วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > Children, Not Soldiers

Children, Not Soldiers

 
เป็นเวลานานมากกว่า 20 ปีแล้ว ที่นานาประเทศได้ให้ความร่วมมือกันในการประณามและต่อต้านการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในสงครามหรือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มหรือเผ่าต่างๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน จากการร่วมมือกันในครั้งนี้ ทำให้มีเด็กๆ เป็นพันๆ คนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากการถูกบังคับให้เป็นทหารตั้งแต่ยังเด็ก แต่ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในทุกมุมโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลุ่มคนบางกลุ่มได้พยายามลักพาตัวเด็ก หรือฝึกเด็กๆ ที่เป็นลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาให้จับอาวุธและกลายเป็นทหารคนหนึ่งของกลุ่มเพื่อต่อสู้กับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันเมื่อกลุ่มของตนเองมีจำนวนทหารไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม
 
ในปี 2557 นี้โลกของเรามีเหตุการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้มากมายไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมืองซีเรีย สงครามกลางเมืองลิเบีย สงครามกลางเมืองในประเทศอียิปต์ สงครามรอบใหม่ในประเทศอิรัก และการที่ประเทศอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เกิดการต่อสู้ที่รุนแรงมาก และในบางครั้งการต่อสู้ก็กินระยะเวลานาน ทำให้ขาดแคลนจำนวนทหารและมีการฝึกเด็กๆ เป็นจำนวนมากให้เรียนรู้การใช้อาวุธ เพื่อที่จะให้เด็กๆ เหล่านี้กลายเป็นทหารและเข้าร่วมการต่อสู้ในครั้งนี้ โดยเฉพาะที่ประเทศซีเรียที่มีการขัดแย้งกันมานานและมีการพบเห็นจากหลายๆ ฝ่ายว่ามีเด็กๆ เป็นจำนวนมากในประเทศซีเรียที่ถูกนำมาฝึกให้เรียนรู้วิธีการใช้อาวุธในการฆ่าผู้อื่นเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้ว
 
นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานได้ออกมาพูดให้ฟังว่า เธอมีโอกาสได้พบกับพ่อแม่ของเด็กหลายๆ คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทหารเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องปกป้องกลุ่มของพวกเขาด้วยการลุกขึ้นมาจับอาวุธเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้มีความสุขเลยที่เห็นลูกของตัวเองต้องไปเป็นทหารตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ขอให้นักสิทธิมนุษยชนช่วยให้ลูกๆ ของพวกเขาได้กลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ลูกเรียนรู้การใช้อาวุธแล้วนำมาฆ่าคน
 
เมื่อมีเด็กเป็นจำนวนมากที่ต้องมาจับอาวุธและกลายเป็นทหาร ทั้งๆ ที่ในวัยนี้พวกเด็กๆ เหล่านี้ควรที่จะสนใจแต่เรื่องเรียน และคิดถึงอนาคตในวันข้างหน้า วัยของพวกเขาควรจะอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องจับดินสอและปากกาแต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับต้องมาจับอาวุธและฆ่าคนอื่นๆ ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู เรื่องนี้ทำให้หลายๆ ประเทศเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะเด็กๆ ที่ติดอยู่ในความรุนแรงของการต่อสู้เหล่านี้ อาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย เด็กๆ เหล่านี้จะมีอาการของความวิตกกังวล ไม่มีความเป็นมิตรกับผู้อื่น ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และอาจจะต้องทนอยู่กับความรู้สึกผิดไปตลอดที่พวกเขาต้องฆ่าคนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
 
ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ Leila Zerrougui ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่อง Children in Armed Conflict และ UNICEF ได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการ Children, Not Soldiers ขึ้นมา เพื่อให้การสนับสนุนโครงการและนโยบายต่างๆ ที่จะหยุดและป้องกันการรับสมัครหรือการบังคับเด็กให้เข้ารับการฝึกเพื่อเป็นทหาร โดยมีจุดมุ่งหมายว่า โครงการนี้จะสามารถยุติการรับเด็กๆ เข้าเป็นทหารได้ในปี 2559 ใน 8 ประเทศดังต่อไปนี้ ประเทศอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) ประเทศชาด (Republic of Chad) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ประเทศพม่า (Myanmar) ประเทศซูดาน (Republic of the Sudan) ประเทศซูดานใต้ (Republic of  South Sudan) ประเทศโซมาเลีย (Federal Republic of Somalia) และประเทศเยเมน (Republic of Yemen)
 
องค์การสหประชาชาติได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ทหารที่เป็นเด็ก” ไว้ว่า บุคคลใดก็ตามที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี แล้วได้รับการคัดเลือกหรือถูกใช้โดยกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มติดอาวุธในฐานะใดๆ ก็ตาม ทหารที่เป็นเด็กในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เด็กที่มีการใช้หรือมีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ แต่ยังรวมไปถึงเด็ก วัยรุ่นชายและหญิงที่ถูกใช้ให้เป็นคนทำอาหาร พนักงานที่ทำงานต่างๆ ในกองกำลังติดอาวุธ เป็นสายลับ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศอีกด้วย
 
เด็กส่วนใหญ่ที่จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในการนำมาฝึกให้เป็นทหารหรือถูกนำมาใช้งานต่างๆ ในกลุ่มคือ เด็กๆ ที่มักจะพลัดหลงกับพ่อแม่ในระหว่างที่มีการต่อสู้กัน เพราะเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีผู้ใหญ่คอยปกป้องคุ้มครอง และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธสามารถใช้ความรุนแรงในการบังคับให้เด็กๆ เหล่านี้ทำตามคำสั่งได้ง่าย 
 
องค์การสหประชาชาติได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มกองกำลังติดอาวุธยังคงมีวิธีการในการเลือกเด็กๆ ที่จะนำไปฝึกให้เป็นทหารอีกหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัวเด็กไปจากครอบครัว การบังคับให้เด็กเข้ามาเป็นทหารเพื่อปกป้องครอบครัวของพวกเขา หรือแม้กระทั่งการไปนำตัวเด็กๆ มาจากท้องถนน โรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เมื่อกองกำลังติดอาวุธ ทหาร หรือตำรวจได้เดินผ่านไปแถวนั้นแล้วพบเจอเด็กๆ เข้า
 
องค์การ UNICEF ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกๆ ของพวกเขาไปเป็นทหารตั้งแต่ยังเด็กก็คือ ความอดอยากและความยากจน เพราะพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะหาซื้ออาหารมาให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน ดังนั้นการที่พวกเขาตัดสินใจสนับสนุนให้ลูกๆ ของพวกเขาไปเป็นทหารก็เพราะทางกลุ่มกองกำลังติดอาวุธจะมีเบี้ยเลี้ยงให้กับผู้ที่เป็นทหาร และในบางครั้งพวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้กับเด็กๆ ที่เป็นทหารโดยตรง แต่พวกเขาจะไปจ่ายเงินให้กับผู้ที่เป็นผู้ปกครอง ดังนั้นจึงมีหลายครอบครัวเช่นกันที่สนับสนุนให้ลูกๆ ของพวกเขาที่ยังคงอยู่ในวัยเด็กไปเป็นทหารเพื่อที่จะได้รับเงินจากการเป็นทหารมาจุนเจือครอบครัว
 
ไม่ใช่เพียงแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ครอบครัวสนับสนุนให้เป็นทหารเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่เด็กผู้หญิงเองก็ถูกสนับสนุนให้เป็นทหารเฉกเช่นเดียวกันกับเด็กผู้ชาย โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจน พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และก็มีเด็กผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกบังคับให้เข้าไปทำงานในกองกำลังติดอาวุธ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ให้เด็กผู้หญิงไปเรียนรู้วิธีการใช้อาวุธเพื่อฝึกเป็นทหาร แต่พวกเขาก็ใช้ให้เด็กผู้หญิงทำหน้าที่อื่นๆในกลุ่มแทน อย่างเช่นการตั้งเต็นท์ที่พัก และทำอาหารสำหรับคนในกลุ่ม แต่เด็กผู้หญิงเหล่านี้ก็ต้องมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงและอันตรายในทุกๆ วันด้วย เพราะพวกเธออาจจะโดนข่มขืนไม่วันใดก็วันหนึ่งจากทหารผู้ชายหรือจากหัวหน้ากลุ่ม
 
เรื่องทหารที่เป็นเด็กนี้ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ เช่นกัน เพราะปัญหาเรื่องการให้เด็กเป็นทหารนั้นก็เกิดขึ้นในบ้านเราเช่นเดียวกัน
 
ปัญหาเรื่องทหารเด็กนั้นเกิดขึ้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศไทยของเรามีปัญหาเรื่องผู้ก่อการร้ายในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และยังคงมีการต่อสู้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเป็นเรื่องที่แน่นอนว่ามีเด็กเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อของระเบิด หรือการซุ่มโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย
 
การต่อสู้ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่และก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยได้ส่งทหารลงไปประจำที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อดูแลความเรียบร้อย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้จะเห็นเรื่องการต่อสู้ การใช้อาวุธปืนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เด็กๆ เหล่านี้รู้สึกเคยชินกับปัญหาความรุนแรงและการใช้อาวุธปืนเป็นเรื่องปกติ จนในที่สุดเมื่อพวกเขาโตขึ้นพวกเขาอาจจะเคยชินกับการใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา
 
นอกจากนี้เมื่อปี 2553 องค์กร Child Soldiers International (CSI) องค์กรเอ็นจีโอ (NGO) และองค์กร Justice for Peace Foundation (JPF) ได้ร่วมมือกันทำการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องทหารเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า มีการรับสมัครเด็กไปเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแบบผิดกฎหมาย
 
ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือที่เรียกสั้นๆว่า ชรบ. ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ. 2551 เหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองที่อยู่อาศัยของพวกเขา
 
ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจึงหมายถึงประชาชนที่เป็นอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และต้องได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน นอกจากนี้ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านยังคงต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1) เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย 2) ต้องเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 3) มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 4) ต้องอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ มาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และ 5) ต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรม
 
จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่าจากทั้งหมด 19 หมู่บ้าน มีถึง 13 หมู่บ้านด้วยกันที่ถูกพบว่า มีเด็กๆ เข้าเป็นสมาชิกทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการเป็นสมาชิกแบบไม่เป็นทางการนั้น เด็กๆ จะได้รับอนุญาตให้ถือปืนและทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนกับคนที่เป็นสมาชิก เพียงแต่ระยะเวลาที่พวกเขาต้องทำงานจะน้อยกว่าคนที่เป็นสมาชิกแบบทางการ ซึ่งเด็กๆ ที่เข้ามาเป็นสมาชิกแบบไม่เป็นทางการจะมีอายุระหว่าง 9-17 ปี 
 
เรื่องการรับเด็กเข้ามาอยู่ในชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นในเดือนเมษายน ปี 2554 รัฐบาลไทยจึงได้ออกกฎหมายว่า คนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านนั้นจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ซึ่งหลังจากที่กฎหมายนี้มีการประกาศใช้ก็ทำให้ปัญหาเรื่องเด็กที่เข้ามาเป็นสมาชิกของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแบบทางการและไม่เป็นทางการลดลงอย่างทันที
 
เรื่องของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องทหารเด็กนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ถ้าหากรัฐบาลให้การสนับสนุนว่าไม่ต้องการให้เด็กเหล่านี้มาถูกฝึกใช้อาวุธเพื่อเป็นทหาร ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ลงได้ 
 
เช่นเดียวกันกับอีก 8 ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในโครงการ Children, Not Soldiers ถ้า 8 ประเทศเหล่านี้ให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ในอนาคตก็คงไม่มีเด็กๆ ที่ต้องมาเรียนรู้การใช้อาวุธ และฆ่าผู้อื่นตั้งแต่วัยเยาว์
 
โครงการขององค์การสหประชาชาติที่เชิญชวนทุกคนให้ร่วมกันถ่ายรูปแล้วถือป้าย Children Not Soldiers เพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อต้านไม่ให้เด็กเป็นทหาร
 
 
 
 
ป้าย Children Not Soldiers ที่ผู้คนต่างพากันปรินต์ออกมาเพื่อถือและถ่ายรูป เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการนี้
 
 
 
 
มีเด็กๆ เป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาจับปืนแทนที่จะได้จับดินสอและปากกา
 
 
 
 
ประเทศเยเมนเซ็นให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการหยุดและป้องกันไม่ให้มีการรับสมัครเด็กไปเป็นทหาร