วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > สถานภาพผู้สูงอายุทั่วโลกสั่นคลอน

สถานภาพผู้สูงอายุทั่วโลกสั่นคลอน

 
ไม่มีใครปฏิเสธว่า เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีบทบาทเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะวิธีการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ยังมีอิทธิพลต่อวิธีจัดการชุมชนยุคศตวรรษที่ 21 ของเราด้วย ผลการศึกษามากมายพบว่า ขณะที่สังคมพัฒนาสู่ความทันสมัยมากขึ้น ผู้สูงอายุยิ่งสูญเสียอำนาจทางการเมืองและสังคม รวมทั้งอิทธิพลและภาวะผู้นำ ซึ่งมักนำไปสู่การมีส่วนร่วมในสังคมน้อยลงเรื่อยๆ
 
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุในทั่วโลกมีหลากหลายด้วยกัน อาทิ ประชากรสูงอายุ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม “การมีอายุมากขึ้นจัดเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมและชีววิทยา” Gyoung–Hae Han แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เขียนในหนังสือ Tradition and Modernity in the Culture of Aging in Korea ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Korea Journal of Population and Development
 
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบันกำลังครอบงำมุมมองเชิงวัฒนธรรมของการมีอายุมากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับความอ่อนเยาว์และผลิตภาพทางการเงิน แต่ไม่ให้คุณค่ากับความสูงวัยและประสบการณ์ แม้วัฒนธรรมในเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และประเทศเอเชียอื่นๆ จะยังให้เกียรติและถือเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้ชรา แต่การพัฒนาสู่ความทันสมัยได้เข้ามากัดกร่อนและทำลายประเพณีหลายอย่างที่ยึดถือกันมาช้านาน
 
จีนกำลังเผชิญกับภาวะเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรง จากการที่ลูกๆ แยกตัวออกไปทำงาน ทิ้งพ่อแม่อยู่บ้านตามลำพัง จึงออก “กฎหมายสิทธิของผู้สูงอายุ” มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวว่า “สมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้อยู่กับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ต้องกลับไปเยี่ยมพวกเขาบ่อยๆ หรือส่งคำอวยพรไปให้” หากไม่ปฏิบัติตาม ลูกๆ ต้องถูกปรับ ซึ่งการผ่านกฎหมายดังกล่าวถือเป็นเพียงมาตรการหนึ่งเท่านั้น ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ยูเครน กำลังดำเนินมาตรการให้ลูกๆ ต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่อย่างเต็มที่เพื่อให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดี
 
มีรายงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันครอบครัวฮิสแปนิกที่พูดภาษาสเปนจำนวนมากในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ ระหว่างภาวะบีบรัดตัวทางเศรษฐกิจกับการต้องดูแลคนรุ่นพ่อแม่ที่ชราภาพลงทุกวัน จึงทำให้มีชาวฮิสแปนิกต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 58 เพราะพวกเขาพบว่า เป็นไปไม่ได้ในทางการเงินที่จะยอมให้ใครคนหนึ่งอยู่กับบ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ในวัยบั้นปลายของชีวิต จึงเกิดปรากฏการณ์ปฏิเสธประเพณีของประเทศกลุ่มละตินอเมริกาที่ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่จนถึงวาระสุดท้ายของพวกเขา
 
การพัฒนาสู่ความทันสมัยและการที่ลูกๆ ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นลำดับแรก ทำให้พวกเขาให้คุณค่ากับเทคโนโลยีมากกว่าผู้สูงอายุ “การรู้ในสมัยใหม่หมายถึงการที่เราแสวงหาความรู้จากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต เราไม่ถามจากผู้สูงอายุอีกต่อไป” Jared Diamond ศาสตราจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย UCLA อธิบาย “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหมายถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุรู้หรือเข้าใจนั้นถือว่าล้าสมัยในเชิงเทคโนโลยี … ระบบการศึกษาในระบบได้เข้าแทนที่ผู้สูงอายุผู้ได้รับการฝึกฝนจนมีความรู้สูงพอที่จะถ่ายทอดความรู้เฉพาะทางแก่ลูกหลาน” 
 
Gyoung–Hae Han สรุปว่า “ถึงเวลาต้องให้ความสำคัญเชิงบวกกับผู้สูงอายุ และให้ความสำคัญกับคุณค่าของผู้สูงอายุในสังคม เราต้องทุ่มเทความพยายามมากกว่านี้เพื่อสร้างทัศนคติทางสังคมเชิงบวกต่อภาวะการมีอายุมากขึ้น เพราะการทำอย่างนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าทางสังคมมากขึ้น ทั้งในแง่ประสบการณ์ที่พวกเขามี และในแง่ของชีวิตบั้นปลายที่เหลืออยู่”
 
 
ที่มา: นิตยสาร Livehappy
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว