วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงเปรูถูกละเมิดสิทธิทางเพศด้วยการบังคับให้ทำหมัน

ผู้หญิงเปรูถูกละเมิดสิทธิทางเพศด้วยการบังคับให้ทำหมัน

 
ประเทศเปรูเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เมืองหลวงคือ เมืองลิมา (Lima) ประเทศเปรูมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน ภาษาที่ใช้เป็นภาษาราชการมี 3 ภาษาด้วยกัน คือ สเปน เกชัว (Quechua)  และภาษาอีมารา (Aymara) สาเหตุที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการก็เพราะประเทศเปรูเคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศสเปนมาก่อน ผู้คนชาวเปรูประมาณ  84% จึงใช้ภาษาสเปนในการติดต่อสื่อสาร ในขณะที่ชาวเปรูอีก 13% ซึ่งมักอาศัยอยู่ในเขตชนบทจะใช้ภาษาเกชัว และชนกลุ่มน้อยประมาณ 1.7% จะใช้ภาษาอีมารา นอกจากนี้ผู้คนชาวเปรูมากกว่า 80% นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 
 
ประเทศเปรูมีการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาล โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ 5 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
 
ประเทศไทยกับประเทศเปรูมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประชากรบางภูมิภาครวมไปถึงชนกลุ่มน้อย มีรายได้น้อยและไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็มักจะไม่รู้จักวิธีการคุมกำเนิด ทำให้มีลูกเยอะและกลายเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดูแลทุกคนในครอบครัว
 
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีมานานพอสมควรในเปรู ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศเปรู ระหว่างปี 2533-2543 จึงได้ออกนโยบายคุมกำเนิดเพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่ยากจน โดยการบังคับให้ผู้หญิงเปรูที่เป็นชนกลุ่มน้อยทำหมัน
 
นโยบายคุมกำเนิดนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายของแผนงานสุขภาพของประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ได้มีการนำเสนอนโยบายคุมกำเนิดนี้เป็นครั้งแรก โดยแผนงานสุขภาพในครั้งนี้ จะใช้เงินที่ได้รับจาก USAID (United States Agency for International Development หรือองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ) กองทุนนิปปอน (Nippon Foundation) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund หรือที่เรียกย่อๆว่า UNFPA) ในการทำหมันให้กับชนกลุ่มน้อย
 
ก่อนที่นโยบายนี้จะนำออกมาใช้ได้ ประธานาธิบดีฟูจิโมริจะต้องแก้ไขกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับประชากรเสียก่อน เพราะตอนนั้นการทำหมันและการคุมกำเนิดบางวิธียังถือว่าเป็นการผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากผู้คนชาวเปรูส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งถือว่าการคุมกำเนิดเป็นการทำผิดหลักของศาสนา ดังนั้นการคุมกำเนิดบางวิธีจึงถือเป็นการผิดกฎหมาย
 
วันที่ 9 กันยายน 2538 ประธานาธิบดีฟูจิโมริจึงได้นำเสนอที่จะแก้ไขกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับประชากร ด้วยการให้วิธีคุมกำเนิดทุกวิธีถือเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงการทำหมันด้วย นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถทำหมันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ชายก่อน การนำเสนอแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากโบสถ์โรมันคาทอลิก และองค์กรคาทอลิกอย่าง Opus Dei (องค์กรคาทอลิกอนุรักษนิยมขนาดใหญ่ คอยช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมคณะผู้เผยแพร่คำสอนของพระเยซูเจ้า) 
 
ถึงแม้จะได้รับการต่อต้าน แต่ประธานาธิบดีฟูจิโมริยังคงเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย จนสำเร็จและมีการประกาศใช้นโยบายคุมกำเนิดในปีต่อมา องค์การอนามัยโลก (หรือWHO) ซึ่งเห็นดีด้วยกับนโยบายคุมกำเนิดของประธานาธิบดีฟูจิโมริ แสดงความยินดีและสนับสนุนนโยบายในการควบคุมการเพิ่มจำนวนของประชากรในครั้งนี้
 
นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวเปรูหลายๆ คนเห็นด้วยกับประธานาธิบดีฟูจิโมริ ในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้หญิงสามารถทำหมันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ชายก่อน เพราะในหลายๆ ครั้งที่ผู้หญิงต้องการคุมกำเนิด แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องได้รับความยินยอมจากสามี ซึ่งอาจติดธุระไม่สามารถมาเซ็นยินยอมให้ภรรยาทำหมันได้
 
นโยบายคุมกำเนิดในครั้งนี้ ฟังดูผิวเผินอาจจะดูดีและถ้าทำสำเร็จยังมีส่วนช่วยลดจำนวนประชากรที่ยากจนลงได้อีก แต่นโยบายนี้กลับเป็นการละเมิดสิทธิทางเพศของผู้หญิงเปรูในเวลาต่อมา
 
หลังจากที่นโยบายคุมกำเนิดประกาศใช้ มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นใบปลิว ประกาศตามวิทยุและโทรทัศน์ เชิญชวนให้ประชาชนไปทำหมันเพื่อเป็นการลดจำนวนประชากรที่ยากจนลง แต่การประกาศนโยบายในครั้งนี้ ไม่มีการชี้แจงว่าประชาชนสามารถปฏิเสธได้ถ้าไม่ต้องการทำหมัน 
 
เมื่อมีการประกาศที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชนบทและชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้พูดภาษาสเปนเข้าใจว่า ตัวเองไม่มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการทำหมันถ้าไม่ต้องการทำ แต่พวกเขากลับเข้าใจว่า ถ้าพวกเขาไม่ทำหมันจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องยอมทำหมันทั้งที่ไม่ต้องการ 
 
นอกจากนี้ผู้หญิงชาวเปรูที่ไม่รู้ภาษาสเปนบางกลุ่ม กลับไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกทำหมันแล้ว เพราะเมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ถูกจับทำหมันเลยโดยไม่มีการซักถามเรื่องจำนวนบุตรหรือความยินยอมในการทำหมัน
 
Victoria Vigo เป็นผู้หญิงชาวเปรูคนหนึ่งซึ่งพูดภาษาเกชัวเล่าว่า เธอมาคลอดลูกคนแรกที่โรงพยาบาล และถูกหมอทำหมันให้เลยโดยไม่มีการถามความสมัครใจของเธอ ในเวลาต่อมาลูกของเธอที่เพิ่งคลอดได้เสียชีวิตลง ผู้หญิงคนนี้จึงเกิดคำถามว่า หลังจากนี้เธอและสามีจะทำอย่างไร เพราะเธอไม่สามารถมีลูกได้อีก และการที่หมอทำหมันให้เธอก็ไม่ได้รับความยินยอมจากเธอด้วย
 
สาเหตุที่หมอส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทและชนกลุ่มน้อยทำหมัน ไม่ใช่เพราะต้องการลดจำนวนประชากรที่ยากจนลง แต่ทำลงไปเพราะหมอถูกบังคับว่า ในหนึ่งเดือนหมอจะต้องทำหมันให้คนไข้อย่างน้อยกี่คน และพยาบาลยังถูกสอนมาว่า ให้แนะนำให้ผู้หญิงเปรูตัดสินใจทำหมันเท่าที่จะทำได้  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีผู้หญิงหนึ่งคนตัดสินใจทำหมัน พยาบาลและหมอจะได้รับเงินประมาณ 5-11 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 160-352 บาท) และถ้าหมอไม่สามารถทำหมันให้กับผู้หญิงเปรูได้ตามที่กำหนดไว้ขั้นต่ำในแต่ละเดือน พวกเขาจะถูกไล่ออกจากโรงพยาบาล
 
Aurelia Paccohuanca ได้เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของเธอมีฐานะยากจน เธอมีลูกมาสี่คนแล้ว พยาบาลได้มาหาเธอที่บ้าน และบอกเธอว่า เธอจะต้องทำหมันเพราะเธอมีลูกมาแล้วสี่คน หนำซ้ำยังมีฐานะยากจน Paccohuanca จึงมีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐบาลต้องการให้ทำหมัน แต่เธอไม่ต้องการ จึงวิ่งหนีมาจากพยาบาลคนนั้น 
 
หลังจากที่ Paccohuanca หลบหนีจากพยาบาลคนนั้นได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ พยาบาลก็กลับมาหาเธออีก แต่เธอก็วิ่งหนีออกมา และถูกจับได้ พยาบาลคนนั้นจับ Paccohuanca ให้ขึ้นรถพยาบาลและพาไปยังโรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาล เธอถูกพาเข้าห้อง พยาบาลบังคับให้เธอถอดเสื้อผ้าออก แล้วพยาบาลก็ให้หมอทำหมันให้เธอ
 
Paccohuanca เล่าว่า ตอนที่เธอถูกจับให้ทำหมันนั้น เธอกลัวและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือ เธอไม่เคยรู้เลยว่า เธอมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการทำหมันในครั้งนี้ได้ และเมื่อเธอมารู้ทีหลัง จึงต้องการที่จะฟ้องร้องหมอและพยาบาลที่ละเมิดสิทธิ์ของเธอ
 
นอกจากนี้ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มยังคงไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า การทำหมันคืออะไร หรือเรียกการทำหมันว่าอะไรในภาษาของตัวเอง แต่พวกเธอกลับถูกหมอทำหมันให้ โดยไม่มีการสอบถามความสมัครใจ
 
ตั้งแต่ปี 2539-2543 มีผู้หญิงถึง 215,227 คน ที่ถูกทำหมัน และมีผู้ชายอีก 16,547 คน ซึ่งจำนวนการทำหมันในช่วงระยะเวลาห้าปีนี้ มีการทำหมันมากกว่าในช่วงสามปีก่อนหน้านี้ถึง 80,385 ครั้ง
 
ถึงแม้ว่าการทำหมันในครั้งนี้จะช่วยลดอัตราการเกิดในหลายๆ พื้นที่ แต่การทำหมันโดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ประธานาธิบดีฟูจิโมริถูกฟ้องร้องว่า ละเมิดสิทธิของผู้คนชาวเปรู
 
ในปี 2545ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบนโยบายคุมกำเนิดของประธานาธิบดีฟูจิโมริ หลังจากที่หมดวาระครั้งที่สองจากการเป็นประธานาธิบดี จากการสอบสวนพบว่า ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (2539-2545) มีการทำหมันให้ผู้หญิง 346,219 คน และทำให้ผู้ชายอีก 24,535 คน 
 
นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทและชนกลุ่มน้อยทั้งหมด 507 คนที่มาให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียง50 คนเท่านั้นที่ยอมรับว่าพวกเขายินยอมให้มีการทำหมัน ในขณะที่คนอื่นๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะให้มีการทำหมัน หมอจะบอกพวกเขาว่า พวกเขาต้องจ่ายค่าปรับ และลูกๆ ของพวกเขาไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือในเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลได้
 
หลังจากที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ อดีตประธานาธิบดีฟูจิโมริถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 25 ปี ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน และในขณะที่ถูกจำคุกอยู่นี้ เขาก็ยังถูกฟ้องว่า เป็นรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย แต่เมื่อสิ้นเดือนมกราคมของปีนี้ อัยการเปรูได้ยกเลิกการไต่สวนในเรื่องนี้เพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ แต่นักสิทธิมนุษยชนในเปรูไม่ยอมรับการตัดสินใจของอัยการ และยืนยันว่าจะมีการยื่นฟ้องต่อศาลโลกให้ได้
 
นโยบายการคุมกำเนิดเพื่อลดจำนวนประชากรที่ยากจนลงนั้นเป็นเรื่องที่ดี และคงจะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลได้ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้อง ถ้าประชาชนชาวเปรูได้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียของการทำหมัน ก็คงมีประชาชนไม่น้อยเลยที่ต้องการทำหมันเพื่อลดจำนวนประชากรที่ยากจนลง โดยที่ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
 
 
 
อดีตประธานาธิบดีฟูจิโมริมาขึ้นศาลเพื่อฟังการตัดสินคดี
 
 
 
ประชาชนชาวเปรูออกมาเรียกร้องให้มีการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนโยบายคุมกำเนิด
 
 
 
ผู้หญิงชาวเปรูมานอนประท้วงการตัดสินใจของอัยการที่ยกเลิกการฟ้องรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีฟูจิโมริในการละเมิดสิทธิมนุษยชน