ส่วนหนึ่งในหนังสือรวบรวมบทกวี Haiku ชื่อ Oku no Hosomichi ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ Matsuo Basho (ชื่อจริง Matsuo Munefusa) กวีเอกในสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) ได้พรรณนาความงดงามของทัศนียภาพหมู่เกาะ Matsushima ที่แต่งขึ้นในปี 1689 เมื่อครั้งเดินเท้าท่องเที่ยวไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไว้ดังนี้
matsushima ya
a-a matsushima ya
matsushima ya
โครงสร้างของกวี Haiku หนึ่งบทประกอบด้วย 17 พยางค์แบ่งออกเป็นสามวรรคในลักษณะ 5-7-5 เป็นกฎเกณฑ์ที่ท้าทายทักษะ การประพันธ์ด้วยคำที่สั้น, กระชับ และเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยปรัชญาซึ่งสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของกวีต่อสิ่งที่ได้สัมผัสรับรู้ในขณะนั้น ปัจจุบัน กวี Haiku ไม่ได้จำกัดเฉพาะภายในญี่ปุ่นเท่านั้นทว่าเป็นที่นิยมในต่างประเทศซึ่งได้ดัดแปลงการแต่งกวี Haiku เป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย
ความสละสลวยของกวี Haiku บทดังกล่าวข้างต้นนี้อยู่ที่การเลือกเพียงคำลงท้ายคำนาม “ya” กับคำอุทาน “a-a” มาร้อยเรียงกับ “matsushima” ของทุกวรรคซึ่งสะท้อนความประทับใจต่อทิวทัศน์ที่ประจักษ์อยู่เบื้องหน้าอันยากจะสรรหาคำวิเศษณ์ใดๆ มาอรรถาธิบายได้
ท้องทะเลภายในอ่าว Matsushima เป็นเสมือนแผ่นผ้าใบสีครามผืนใหญ่ที่ธรรมชาติบรรจงแต่งแต้มสีเขียวเข้มของต้นสนญี่ปุ่นบนเกาะแก่งสีขาว-เทารูปทรงแปลกตาราวกับงานศิลปะชิ้นเอกที่ติดตรึงใจผู้มาเยือนและเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์เพลงพื้นบ้าน,โคลงกลอน, ภาพเขียนโบราณซึ่งปรากฏหลักฐานมาแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1192)
บริบทความงามของสถานที่แห่งนี้ได้รับการสำทับอีกครั้งในบันทึกการสัญจรทั่วญี่ปุ่น (Nihon Kokujisekikou) ของ Shunsai Hayashi นักปราชญ์ ผู้ศึกษาลัทธิขงจื๊อในต้นสมัยเอโดะซึ่งระบุถึงสถานที่ 3 แห่งที่สวยงามที่สุดในญี่ปุ่นอันได้แก่ Matsushima, Amanohashidate และ Miyajima (ซึ่งอีก 2 แห่งหลังนั้นจะนำเสนอรายละเอียดในฉบับต่อๆ ไป)
ในเวลาต่อมา Matsushima เป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้และยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่ต่างต้องการพิสูจน์และสัมผัสความงดงามของธรรมชาติตามคำร่ำลือ
อัศจรรย์ธรรมชาติของหมู่เกาะ Matsushima ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด Miyagi สันนิษฐาน ตามหลักฐานทางธรณีวิทยาว่าเดิมทีเมื่อหลายล้านปีก่อนบริเวณนี้เคยเป็นหน้าผาชายฝั่งทะเลที่เว้าแหว่งในลักษณะคล้ายกับชายฝั่งฟยอร์ด (Fjord) ของประเทศนอร์เวย์ซึ่งค่อยๆ ยุบตัวลงสู่ท้องสมุทรเบื้องล่างทีละน้อย เนื่องด้วยแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งแล้วครั้งเล่า
แปรสภาพจากยอดเขาไปเป็นเกาะเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งยืนหยัดรับแรงกัดเซาะของคลื่นและลมเป็นเวลาเนิ่นนานจนกลายเป็นผลงานประติมากรรมลอยตัวหลากรูปทรงสีนวลตา 260 เกาะที่ปกคลุมไปด้วยต้นสนญี่ปุ่น (Matsu) อันเป็นที่มาของชื่อเรียกอาณาบริเวณแถบนี้โดยการสมาสเข้ากับคำว่า Shima ที่แปลว่าเกาะ
ด้วยลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้การล่องเรือออกไปชมวิวหมู่เกาะรอบนอกจากท่าเรือใกล้สถานี JR Matsushima Kaikan ซึ่งใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงสร้างความตื่นตาตื่นใจท่ามกลางธรรมชาติได้ไม่แพ้วิวพาโนรามา Shitaikan จากเนินเขาที่โอบล้อมอ่าว Matsushima อยู่รอบด้านอันได้แก่ Tomiyama ทางเหนือ, Ootakamori ทางตะวันออก, Ougidani ทางตะวันตก และ Tamonzan ทางใต้ซึ่งเป็นจุดชมหมู่เกาะ Matsushima แบบสามมิติจาก 4 ทิศที่แปรเปลี่ยนความงดงามตามฤดูกาลทั้ง 4 ของญี่ปุ่นอีกด้วย
นอกจากทัศนียภาพที่มีความหลากหลายในแต่ละฤดูและแต่ละจุดชมวิวแล้วยังขึ้นชื่อเรื่องความงามในยามราตรีโดยเฉพาะคืนข้างขึ้นที่พระจันทร์ทอแสงสะท้อนกับผิวทะเลเผยให้เห็นประกายคลื่นแวววาวสีเงินซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งเคียงคู่ไปกับMatsushima
กระนั้นก็ตามหากเปรียบเทียบกับบันทึกเก่าแก่หรือภาพถ่ายในอดีตแล้วพบว่ารูปทรงของเกาะน้อยใหญ่เหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาซึ่งสืบเนื่องมาจากกระแสลมและคลื่น อีกทั้ง Tsunami ที่เคยถาโถมเข้าสู่อ่าว Matsushima แห่งนี้แล้วหลายครารวมถึงครั้งล่าสุดภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในช่วงบ่ายของวันที่ 11 มีนาคม 2011 แล้วราว 1 ชั่วโมง
นับเป็นความโชคดีที่พิกัดทำเลของเกาะขนาดใหญ่รอบ นอกชายฝั่งหลายเกาะเป็นเสมือนปราการปกป้องตามธรรมชาติ ช่วยเบี่ยงเบนทิศทางอีกทั้งช่วยลดความรุนแรงของ Tsunami ขนาดยักษ์ก่อนเคลื่อนตัวมาถึงด้านในของอ่าว Matsushima
ด้วยเหตุนี้ Matsushima จึงเกิดความเสียหายเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกดังที่ปรากฏในภาพข่าว
ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและ Tsunami นั้นโบราณวัตถุสำคัญทางประวัติ ศาสตร์บางชิ้นของ Matsushima ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติสำคัญทางวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (Important Culture Properties of Japan) ได้รับการเคลื่อนย้ายออกจาก Godaidou ไปเก็บรักษาในสถานที่ที่ปลอดภัยแล้ว
Godaidou เป็นหอธรรมที่สร้างขึ้นตามแบบแผนของสถาปัตยกรรมสมัย Momoyama (ค.ศ.1573-1603) ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาคารไม้หลังกะทัดรัดบนเกาะเล็กๆ ที่เชื่อมกับฝั่งด้วยสะพานไม้สีแดง (Sukashi Bridge) ทอดข้ามเกาะ 2 ต่อ
Matsushima มีความร่ำรวยทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณซึ่งอิงจากหลักฐานที่ขุดพบในบริเวณนี้หลายชิ้น เช่น โครงกระดูก, เครื่องประดับ, เศษถ้วยชาม, อุปกรณ์ผลิตเกลือที่ล้วนแต่มีอายุอยู่ในสมัยโจวมน (ราว 14,000-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
บันทึกในสมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1192) ระบุว่า Matsushima เป็นส่วนหนึ่งของ Mutsu Province (ปัจจุบันคือพื้นที่ในจังหวัด Fukushima, Miyagi, Iwate และ Aomori รวมกัน) ซึ่งมีการสืบทอดอำนาจต่อมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอโดะภายใต้การปกครองของโชกุนTokugawa Ieyasu โดยมี Date Masamune เป็นไดเมียวปกครองดินแดนแถบนี้และเป็นผู้ที่วางรากฐานความเจริญของ Sendai ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
แม้จะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับการออกทัพจับศึกของ Date Masamune ตั้งแต่อายุยังน้อยในขณะเดียวกันก็มีเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์ พุทธศาสนาควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะการอุปถัมภ์วัด Zuikanji ในฐานะวัดประจำตระกูลซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และมรดกทางประวัติศาสตร์สำคัญของ Matsushima
ปัจจุบัน Matsushima กลับเข้าสู่สภาวะปกติพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความงามของธรรมชาติและแหล่งประวัติศาสตร์คงคุณค่าควรแก่การเดินทางไปเยือนสักครั้ง