วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > เจริญ “กินรวบ” พระราม 4 รุกอาณาจักรเขตซีบีดี

เจริญ “กินรวบ” พระราม 4 รุกอาณาจักรเขตซีบีดี

 
แผนการขยายอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เดินหน้าขั้นต่อไปอย่างสวยหรู เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศข้อสรุปให้สิทธิ์กลุ่มบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ป ได้แก่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) เข้าพัฒนาที่ดินบริเวณที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม เนื้อที่กว่า 90 ไร่ หัวมุมถนนพระรามสี่ตัดกับถนนวิทยุ 
 
ภายใต้ร่างข้อบัญญัติฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทบริเวณสวนเบญจกิติและบริเวณโดยรอบ ในท้องที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย และแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ที่ออกมาเมื่อปี 2547 โดยยกเลิกการควบคุมความสูงบริเวณโดยรอบสวนเบญจกิติ ทำให้ที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมได้รับประโยชน์ด้วย คือ สามารถสร้างอาคารได้ไม่จำกัดความสูง จากเดิมให้สร้างได้ไม่เกิน 45 เมตร หรือสูงประมาณ 15 ชั้น
 
อย่างไรก็ตาม  ต้องถือว่าการประมูลที่ดินผืนดังกล่าวหลังจากโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์หมดสัญญาเช่าพื้นที่ ต้องใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะเจรจายุติปัญหากับผู้เช่ารายเก่า ผู้ค้าในตลาดนัดสวนลุมไนท์บาซาร์ และเปิดประมูลพิจารณาจากผู้ยื่นเสนอโครงการ 21 ราย จนผ่านถึงรอบสุดท้าย 4 บริษัท คือ กลุ่มยูนิเวนเจอร์ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล 
 
สุดท้าย กลุ่มของนายเจริญสามารถคว้าที่ดินผืนใหญ่ใจกลางย่านธุรกิจ ซึ่งตามแผนเบื้องต้นภายหลังการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ ระยะเวลาการให้เช่า 30 ปีต่อ 30 ปี โดยสำนักงานทรัพย์สินฯ กำหนดผังพัฒนาโครงการเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่มีองค์ประกอบเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม โรงแรมที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานให้เช่า ศูนย์การค้า ศูนย์การศึกษา หรือศูนย์สุขภาพนั้น
 
ปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายคนเล็กของเจริญ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยแนวทางจะพัฒนา “คอมเพล็กซ์” ต้นแบบสำหรับคุณภาพชีวิตคนเมืองครบวงจร ทั้งศูนย์วัฒนธรรม โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า ในฐานะแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนพื้นที่ 62 ไร่ และมีพื้นที่เปิดโล่ง โครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สีเขียวอีกกว่า 30 ไร่ มูลค่าลงทุนหลายหมื่นล้านบาท 
 
แน่นอนว่า เจริญตั้งเป้ามากกว่านั้นเพื่อการคืนกำไรหลายเท่า โดยเฉพาะการวางหมุดเปิดลิงค์เกจธุรกิจอาคารสำนักงานทั้งหมดและยังสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจโรงแรมในเครือ รองรับกลุ่มเป้าหมายหลักชาวต่างชาติที่คาดว่าจะไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุนและนักท่องเที่ยว 
 
หมุดแรกที่เห็นชัดเจนต่อจากบิ๊กคอมเพล็กซ์ 90 ไร่ คือ โครงการ ‘เอฟวายไอ เซ็นเตอร์’ (FYI CENTER – For Your Inspiration Workplace) อาคารสำนักงานจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มูลค่าลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท  มุมถนนรัชดาภิเษก-พระราม 4 ซึ่งบริษัท แผ่นดินทอง จำกัด (มหาชน) หรือ “โกลเด้นแลนด์” เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นคอมเพล็กซ์ที่เน้นกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ กลุ่มคนเจนวาย (Generation Y)  
 
เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 100,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารสำนักงาน 12 ชั้น 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอยรวม 90,000 ตารางเมตร มีโรงแรมมาตรฐาน (Budget Hotel) จำนวน 239 ห้อง 14 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 10,000 ตารางเมตร จำนวน 1 อาคาร โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาแบรนด์โรงแรมที่จะเข้ามาบริหาร 
 
ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอฟวายไอเซ็นเตอร์จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2559  อัตราค่าเช่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน จากปัจจุบันที่ค่าเช่าสำนักงานในย่านดังกล่าวอยู่ที่ 600 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน หรือประมาณระดับ B
 
“พื้นที่บริเวณถนนพระราม 4 คลองเตย มีหลายฝ่ายพยายามพัฒนาโครงการ แต่เหมือนยังติดขัดอุปสรรค การที่โกลเด้นแลนด์เข้ามาพัฒนาพื้นที่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้เป็นย่านธุรกิจ ซึ่งโกลเด้นแลนด์ยังมีแผนขยายธุรกิจอาคารสำนักงานในทำเลที่มีศักยภาพ เนื่องจากซัปพลายในตลาดยังไม่มาก โดยเฉพาะบริเวณจุดตัดสี่แยกสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ เหมือนโครงการที่ผ่านมา อย่างอาคารสาทรสแควร์ สี่แยกถนนสาทรตัดถนนนราธิวาสฯ” ธนพลกล่าวกับ ผู้จัดการ 360  ํ
 
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานครหรือ “ซีบีดี” และพื้นที่รอบซีบีดี โดยบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า พื้นที่อาคารสำนักงานรวมในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ 8.1 ล้าน ตร.ม. อยู่ในย่านซีบีดีและนอกซีบีดีสัดส่วน 50:50% ในจำนวนนี้เป็นอาคารสำนักงานระดับเกรดเอ 24 อาคาร พื้นที่รวม 1.2 ล้าน ตร.ม. โดยกว่า 5 แสน ตร.ม. ของตลาดอาคารสำนักงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การบริหารงานโดยบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ป จำนวน 9 อาคาร อัตราค่าเช่าพื้นที่เริ่มตั้งแต่ ตร.ม. ละ 500-1,000 บาท 
 
ได้แก่ อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ ถนนวิทยุ, อาคาร 208 ถนนวิทยุ, เอ็มไพร์ทาวเวอร์ ถนนสาทรใต้, ปาร์ค เวนเจอร์ ถนนเพลินจิต, สาทรสแควร์ ถนนสาทร, ไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก, เนชั่น ทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด กม. 4.5, อาคารโกลเด้นแลนด์ ถนนราชดำริ และโครงการเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ โดยมีอาคารปาร์คเวนเจอร์มีอัตราค่าเช่าสูงสุด ณ ปัจจุบัน 1,000 บาทต่อ ตร.ม.
 
การวางจุดยุทธศาสตร์ใหม่ตลอดเส้นถนนพระราม 4 ถือเป็นความพยายามที่จะปลุกทำเลธุรกิจย่านพระราม 4 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะแม้ย่านพระราม 4 เป็นเขตธุรกิจใจกลางเมือง แต่ไม่ใช่ระดับเอ และยังมีอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวเก่าจำนวนมาก แต่เจริญกำลังผลักดันทำเลตลอดเส้นถนนให้มีมูลค่ามากขึ้น ดึงบริษัทธุรกิจเข้ามาใช้พื้นที่มากที่สุด เพื่อปลุกทำเลทองเกิดใหม่เหมือนเส้นรัชดาภิเษก 
 
บนถนนพระราม 4 ทีซีซีแลนด์ยังมีที่ดินรอการพัฒนาอีก 2 ผืน คือ ที่ดิน 35 ไร่ ใกล้อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งวางแผนพัฒนาโรงแรมระดับ 5 ดาว และพื้นที่ค้าปลีก อีกผืนเป็นที่ดินตลาดสามย่านเดิม หัวมุมถนนพระราม4-พญาไท ตรงข้ามจามจุรีสแควร์ ประมาณ 10-12 ไร่
 
ทั้ง 4 หมุด 4 โครงการ เชื่อมโยงกันทั้งหมด รวมทั้งลิงค์กับอาคารสำนักงานในเครือทีซีซีแลนด์ที่กระจายอยู่ในเขตซีบีดีหลักๆ ทั่วใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นเป็นจังหวะก้าวที่ “เจริญ” ฉายภาพอนาคตไว้อย่างน่าตื่นเต้นยิ่ง
 
Relate Story