เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาแตกต่างไปตามแต่ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกชนแต่ละท่านจะนำพาไป แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถึงกลับออกอาการชื่นชมการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับนี้ว่าเป็นประหนึ่งการล้างบ้านเมืองให้สะอาดและปราศจากคราบไคลเสียที
โดยมิพักต้องกล่าวถึง ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ หรือค่าแห่งการเสียโอกาส ให้ต้องคำนึงกันนัก นี่อาจเป็นวิถีแบบไทยๆ ที่เปิดให้วงจรแห่งความไม่น่าอภิรมย์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ประหนึ่งว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรกันเลย
แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องความสะอาด เชื่อว่าญี่ปุ่นจะเป็นตัวอย่างแห่งภาพจำและความประทับใจว่าด้วยความสะอาดและเป็นระเบียบที่สร้างให้เกิดเรื่องราวพรั่งพรูออกมาเป็นเรื่องเล่าและบทสนทนา ซึ่งบางครั้งก็เลยล่วงไปสู่การวิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจากความมีวินัยและเคารพกฎ ที่อาจหาได้ยากในบางสังคม
ขณะเดียวกันบางส่วนก็ประเมินว่าทั้งหมดทั้งปวงเป็นเพราะรากฐานทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อถือศรัทธาตามแบบของชินโต ที่เน้นความบริสุทธิ์สะอาดเป็นต้นทาง
แต่ความเป็นไปของแต่ละสังคมก็คงไม่สามารถหลีกหนีหรือพ้นไปจากหลักแห่งอนิจลักษณะไปได้หรอกนะคะ และดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นประหนึ่งเพื่อนสนิทของกาลเวลาเสียด้วย
และภาพบ้านเมืองที่สะอาดสะอ้านเป็นความประทับใจเมื่อครั้งเก่าของสังคมญี่ปุ่นในอดีต กำลังถูกท้าทายด้วยวิถีและย่างก้าวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตของสังคมญี่ปุ่นเอง
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวว่าด้วยความสะอาดชิ้นหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นที่น่าสนใจ และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมาเห็นจะต้องยกให้กับแนวความคิดของการรถไฟญี่ปุ่นภูมิภาคตะวันออก (Japan Railway East: JR East) ที่ประกาศจะใช้เงินมากถึง 80 ล้านเยน หรือหากคิดเป็นเงินบาทไทยก็ประมาณ 30 กว่าล้านบาท สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟของ JR East วิ่งผ่าน
หากฟังเพียงเผินๆ และมีรายละเอียดเพียงเท่านี้ก็คงไม่สู้กระไรใช่ไหมคะ เพราะในฐานะวิสาหกิจขนาดใหญ่ การดูแลรักษาพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและสมควรกระทำอย่างยิ่ง และคงจะเป็นมาตรการที่ได้รับความชื่นชมจากผู้คนที่ได้รับรู้เรื่องราวไม่น้อยเลยทีเดียว
หากแต่จำนวนเงินที่ JR East กำลังจะใช้จ่ายในคราวนี้ ดำเนินไปภายใต้มาตรการที่มุ่งหมายเพียงเพื่อจะทำความสะอาดและลบภาพ Graffiti ที่ปรากฏตัวอยู่ตามเสาและแนวกำแพงตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟของ JR East วิ่งผ่านนั่นเอง
ตามแผนของ JR East นอกจากจะทำความสะอาดและลบภาพ graffiti เหล่านี้ออกไปแล้ว พวกเขากำลังจะทาสีชนิดพิเศษที่ทำให้การพ่นสีเพื่อสร้างภาพ graffiti กระทำได้ยากขึ้น หรือถ้าเกิดมีภาพ graffiti ขึ้นมาใหม่ก็ล้างทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
ฟังดูเหมือนการประชาสัมพันธ์ขายสีช่วงหลังภัยพิบัติน้ำท่วมในบ้านเราที่ผ่านมาไหมคะ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ หากต่อไปในภายหน้านวัตกรรมที่ว่านี้อาจเข้ามาสู่เมืองไทย เพื่อปกป้องแนวกำแพงของสถานที่สำคัญต่างๆ ได้เหมือนกัน
แต่แผนงานของ JR East ดังกล่าวทำให้หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจำนวนมากนี้ โดยหลายเสียงประเมินว่าการทำความสะอาดกำแพงเพื่อขจัด graffiti ออกไป ในอีกทางหนึ่งก็เป็นเสมือนการเตรียมพื้นที่หรือผืนผ้าใบขนาดใหญ่ให้เหล่าศิลปิน graffiti กลับมาสร้างผลงานครั้งใหม่นั่นเอง
ขณะเดียวกัน บางส่วนถึงกับแสดงอาการคับข้องต่อวิธีคิดของ JR East เพราะเงินจำนวนดังกล่าวน่าที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหรือซ่อมแซมที่พักอาศัยให้กับประชาชนที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มากกว่าที่จะมาให้ความสำคัญกับการทาสีทำความสะอาดกำแพงที่มีรอย graffiti ซึ่งก็คงไม่มีใครสนใจหรือต้องเดือดร้อนอย่างจริงจังมากนัก
คำถามที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ ผู้บริหารของ JR East หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มีความคิดที่จะใช้เงินในโครงการที่มีประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือไม่ ฟังดูคล้ายกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นแถวบ้านเราไหมคะ
แต่ใช่ว่าความคิดของ JR East จะได้รับแต่ก้อนอิฐนะคะ เพราะยังมีเสียงชื่นชมออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการตัดไฟ graffiti ที่ยังไม่รุนแรงนักนี้เสียแต่ต้นลม ก่อนที่จะลุกลามบานปลายเหมือนกับที่หลายประเทศต้องเผชิญ
แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่เปิดโอกาสและมีช่องทางให้ผู้คนได้สื่อแสดงอัตลักษณ์และแนวความคิดอยู่อย่างหลากหลาย แต่สำหรับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าศิลปิน graffiti ซึ่งใช้พื้นที่สาธารณะหรือทรัพย์สินภายใต้กรรมสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นที่จัดแสดงผลงาน ดูเหมือนว่าพื้นที่ในการแสดงออกของพวกเขาจะตีบแคบและเหลือน้อยลงไปทุกที
อย่างน้อยก็ไม่ใช่พื้นที่ของ JR East เป็นแน่นะคะ แม้ว่าทั้งหมดนี้จะมีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสะอาด และสบายตาอยู่บ้างก็ตาม