น้ำมันงากำจัดกลิ่นปาก
ผลการทดลองสองชิ้นของวิทยาลัยทันตกรรม Meenakshi Ammal Dental College ของอินเดียพบว่า การอมน้ำมันงานานราว 10–20 นาที แล้วกลั้วปากและบ้วนทิ้ง (oil pulling) ช่วยลดระดับของโรคและกลิ่นปากที่เกิดจากแบคทีเรียในปากได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่า chlorhexidine ที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยาบ้วนปาก แต่อย่าหลงเชื่อเนื้อหาที่โพสต์อย่างแพร่หลายในอินเทอร์เน็ตว่า การอมน้ำมันกลั้วปากแล้วบ้วนทิ้งนี้ช่วยทำให้ฟันขาวเป็นอันขาด เพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ Jenice Pliszezak แห่งสถาบันทันตกรรมทั่วไปของออสเตรเลียกล่าวเสริมว่า ถ้าคุณแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดช่องปากอยู่แล้ว ให้กลั้วปากด้วยน้ำยาบ้วนปากผสมยาฆ่าเชื้อโรคเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะช่วยลดปริมาณหินปูนที่เกาะตามตัวฟันได้อีกร้อยละ 26.3 และช่วยลดอาการเหงือกบวมอักเสบได้ร้อยละ 20.4 และต้องทำเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้งจึงได้ผลดังกล่าว
ระบายสีลดความเครียด
ฝรั่งเศสกำลังตื่นตัวและคลั่งไคล้วิธีลดความเครียดด้วยการระบายสีรูปภาพกันขนานใหญ่ บรรดาสำนักพิมพ์แข่งกันเปิดตัวและวางแผงสมุดระบายสีภาพสำหรับผู้ใหญ่กันยกใหญ่ ซึ่งได้ผลดีมาก โดยเฉพาะกับลูกค้าผู้หญิงที่ใช้การระบายสีภาพนี้ช่วยลดความเครียดและแก้อาการซึมเศร้า
Cat Bennett ผู้เขียนหนังสือ The Confident Creative: Drawing to Free the Hand and Mind อธิบายว่า
“การระบายสีและการวาดภาพ ถือเป็นการสะกดจิตที่ช่วยดึงเราออกจากความสนใจในชีวิตประจำวัน ช่วยหยุดความคิดที่ซ้ำซากวนเวียน และทำให้สมองผ่อนคลาย ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลในการช่วยลดความเครียด”
บริโภคผักสู้โรคหอบหืด
การค้นพบใหม่ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นระบุว่า การบริโภคผักตระกูลกะหล่ำ (cruciferous) เช่น บร็อคโคลี คะน้า กะหล่ำปลี บรัสเซลส์ สเปราท์ และดอกกะหล่ำ ที่นำไปนึ่งสุกวันละหนึ่งหรือสองถ้วยเล็กๆ ช่วยเปลี่ยนช่องทางเดินหายใจได้ ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดหายใจได้สะดวกขึ้น และอาจถึงขั้นทำให้เนื้อปอดที่ถูกทำลายเพราะอาการหอบหืดมีสภาพดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม Nadia Mazarakis นักวิจัยผู้ค้นพบคุณประโยชน์ดังกล่าวเตือนว่า อย่าทิ้งยาพ่นจมูกเป็นอันขาด เธอย้ำว่า ให้บริโภคผักควบคู่กับยารักษาที่ใช้อยู่เดิม เพื่อให้ออกฤทธิ์เสริมกับยาจึงเป็นการดีที่สุด ไม่ใช่บริโภคผักแทนยา
นั่งหลังตรงช่วยให้คิดบวกมากขึ้น
ผลการวิจัยโดยศาสตราจารย์ Erik Peper ประจำมหาวิทยาลัย San Francisco State University ยืนยันว่า การนั่งหลังค่อมและก้มหน้า ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นความคิดเชิงบวกได้ แต่ถ้านั่งตัวตรงหลังตรงแล้ว กลับคิดเชิงบวกได้ดีกว่า ซึ่งเขายังให้คำตอบแน่ชัดไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นนี้ “การวิจัยไม่เพียงแสดงให้เห็นว่า จิตใจและอารมณ์มีอิทธิพลต่อร่างกาย แต่ร่างกายก็มีอิทธิพลต่อจิตใจและอารมณ์เช่นกัน”
แสงแดดช่วยลดความดันโลหิต
ศาสตราจารย์ Martin Feelisch แห่งมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน พบว่า รังสีอัลตราไวโอเลตที่ส่องมากระทบผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารเคมี “ไนตริก ออกไซด์” ที่มีหน้าที่กระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ “การค้นพบนี้ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมประชากรที่อาศัยในบริเวณที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรออกไปมาก จึงมีแนวโน้มมีความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย”
ข่าวดีคือ คุณไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับโรคมะเร็งผิวหนังด้วยการออกไปยืนอาบแดดเพื่อให้ความดันโลหิตลดลง เพียงให้ร่างกายได้รับแสงแดดวันละ 10–15 นาที ก็เพียงพอต่อการได้รับผลดีดังกล่าวแล้ว
สรรพคุณใหม่ของข้าวโอ๊ต
ข้อแรก–ช่วยให้คุณอิ่มนานขึ้น เมื่อบริโภคข้าวโอ๊ตเป็นอาหารเช้าหนึ่งถ้วย คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้น ไม่หิวเร็วเท่าการบริโภคซีเรียลสำเร็จรูปในปริมาณเท่ากัน
ข้อสอง–ช่วยปกป้องสุขภาพหัวใจ การที่ข้าวโอ๊ตมีกากใยสูง ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ แต่สาร avenanthramide (AVE) ที่พบได้ในข้าวโอ๊ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังช่วยปกป้องหัวใจจากโรคหลอดเลือดและหัวใจด้วย เพราะสาร AVE มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบนั่นเอง
สุขภาพนัยน์ตากับจอคอมพิวเตอร์
ถ้าคุณต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละมากกว่า 7 ชั่วโมง ระดับของโปรตีน MUC5AC ในร่างกายที่ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นแก่นัยน์ตาอาจลดต่ำลง ซึ่งเป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจึงทำให้คุณมีอาการตาแห้งและระคายเคือง
จึงแนะนำให้กะพริบตาบ่อยๆ เพราะทำให้เปลือกตาบนหลั่ง MUC5AC ออกมาในจังหวะที่ปิดเปลือกตา แต่ขณะที่สายตาจับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ เรามักลืมกะพริบตา และต้องเบิกตากว้างขึ้นเมื่อต้องละสายตาจากหน้าจอไปทำงานชนิดอื่น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการหลั่ง MUC5AC ทั้งสิ้น
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว