ท่ามกลางมูลค่าทางการตลาดที่มีมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 10-15% ต่อปี ดูเหมือนว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมช่วงชิงโอกาสและทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเต็มไปด้วยสีสันมากขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้กลุ่มร้านอาหารในเครือของเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในผู้นำ ร้านอาหารญี่ปุ่นในสไตล์ QSR (Quick Service Restaurants) จากเหตุที่มีแบรนด์หลากหลาย ทั้งแบรนด์ที่สร้างขึ้นเองหรือการได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด ดูจะครองความได้เปรียบในมิติของหน้าสัมผัสที่สามารถรองรับการเข้าถึงของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง
โดยที่ผ่านมา ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือของ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด CRG ไล่เรียงรายชื่อไม่ว่าจะเป็นร้านสเต๊กสไตล์ญี่ปุ่น ในนาม เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) ร้านราเมง ในนาม ชาบูตง (Chabuton) ร้านชาบู ชาบู สไตล์ญี่ปุ่น ในนาม ริว ชาบู ชาบู (RYU Shabu Shabu) หรือแม้กระทั่งร้านข้าวหน้าเนื้อแบบญี่ปุ่น ในนาม โยชิโนยะ (YOSHINOYA) รวมถึงร้านโอโตยะ (OOTOYA) ต่างประสบความสำเร็จในการนำพาอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบเข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทย
แต่ความสำเร็จดังกล่าวอาจยังไม่ใช่หลักประกันความเป็นไปที่ท้าทายในอนาคต เพราะนอกจากจะต้องต่อกรกับผู้ประกอบการรายเดิมๆ ที่กำลังขยับขยายองคาพยพช่วงชิงพื้นที่และนำเสนอรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ แล้ว ยังปรากฏมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาร่วมเบียดแทรกตัวเข้ามาแข่งขันชิงชัยในตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนี้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
จังหวะก้าวของ CRG ในการซื้อไลเซนส์แฟรนไชส์ร้านเทนยะ จากบริษัท เทน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรอยัลโฮลดิ้ง ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ เพื่อเปิดตัวร้านข้าวหน้าเทมปุระ แบรนด์ “เทนยะ” (TENYA) แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งในความพยายามที่จะครอบครองตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ได้ทุก segment มากยิ่งขึ้นอีก
ไม่นับรวมแผนการนำแบรนด์ เทนยะเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านใน 2 ประเทศ ทั้งในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่สอดรับกับแผนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตด้วย
“การท่องเที่ยวของชาวไทยในญี่ปุ่นที่มีมากขึ้นทุกปี ทำให้ผู้บริโภคชาวไทย มีโอกาสได้สัมผัสรสชาติอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคเริ่มมองหาอาหารญี่ปุ่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละประเภทมากขึ้น เพราะเชื่อว่ารสชาติต้องอร่อย เนื่องเพราะปรุงจากผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่แบรนด์เทนยะเป็นแบรนด์อาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงด้านข้าวหน้าเทมปุระโดยได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งจากชาวญี่ปุ่น จึงมั่นใจว่าการนำแบรนด์นี้เข้ามาจะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่นิยมชมชอบอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี” ธีระเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ
เพราะประเด็นที่ธีระเดชได้นำเสนอเป็นข้อต่อสำคัญสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่จะเบียดแทรกเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งในธุรกิจอาหารญี่ปุ่นนี้
การเกิดขึ้นของร้านอุด้ง “มารุกาเมะ เซเมง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแฟรนไชส์ใหญ่อีกรายจากประเทศญี่ปุ่น ที่รุกเข้าสู่ตลาดประเทศไทย จากผลของความร่วมมือระหว่าง บริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทบูทิคฯ เป็นตัวอย่างที่ดีในมิติที่ว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจ ร้านอุด้ง ให้เติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นการวางเป้าหมายของร้านอุด้ง ที่มีลักษณะเฉพาะและจำกัดอยู่กับอาหารประเภทเดียวที่น่าสนใจมาก เพราะแม้จะดูประหนึ่งว่าไม่มีวาไรตี้ให้เลือกมากนัก แต่ร้านมารุกาเมะ เซเมง กลับสามารถสร้างจุดเด่นให้ลูกค้าสามารถเลือกทอปปิ้งได้ตามใจชอบสำหรับอุด้งของตัวเอง และกลายเป็นจุดขายไปโดยปริยาย
แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา อาหารญี่ปุ่นได้เปลี่ยนผ่านจากการรับรู้ในฐานะ everyday basic ข้ามพ้นไปอีกขั้น สู่การเป็นร้านอาหารที่ต้องเน้นความเป็นครัวญี่ปุ่นแท้ๆ หรือ Authentic Japanese Cuisine มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านอาหารญี่ปุ่นในความหมายที่คุ้นชินกำลังเปลี่ยนสถานะไปสู่การรับรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของ izakaya หรือร้านประเภท กิน-ดื่ม ที่พร้อมรองรับบรรดาเหล่า hipster ที่เน้นความ chic และ posh lifestyle ยิ่งขึ้น
หากกล่าวอย่างถึงที่สุด เทรนด์ที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นกระแสวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาเนิ่นนานและบางส่วนได้กระจายแพร่หลายมาสู่สังคมไทยก่อนหน้านี้ไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว หากแต่เมื่อกระแสธารวัฒนธรรมและความนิยมในอาหารญี่ปุ่นกลับมาสู่กระแสสูงอีกครั้ง ทำให้ izakaya กลายเป็นตัวเลือกที่ลงตัว
การเปิดตัวโครงการ Nihonmura ส่วนขยาย ในซอยทองหล่อ 13 เมื่อไม่นานมานี้ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเฝ้าติดตาม
เพราะกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา Nihonmura หรือ “หมู่บ้านญี่ปุ่น” แห่งนี้ ได้สถิตอยู่ในความรับรู้ของผู้บริโภคทั้งที่เป็นชาวญี่ปุ่นและชาวไทยที่ชื่นชอบอาหารและบรรยากาศแบบญี่ปุ่นแท้ๆ มาอย่างยาวนาน ภายใต้จุดขายที่ระบุว่า ร้านอาหารแต่ละร้านล้วนมีต้นทางและรากฐานมาจากญี่ปุ่นโดยตรง ไม่ว่าจะโดยการมีเจ้าของหรือดำเนินการโดยชาวญี่ปุ่นโพ้นทะเล
ความเป็นไปในมิติดังกล่าว อาจทำให้ผู้คนที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้างนึกย้อนรำลึกไปถึงเมื่อครั้งการมีหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนั้นหมู่บ้านญี่ปุ่นอาจเป็นเพียงแหล่งพักพิงเพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ
แต่สำหรับหมู่บ้านญี่ปุ่นในยุครัตนโกสินทร์ ใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้ ได้ก้าวพ้นบริบทแบบเดิมมาสู่การเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่ส่งผ่านกระแสและแนวคิดบริโภคนิยมแบบญี่ปุ่นให้ซึมลึกลงไปในอณูความคิดของผู้บริโภคชาวไทยอย่างหนักหน่วง ภายใต้นิยามของไลฟ์สไตล์และรสนิยมวิไลอีกด้วย
ความนิยมในอาหารญี่ปุ่นจึงไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่แผ่กว้างออกไปครอบคลุมอาณาบริเวณทั่วแคว้นแดนไทยจากการขยายตัวของบริโภคนิยมที่ไปพร้อมกับการรุกคืบของห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดไปสู่หัวเมืองใหญ่น้อยเท่านั้น
หากแต่ดูเหมือนจะซึมลึกเป็นกระแสสำนึกใหม่ที่ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่น เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน่าจับตามองไม่น้อย
Relate Story