง Grabone คือเจ้าของธุรกิจ สามารถกำหนดข้อแม้ในคูปองตัวเองได้ตามชอบใจ ว่าต้องการให้คนที่ซื้อคูปองใช้คูปองเมื่อไหร่ เช่นโรงแรมในเมืองธุรกิจที่วันจันทร์ถึงพฤหัสบดีมีคนพักเป็นนักธุรกิจมา ติดต่องานเต็ม แต่วันศุกร์ถึงอาทิตย์ ห้องว่าง ไม่มีใครมา ติดต่อธุรกิจ ก็สามารถกำหนดข้อแม้ลงไปในคูปองได้ว่า ผู้ซื้อสามารถนำคูปองมาใช้ระหว่างวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เท่านั้น หรือโรงหนังที่ขายตั๋วหนังแค่ใบละ 4 เหรียญ ก็สามารถกำหนดข้อแม้ได้ว่าคนดูสามารถเอาคูปองมาแลกตั๋วหนังในรอบเช้าและรอบบ่าย ห้ามใช้คูปองในรอบ 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นรอบที่คนดูเต็มโรง หรือร้านอาหารที่โต๊ะเต็มในคืนวันพฤหัสบดีถึงอาทิตย์ ก็อาจจะกำหนดว่าต้องใช้คูปองในวันจันทร์ถึงวันพุธเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นข้อดี เพราะลูกค้ากลุ่มที่จะใช้คูปอง ก็จะไม่มาใช้บริการในช่วงเวลาที่ธุรกิจเต็มอยู่แล้ว แต่จะมาในเวลาที่ธุรกิจว่าง สามารถรับพวกเขาได้อย่าง ไม่มีปัญหา ฉะนั้นเมื่อลองเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียดูแล้ว เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผลประโยชน์จากการเอาร้านไปลงขายคูปอง ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในชุมชนของเขาอย่างรวดเร็ว การได้ลูกค้าใหม่ทุกครั้งในการลงขายคูปอง มากกว่าผลเสียในการได้กำไรน้อยกว่าที่เขาควรจะได้
ผลดีของ Grabone ที่มีต่อแบรดลีย์ เจ้าของเว็บไซต์นั้นได้เกินคาดกว่านั้นอีก เพราะแบรดลีย์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเป็นคนนิวซีแลนด์คนหนึ่งที่รู้สึกใจหายที่เห็นธุรกิจของเพื่อนร่วมชาติถูกขายให้ต่างชาติ ไปทีละอย่างสองอย่าง และตัวเขาเองก็หวังว่าเขาจะมี ธุรกิจที่สามารถขยายไปต่างชาติได้ ซึ่งความฝันของเขาเป็นจริงในเวลาไม่ถึง 2 ปี เพราะแค่ในปีแรก เว็บไซต์ Grabone ก็มีคนนิวซีแลนด์รู้จักทั่วประเทศ และทุกๆ วัน ก็มีคนเข้าไปเป็นแสนๆ คนว่าวันนี้ร้าน อะไรจะมาขายคูปอง และในต้นปีที่ 2 Grabone ก็ขยายไปเปิดเว็บไซต์ในออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งทำรายได้ให้เขามากขึ้นไปอีก ไม่แน่ อีกไม่กี่ปีถ้าเขาหาเงินเข้าประเทศนิวซีแลนด์มากๆ เขาอาจจะกลายเป็นนักธุรกิจอีกคนที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชินีอังกฤษก็เป็นได้
อ่านเรื่องความสำเร็จของ Grabone แล้วผมเลยคิดว่าอาจเป็นไปได้เหมือนกันที่ธุรกิจเล็กๆ ในเมืองไทยจะมีโอกาสที่จะมีคนรู้จักมากขึ้น ประเทศไทย นั้นมีคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 20 กว่าล้านคน ถ้ามีเว็บไซต์ที่มีคนเข้าเยอะๆ แบบ Grabone ที่ทำหน้าที่ เป็นตัวกลาง ทำให้ผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจได้มารู้จักกัน ด้วยการให้โอกาสผู้บริโภคลองสินค้าของผู้ขาย ในราคาถูกด้วยตัวเอง ก็น่าจะเป็นอีกทางที่เจ้าของธุรกิจ จะได้ลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
1 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “Trade Me ความสำเร็จอีกบทหนึ่งของ Internet Auction” โดย อนิรุต พิเศฏฐศลาศัย ที่ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=47916