วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์ ดึง “ออนไลน์” สู่ “ออฟไลน์”

สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์ ดึง “ออนไลน์” สู่ “ออฟไลน์”

ขณะที่ผู้สันทัดกรณีต่างคาดการณ์กันว่า กระแสดิจิตอล จะเข้ามายึดครองพฤติกรรมการอ่านแบบเดิมๆ จนกระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์หลายค่ายต้องเร่งปรับตัวก้าวเข้าสู่โลกใหม่อย่างเต็มตัว แต่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” กลับมอง “หนังสือ” ยังต้องอยู่กับคนไทยอีก

ที่สำคัญ ตลาดรวมอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้หยุดชะงักไปเมื่อปีก่อนจากผลกระทบ น้ำท่วม เฉพาะปี 2555 มูลค่าทั้งตลาดจะสูงถึง 22,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 ล้านบาท

มนสินี นาคปนันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ และผู้จัดการทั่วไป ทรูไลฟ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูไลฟ์ขยายกลุ่มธุรกิจใหม่คือ สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์ เพื่อเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ โดยดึงนักเขียนหรือคนที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์เข้ามาสู่โลกออฟไลน์ในรูปแบบหนังสือ เพื่อเติมเต็มความครบเครื่องของทรูไลฟ์ ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่ม ธุรกิจของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในหลากหลายรูปแบบผ่านสื่อทุกแพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นทีวี สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโมบายล์

สำนักพิมพ์แห่งนี้เริ่มทดลองตลาด โดยนำเสนอพ็อกเก็ต บุ๊กเล่มแรก เรื่อง “สมาคมมุขเสี่ยว” ของผู้เขียนที่ก่อตั้งสมาคมมุขเสี่ยวๆ แห่งประเทศไทย รูปแบบ Fan Page ใน Facebook ที่มีผู้คนเข้ามาอ่านและกด Like หลายแสนคน ปรากฏว่าหนังสือได้รับความนิยมและสร้างยอดขายติดท็อปเท็นของบุ๊คสไมล์ในร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ต้องจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 กลายเป็นจุดเริ่มอย่างจริงจังของสำนักพิมพ์ทรูไลฟ์

ล่าสุด ทรูไลฟ์มีหนังสือออกมาแล้ว 50 เล่ม ตั้งเป้าทั้งปีจะออกหนังสือจากนักเขียนชื่อดังในโลกออนไลน์ให้ได้ 100 เล่ม เน้นเนื้อหา 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. เทคโนโลยีและธุรกิจ 2. สุขภาพ ความงาม 3. นวนิยาย หนังสือแปล 4. ธรรมะ 5. ไลฟ์สไตล์ 6. ท่องเที่ยว เตรียมแผนจัดทำหนังสือในรูปแบบของ eBook ให้สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่นิยมหันมาอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์ทันสมัย อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์ บริษัท ทรู ดิจิตอล คอนเท้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด กล่าวว่า แม้คนไทยมีช่องทางหรืออุปกรณ์ทันสมัยมากขึ้น แต่ราคาสมาร์ทโฟน ไอแพด ไอโฟน หรือแท็บเล็ต ยังไม่ใช่ราคาที่คนไทย ทุกคนจะเข้าถึงได้โดยง่าย คนไทยส่วนใหญ่จึงมีพฤติกรรมการอ่าน ผ่านหนังสือ ซึ่งให้อารมณ์และความรู้สึกที่ต่างกัน

แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนอีบุ๊กมากมาย แต่ยอด การขายหนังสือในรูปแบบสิ่งพิมพ์ยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะหนังสือของนักเขียนหรือบุคคลชื่อดังติดเบสท์เซลเลอร์อย่างหนังสือชีวประวัติของสตีฟ จ็อบส์ อัจฉริยะคนสำคัญผู้เปลี่ยนแปลง โลก เจ้าของไอเดีย และเทคโนโลยีในไอโฟน ไอแพด แมคอินทอช ซึ่งเขียนโดยวอลเตอร์ ไอแซคสัน ที่คนทั่วโลกต่างต้องการซื้อหนังสือ เก็บไว้ แต่นักเขียนที่ยังไม่มีชื่อเสียง อาจต้องใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวเสริมตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย ซึ่งทรูไลฟ์พุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าคนอ่านมีทั้งแฟนประจำของนักเขียนหรือคนดังๆ ในโลกออนไลน์และวัยทำงานอายุมากกว่า 35 ปี

ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) รุกหนักในการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการอ่าน โดยตั้งเป้าหมายให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น 4 เท่า หรืออ่านคนละ 20 เล่มต่อปี เน้นกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ซึ่งมีทั้งการจัดกิจกรรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) สมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (APPA) และสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ (ABPA) จนเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันให้กรุงเทพมหานคร ได้รับคัดเลือกจากองค์กร UNESCO ให้เป็นเมืองหนังสือโลก หรือ World Book Capital ในปี 2556 และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม IPA Congress ครั้งที่ 30 ในปี 2557

ในมุมมองของสมาคมมองกระแส eBook ไม่ใช่อุปสรรค แต่กลับเป็นช่องทางใหม่ที่เสริมให้คนไทยเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มของการอ่านที่เปลี่ยนจากโลก “ออนไลน์” สู่ “ออฟไลน์” เพื่อซึมซับอรรถรส ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย