ในหนังสืออัตชีวประวัติปี 1932 ของ Frank Lloyd Wright บรมครูงานสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติตลอดกาล กล่าวว่า “เราพูดไม่ได้ว่าปลูกบ้านบนเนินเขาหรือบนอะไรก็แล้วแต่ บ้านหลังนั้นควรเป็นส่วนหนึ่งของเนินเขา เพื่อว่าเนินเขาและบ้านจะดำรงอยู่อย่างมีความสุข” สถาปนิกและนักออกแบบมากมาย โดยเฉพาะในยุคที่โลกอ่อนไหวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พากันเห็นด้วยกับคำพูดนี้ จึงทำให้เราได้เห็นผลงานที่แสดงถึงสัมพันธภาพระหว่างสิ่งแวด ล้อมที่สร้างขึ้นกับที่ดินผืนนั้นในรูปแบบของสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น การใช้สีที่กลมกลืน การออกแบบโคมไฟระย้ารูปกิ่งไม้ หรือโต๊ะทำด้วยไม้ซุง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งพยายามสร้างสรรค์งานให้กลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติมากขึ้น บ้าน Montana บนเนื้อที่ 1,200 เอเคอร์นี้ปลูกบนทำเลทองบริเวณที่ทุ่งหญ้าแพร์รีที่ยังเต็มไปด้วยความงดงามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มาบรรจบกับหุบเขาที่มีแม่น้ำ Gallatin ไหลผ่าน สถาปนิก David Lake กับมัณฑนากร Madeline Stuart ผู้มีผลงานแนวสร้างสรรค์ให้กลมกลืนกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงออกแบบให้บ้านหลังนี้มีโครงสร้างตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ พูดง่ายๆ คือ ให้ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดทั้งรูปแบบ วัสดุก่อสร้าง และจิตวิญญาณของบ้านนั่นเอง Lake เล่าแรงบันดาลใจว่า “โครงการนี้ยึดคำขวัญ “ง่ายๆ ไม่สละสลวย” โดยเน้นงาน ออกแบบที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากต้องการความอบอุ่นหรือความเย็นก็ทำได้โดยง่าย เราไม่เน้นทาสีหรือลวดลาย จริงๆ เป็นโรงนาธรรมดาๆ ที่มีบริเวณห้องนั่งเล่น ครัว และห้องอาหารเปิดโล่ง มีระเบียงกว้างขวาง นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน” บ้านขนาด 4,000 ตารางฟุตนี้จึงแปลกแยกจากคฤหาสน์ส่วนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่โต และสร้างขึ้นดาษดื่นในช่วงหลายทศวรรษ ที่ผ่านมา บ้านหลังกะทัดรัดหลังนี้ยังสร้างขนานไปกับสายน้ำที่ไหล คดเคี้ยวลงสู่ทะเลสาบ จึงทำให้มีส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นดินน้อยมาก มิหนำซ้ำส่วนที่เป็นห้องซักล้างและห้องนอนยังฝังตัวอยู่บริเวณเชิงเขา โดยมุงหลังคาที่คลุมด้วยหญ้าซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความร้อน แล้ว ยังเป็นการพรางตาในเชิงสถาปัตยกรรมด้วย เจ้าของบ้านเป็นคู่สามีภรรยากับลูกๆ อีกสองคน พวกเขามีพื้นเพอยู่ที่ลอสแองเจลิส โดยฝ่ายภรรยาฟื้นความหลังว่า “ตอนมาตกปลาที่ Montana เราหมั้นกันแล้ว หลังแต่งงาน เราก็มาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์และตกปลาที่นี่อีก ดินแดนแถบนี้มีความ หมายต่อเรามากเหลือเกิน” เพราะแวดล้อมด้วยทุ่งหญ้าแพร์รี ทีมสถาปนิกจึงเลือกวัสดุ ที่มีคุณสมบัติทนทานสูงสุด และเหมาะกับทุ่งหญ้าแถบนี้ เช่น คอนกรีต ไม้อัด พื้นคอนกรีตขัดมัน และเหล็ก ในส่วนของประตู พวกเขาเลือกใช้ประตูกระจกบานเลื่อน รวมทั้งประตูบานพับที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงตัวบ้านด้านในกับด้านนอกเข้าด้วยกัน ทำให้สมาชิกในบ้านรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ในฤดูหนาวที่อากาศหนาวเหน็บ พวกเขาป้องกันลมหนาว ด้วยการดึงประตูเหล็กลงมาปิดโครงสร้างของบ้านหลายๆ ส่วน ซึ่งช่วยได้มากโดยเฉพาะเมื่อมุงหลังคาที่คลุมด้วยหญ้าที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนได้อย่างวิเศษ Lake เพิ่มเติมว่า “เพราะฤดูร้อนแสงอาทิตย์ร้อนระอุจนแทบจะแผดเผา ขณะที่ฤดูหนาวก็หนาวเหน็บจนสุดจะทน เราจึงออกแบบให้บ้านปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้เรารู้สึกสบายและได้รับการปกป้องจากองค์ประกอบเหล่านี้ แต่ไม่ถึงกับถูกตัดขาดจากธรรมชาติเสียทีเดียว” ในส่วนของ Stuart ที่รับผิดชอบงานตกแต่ง เธอเน้นของแต่งบ้านแนวคลาสสิกยุคช่วงกลางศตวรรษที่ออกแบบโดย Hans J.Wegner, Verner Panton, Eevo Saarinen เป็นต้น ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะไปกันได้กับบ้านที่มีคำขวัญ “ง่ายๆ ไม่สละสลวย”หลังนี้ แต่เธอยืนยันว่าในเชิงปฏิบัติแล้วได้อย่างแน่นอน และให้รายละเอียดว่า “ของแต่งบ้านชุดแรกๆ ที่เราซื้อคือ เก้าอี้นั่งเล่นบุหนังของ Sergio Rodrigues ที่ทำให้บ้านทั้งหลังสวยสมบูรณ์แบบ เพราะฝีมือออกแบบของบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ให้ทั้งความสง่างามและความสบายอย่างไม่น่าเชื่อ” ของแต่งบ้านชิ้นอื่นๆ มีหน้าที่เชื่อมโยงสมาชิกในบ้านกับบรรยากาศข้างนอกโดยตรงมากขึ้น เช่น ที่ระเบียงรับไอแดดยามรุ่งอรุณทางปีกด้านตะวันออกของบ้าน Stuart สร้างสรรค์โต๊ะเตี้ยทำด้วยเหล็ก ส่วนบนปูด้วยแผ่นหินปูนหนัก 600 ปอนด์ที่ขุดได้บริเวณใกล้กับทำเลที่ปลูกบ้านนั่นเอง ส่วนบริเวณระเบียง ชมอาทิตย์อัสดงที่อยู่ตรงข้ามทางปีกด้านตะวันตก ตกแต่งด้วยเก้าอี้ที่ต่อขึ้นในท้องถิ่น ใช้ไม้เก่าจากโรงนา เป็นวัสดุในการผลิต ห้องนอนตั้งอยู่บริเวณปีกอีกด้านหนึ่ง มีระเบียง ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างหลักของบ้าน ระเบียงนี้ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่บนทางเดินมีหลังคาคลุม เพราะหลังคามุงด้วยหญ้านั่นเอง บริเวณห้องนอนก็ออกแบบให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมโดยรวม คือในส่วนของความแข็งแรงใช้วิธีออกแบบโดยใช้ส่วนผสมของคอนกรีตกับท่อนซุง แล้วเสริมความอ่อนนุ่มด้วยพรมวินเทจผืนเล็กๆ สไตล์โมร็อกโกและพรมปูพื้นทำด้วยหนังม้า ส่วนห้องนอนของลูกทั้งสอง มีที่นอนเสริมให้เพื่อรับรองแขกที่มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย เจ้าของบ้านผู้เป็นภรรยาตบท้ายด้วยความสุขว่า “ที่นี่เป็นเหมือนค่ายฤดูร้อนของครอบครัวและเพื่อนๆ เราไม่เน้นห้องนอนขนาดใหญ่ เพราะใช้ชีวิตกลางแจ้งเกือบตลอดเวลา นี่เป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดงานออกแบบว่า ทำไมไม่ทำให้บ้านทั้งหลังเป็นเหมือนระเบียงล่ะ คือห้องทุกห้องเชื่อมต่อกันได้หมด แล้วทุกอย่างในบ้านก็เชื่อมโยงกับด้านนอกได้ ที่นี่เรามีทั้งสุนัข เด็กๆ แล้วก็รองเท้าบู๊ตคาวบอยที่สกปรกเลอะเทอะ… สวรรค์เราดีๆ นี่เอง”