วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ซูเปอร์มาร์เก็ตความงาม ธุรกิจต่อยอด Beauty

ซูเปอร์มาร์เก็ตความงาม ธุรกิจต่อยอด Beauty

 
สำนวนไทยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” อาจตอบโจทย์ตลาดธุรกิจความงามไทยได้ดีว่า เพราะเหตุใด ตลาดความงามบ้านเรา จึงมีการเติบโตที่สูง วิกฤตใดๆ ก็ไม่ส่งผลให้ธุรกิจความงามสะทกสะท้านได้ ตราบใดที่คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงาม  
 
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างสูงของผู้ประกอบการ และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยการบริหารของ นพ. สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน)
 
จากหมอเชียงใหม่ที่หันมาเอาดีด้านการขายเครื่องสำอางจนร่ำรวย ธุรกิจที่เติบโตอย่างโตเนื่อง จำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น และก้าวเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนในปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 300,000,000  บาท
 
นพ.สุวิน จบแพทย์เชียงใหม่ปี 2534 รุ่นที่ 28 แต่หันมาเอาดีทางด้านขายเครื่องสำอางจนร่ำรวย โดยในช่วงปี 2541-2542 เปิดร้านเครื่องสำอางเล็กๆ ชื่อว่า “นีโอ” ย่านสยามสแควร์ ก่อนจะขึ้นห้างมาบุญครองใช้ชื่อใหม่ “โมนา” และเปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้งเป็น “คอสเมดา” แต่กิจการก็ยังไม่ได้หวือหวาเป็นที่จับตามองมากนัก
 
จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นใน ปี 2549 เมื่อชื่อ “บิวตี้ บุฟเฟ่ต์” ปรากฏขึ้น และชื่อนี้เองที่หนุนส่งให้กิจการจำเริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ในปี 2554 ขยายแบรนด์เพิ่มเติมไปสู่ “บิวตี้ คอทเทจ” และเปิดแบรนด์ใหม่ “เมด อิน เนเจอร์”
 
ก้าวย่างของ นพ.สุวิน และบิวตี้ คอมมูนิตี้ แม้จะได้รับคำอธิบายอย่างราบเรียบว่าเกิดขึ้นจากความชื่นชอบแฟชั่น ความงามของภรรยา จนตกผลึกด้านความคิดและเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวสู่ธุรกิจความงามจนประสบผลสำเร็จถึงทุกวันนี้ 
 
แต่โดยเนื้อแท้ของความสำเร็จคงปฏิเสธได้ยากว่า ความเป็นไปของ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมจะเดินออกนอกกรอบของแนวปฏิบัติของธุรกิจความสวยความงามแบบเดิมๆ ไปสู่การสร้างสรรค์ หรือครีเอทลักษณะเฉพาะให้เกิดขึ้นและกลายเป็นจุดเด่นของ บิวตี้ คอมมูนิตี้ ในที่สุด
            
ภายใต้แนวคิด  4 รูปแบบ ได้แก่ บิวตี้ บุฟเฟต์,  บิวตี้ คอทเทจ, เมด อิน เนเจอร์ และ บิวตี้ มาร์เก็ต โดยทุกแนวคิดจะมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์  ช่องทางการจำหน่าย ตำแหน่งการตลาด รวมถึงกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน แต่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ   
            
ขณะที่ตัวหลักในการทำรายได้มาจากแบรนด์ บิวตี้ บุฟเฟต์ สัดส่วนรายได้ 70% แต่กระนั้นบริษัทเริ่มปักธงไปยังแบรนด์  BEAUTY MARKET จากคอนเซ็ปต์นำซูเปอร์มาร์เก็ตผนวกกับร้านขายเครื่องสำอาง ที่มีสโลแกนว่า “ร้านสะดวกสวย” (Beauty Convenience Store) ซึ่งถือเป็นร้านแนวคิดใหม่ แตกต่างและแปลกใหม่ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดธุรกิจแบบครบวงจรของ BEAUTY
 
และเล็งเห็นว่า ในอนาคตบิวตี้มาร์เก็ตจะสามารถทำรายได้สูงกว่าร้านบิวตี้ บุฟเฟต์ 3-4 เท่า เนื่องจากเปิดกว้างเรื่องสินค้ามาก โดยมุ่งเน้นไปยังแบรนด์ระดับกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดและมีแรงซื้อที่ดี
 
เป็นการเริ่มต้นจากความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่การสร้างพลวัตเพื่อแสวงหารายได้และการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนว่าทั้ง นพ.สุวิน และบิวตี้ คอมมูนิตี้ จะดำเนินการด้วยดีในช่วงที่ผ่านมา
            
“นโยบายของบริษัทที่ต้องการเติบโตในหลายช่องทาง รวมถึงเทรนด์ของร้านความงามมัลติแบรนด์ในต่างประเทศอย่าง “ซาซ่า” จากฮ่องกง หรือ “เซโฟร่า” จากฝรั่งเศส ก็เติบโตมากในต่างประเทศ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่มีเวลาเลือกซื้อของน้อยลง ทำให้บริษัทคิดคอนเซ็ปต์ร้านรูปแบบใหม่ “บิวตี้ มาร์เก็ต” เพื่อรวบรวมสินค้าเกี่ยวกับความสวยงามที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคเอาไว้ในที่แห่งเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส)” นพ. สุวิน กล่าว
 
ภายใต้พื้นที่ 100-200 ตารางเมตร เป็นร้าน  Multi–Brands และเป็นแบรนด์สินค้าที่รู้จักกันดี ทั้งในประเทศและแบรนด์นอก อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ฯลฯ โดยภายในร้านจะมีสินค้าเกี่ยวกับความงามทั้งหมดกว่า 300 แบรนด์  9,000 รายการ ใน 9 กลุ่มสินค้า อาทิ เมกอัพ, เฟเชียลแคร์, บิวตี้แอ็กเซสเซอรี่, บอดี้แคร์, บอดี้ไฮยีน, แฮร์แคร์, น้ำหอม, บิวตี้ดริงก์แอนด์ฟู้ดและเมนส์แคร์    
 
“นอกเหนือจากสินค้าของบริษัทแล้ว แม้สินค้าของคู่แข่งอย่าง “KARMARTS ก็หาซื้อได้ เพราะนโยบายของเราเปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า” 
 
เป็นทัศนะที่น่าสนใจติดตาม เพราะในธุรกิจความสวยความงามในปัจจุบันถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันและช่วงชิงฐานลูกค้ากันอย่างดุเดือดจากผลของอัตราการเติบโตและมูลค่าการตลาดที่มีจำนวนมากมหาศาล การเปลี่ยนคู่แข่งขันให้กลายเป็นคู่ค้าจึงเท่ากับความสามารถในการลดทอนแรงเสียดทานในการดำเนินธุรกิจ และสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจในแบบ win-win ในตลาดที่ยังมีพื้นที่กว้างใหญ่นี้ด้วย
 
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บิวตี้ คอมมูนิตี้ สามารถวางเป้าหมายการรุกเข้าสู่ตลาดอย่างเอิกเกริก โดยหลังจากเปิดสาขาแรกไปแล้วที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ภายใต้งบการลงทุนสาขาละ 7 ล้านบาท บิวตี้ คอมมูนิตี้ วางเป้าหมายที่ขะเร่งขยายสาขาให้ได้มากถึง 15สาขา ในปีนี้
 
“โมเดลร้านมัลติแบรนด์ความงามโดยเฉพาะ ที่เห็นในไทยยังไม่มีรายไหนชัดเจนนัก หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีโมเดลดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากเงินทุน ประสบการณ์ในการบริหารก็สำคัญ ซึ่งเรามีประสบการณ์ในการบริหารร้านค้าปลีกความงามเหล่านี้มาแล้ว พอเปิดบิวตี้ มาร์เก็ต ซัพพลายเออร์ได้ให้การตอบรับอย่างดี ดังนั้นสาขาที่ 2 เราจะเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่าสาขาแรก เพื่อรองรับสินค้าต่างๆ ที่จะเข้ามามากขึ้น” นพ. สุวิน กล่าว
 
แม้จะเป็นผู้ประกอบการที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอยู่ในธุรกิจความสวยความงาม แต่แนวทางของ นพ.สุวินกลับให้ภาพที่แจ่มชัดและโฟกัสไปในสิ่งที่ความถนัดชำนาญการ ซึ่งนี่อาจถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและมีทิศทางชัดเจน
 
“ถ้าเราไม่ถนัดจริง เราจะไม่ทำ” นพ.สุวินให้ความเห็นว่าบริษัทไม่มีแผนต่อยอดในรูปแบบคลินิกความงามแน่นอน ถึงแม้จะคร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจความสวยงาม และประสบการณ์มากมาย แต่ นพ.สุวินบอกว่า เป็นงานที่ไม่ถนัด มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มอิ่มตัวได้เร็ว
           
ในขณะที่เคล็ดลับของการทำธุรกิจจนประสบผลสำเร็จนั้น ควรมีจุดเด่นดังนี้ 1. เป็นธุรกิจเงินสด 2. ลูกหนี้น้อย 3. ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่คนเข้าใจง่าย เราไม่ได้ทำสารเคมีตั้งต้น ฉะนั้นแทบไม่ต้องอธิบายอะไรเลย 4. มีกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ 5 สามารถขยายสาขาได้จำนวนมาก ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้อสุดท้าย เรารู้ความต้องการของผู้บริโภคแบบตัวต่อตัว
          
“ครีเอทีฟ ไดนามิก และความยั่งยืน” เป็นปรัชญาที่ นพ.สุวินยึดเป็นแนวทางในการทำงาน และทำให้บริษัทฯ เติบโตเคียงคู่กับธุรกิจความงามตลอดไป
 
Relate Story