วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > String of Pearls ไข่มุกบนจานหยกมังกร

String of Pearls ไข่มุกบนจานหยกมังกร

 
ข่าวการเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ของ Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ในแบบพิธีทางการทูตทั่วไปแล้ว การเดินทางเยือนดังกล่าว ยังเป็นกรณีที่บ่งชี้ถึงทิศทางและเข็มมุ่งแห่งวิสัยทัศน์ที่จีนกำหนดเป็นแนวนโยบายสำหรับอนาคตใหม่นี้ด้วย
 
แม้ว่านักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีจำนวนไม่น้อยจะให้ความสนใจและเฝ้ามองการพบกันของ Xi Jinping ผู้นำจีนและ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในฐานะที่ต่างเป็นมหาอำนาจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย แต่นัยความหมายของการเยือนมัลดีฟส์และศรีลังกา ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความมุ่งหมายของจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมืองในระดับนานาชาติ ผ่านกรอบโครงความคิดว่าด้วย 21st Century Maritime Silk Route ดูจะเอื้อประโยชน์และจุดประกายความคิดที่สอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในศรีลังกาอย่างเด่นชัด
 
เพราะหลังจากที่ Mahinda Rajapaksa สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศด้วยการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ทศวรรษได้สำเร็จในปี 2009 และกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010 ได้ประกาศแนวทางในการพัฒนาศรีลังกาให้ฟื้นคืนจากบาดแผลของประวัติศาสตร์สู่อนาคตใหม่ ภายใต้แนวนโยบายที่ได้รับการเรียกขานว่า Mahinda Chintana ด้วย
 
“จินตภาพแห่งมหินทะ” ดังกล่าวนี้ ประกอบส่วนไปด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาและสร้างให้ศรีลังกาเป็น Regional 5 Hub หรือศูนย์กลางของกิจกรรม 5 ประการของภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร ศูนย์กลางของการเดินอากาศ ศูนย์กลางของความรู้ ศูนย์กลางด้านพลังงาน และศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม (Maritime, Aviation, Knowledge, Energy and Commerce) กลายเป็นต้นทางของกรอบโครงแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศศรีลังกาอยู่ในปัจจุบัน
 
การพัฒนาในอภิมหาโครงการที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นอีกหลากหลายโครงการในอนาคต เป็นประจักษ์พยานและรูปธรรมที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของศรีลังกาในการพัฒนาประเทศไปสู่จินตภาพของมหินทะดังกล่าว
 
โครงการลงทุนที่ประกอบส่วนไปด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่นน้ำมัน ที่เมือง Hambantota เมืองเล็กๆ ซึ่งอาจไม่เคยได้รับการกล่าวถึงตลอดช่วงสมัยแห่งความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์การเดินเรือในเส้นทางสายไหมในอดีต แต่ด้วยความที่เป็นเมืองบ้านเกิดของ Mahinda Rajapaksa ประธานาธิบดีศรีลังกาคนปัจจุบัน ทำให้ Hambantota กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามแนวทางการพัฒนา String of Pearls และถือเป็นหนึ่งในไข่มุกเม็ดงามที่จีนกำลังฟูมฟักให้เปล่งประกายและทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ
 
ความเป็นไปของ Hambantota ดำเนินไปพร้อมกับการรุกเข้าไปสร้างโครงข่ายท่าเรือน้ำลึกที่ Gwadar ในปากีสถาน และ Chittagong ในบังกลาเทศ ซึ่งต่างได้รับประโยชน์จากการลงทุนของจีน และได้รับการประเมินว่ามูลค่าการค้าที่ผ่านเข้าออกท่าเรือทั้งสามแห่งภายใต้ร่มเงาแห่งอิทธิพลจากจีนนี้ มีมูลค่ารวมมากถึงร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้ารวมของโลกเลยทีเดียว
 
ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนา Colombo Port City มูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นโครงการลงทุนจากต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ซึ่งถือเอาโอกาสการเดินทางเยือนศรีลังกาของ Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นปฐมฤกษ์ในการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการ กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นปลุกพลังทางเศรษฐกิจของศรีลังกาให้กลับมาคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการเยือนศรีลังกาโดยผู้นำจีนที่กำลังจะเป็นการพลิกเปลี่ยนภูมิทัศน์ของศรีลังกาไปตลอดกาล
 
ยุทธศาสตร์ว่าด้วย String of Pearls ของจีนจึงดูประหนึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยผลักดันและสานฝันให้จินตภาพแห่งมหินทะ เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ อย่างน้อยก็ในมิติของการพัฒนาการเดินสมุทร ซึ่งศรีลังกามีต้นทุนเดิมจากรากฐานทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
 
ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับเอเชียใต้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดรับการแนวทางการพัฒนาประเทศของจีนที่พยายามนำพาความจำเริญมั่งคั่งจากพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออก ให้ไหลบ่าท่วมท้นเข้ามาสู่พื้นที่ห่างไกลในภาคตะวันตกของประเทศ ในด้านหนึ่งก็เพื่อถมเติมช่องห่างแห่งการพัฒนาภายในประเทศให้กระชับแน่นขึ้น
 
ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่ในฟากฝั่งตะวันตกของประเทศจีนดังกล่าวนี้ ก็เป็นไปเพื่อรองรับและสร้างหลักประกันในมิติของความมั่นคงในเรื่องพลังงานและการค้าไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงจากความจำเริญทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผูกพันอยู่กับการพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานจากต่างประเทศอย่างหนักหน่วง และกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราการเติบโตในอนาคตด้วย
 
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น อยู่ที่ความพยายามของจีนในการขยายบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ ด้วยการนำเสนอแนวความคิดว่าด้วย 21st Century Maritime Silk Route ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเอเชียใต้นี้อย่างยากจะปฏิเสธ
 
ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาจากความจำเริญทางเศรษฐกิจของจีนก็คือ จีนเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดยมีการประเมินว่าการบริโภคน้ำมันในจีนจะมีอัตราเพิ่มขึ้นในระดับ 5-6% ต่อเนื่องไปอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งน้ำมันที่นำเข้าสู่ประเทศจีนนี้ กว่าร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าจากประเทศแหล่งผลิตในตะวันออกกลางและแอฟริกา และน้ำมันที่นำเข้าเหล่านี้กลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในการหนุนนำฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของจีนไปโดยปริยาย นอกเหนือจากพลังงานถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศจีนเอง
 
ความพยายามที่จะแสวงหาหลักประกันด้านพลังงานสำหรับอนาคต ทำให้จีนลงนามในสัญญาพัฒนาแหล่งน้ำมันในอิหร่านหลายฉบับ และรุกเข้าสู่ซูดานในแอฟริกา เพื่อสร้างโรงกลั่น วางระบบท่อส่งลำเลียง รวมถึงท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกน้ำมันจากดินแดนกาฬทวีปนี้ไปสร้างความโชติช่วงในถิ่นมังกร
 
ก่อนหน้านี้ จีนพยายามแสวงหาแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานจากภูมิภาคเอเชียกลาง ภายใต้กรอบความร่วมมือ Shanghai Cooperation Organization (SCO) แต่กลับต้องพบอุปสรรคมากมายทั้งในมิติของโครงสร้างพื้นฐานที่ด้านการขนส่ง ลำเลียง ระบบสาธารณูปการ ที่ยังอยู่ในสภาพด้อยพัฒนา และที่สำคัญอยู่ที่ประเด็นว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมืองของเหล่าประเทศเอเชียกลางเหล่านี้
 
ความพยายามที่จะสร้าง sea lines of  communication เพื่อเชื่อมโยงและเปิดพื้นที่จากผืนแผ่นดินใหญ่จีนไปสู่เมืองท่าสำคัญในตะวันออกกลางและชายฝั่งของแอฟริกา ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในเชิงพลังงานและการขยายพื้นที่อิทธิพล (sphere of influence) ทางเศรษฐกิจ  ดำเนินควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมภาคพื้นดิน (inland silk route) เชื่อมโยงกับเมืองใหญ่สำคัญตามรอบเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองและเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ในอดีตอีกด้วย
 
อย่างไรก็ดี แม้แนวทางการพัฒนาของจีนในการสร้าง sea lines of  communication หรือที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น String of Pearls นี้จะได้รับการเน้นย้ำจากจีนว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจ แต่ท่วงทำนองในการดำเนินนโยบายของจีนได้สร้างความหวาดระแวงในทางการเมืองระหว่างประเทศให้กับประชาคมนานาชาติไม่น้อยเลย และถูกประเมินว่าเป็นภัยคุกคามไปโดยปริยาย
 
สร้อยไข่มุกในยุทธศาสตร์ของจีน ประกอบส่วนด้วยการจัดวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดนิยามว่าเป็นไข่มุก ควบคู่กับการสร้างโครงข่ายที่เชื่อมโยงไข่มุกเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการที่จีนเริ่มปักหมุดสร้างไข่มุกเม็ดที่หนึ่ง ด้วยการเร่งพัฒนาท่าเรือและฐานทัพเรือใน Hainan หรือไหหลำ เพื่อรุกเข้าสู่ทะเลจีนใต้ รวมถึงการรุกเข้าไปในหมู่เกาะ Paracel เพื่อพัฒนาสนามบินและท่าเทียบเรือ ท่ามกลางกรณีพิพาทในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะ Spratly ย่อมต้องสร้างความกังวลใจในระดับนานาชาติไม่น้อยเลย
 
ยังไม่นับรวมความพยายามที่จะนำเสนอโครงการพัฒนามูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในการขุดคอคอดกระ (kra Isthmus) เพื่อเป็นเส้นทางลัดจากฝั่งอันดามันมาสู่อ่าวไทย และทะเลจีนใต้ โดยไม่ต้องผ่านอ้อมลงไปที่ช่องแคบมะละกา ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทย และภูมิทัศน์ของอาเซียนโดยรวมด้วย
 
พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของจีน ดำเนินควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของจีนในต่างแดนอย่างเอิกเกริก โดยนโยบายทางเศรษฐกิจการเงินของจีนในระดับนานาชาติตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ที่สำคัญสองประการ คือ หนึ่งการเร่งสะสมการสำรองเงินตราต่างประเทศ และสอง การส่งเงินไปต่างแดน ทั้งในรูปของการลงทุนโดยตรง ความช่วยเหลือและการให้กู้ยืม ซึ่งในกรณีของศรีลังกา นี่คือรูปแบบที่เด่นชัดของยุทธศาสตร์ส่วนที่สองที่จีนใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
 
และลำพังตัวเลขดัชนีบ่งชี้ทางเศรษฐกิจการค้าของศรีลังกาในปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นประจักษ์พยานในความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบัน จีนคือผู้ลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง ไม่นับรวมข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีระหว่างจีน-ศรีลังกา ที่กำลังเกิดขึ้น
 
แม้โดยขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา อาจได้รับการประเมินและจัดวางตำแหน่งไว้เป็นเพียงชายขอบของระบบเศรษฐกิจโลก แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ของการพัฒนา String of Pearls ศรีลังกาย่อมมีนัยความหมายเป็นมากกว่าไข่มุกชายขอบที่ประกอบส่วนอยู่ในสายสร้อยเพื่อสร้างให้สร้อยไข่มุกเส้นนี้สมบูรณ์ หากแต่ศรีลังกากำลังจะเป็นไข่มุกเม็ดเอกที่ได้รับการจัดวางตำแหน่งไว้ตรงกึ่งกลางของสร้อยไข่มุกที่กำลังเปล่งประกายเส้นนี้
 
สถานะและบริบทใหม่ของการพัฒนาศรีลังกาในมิติที่ว่านี้ ย่อมเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง
 
Relate Story