วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > 100 ปี “ไททานิค” มากกว่าเรื่องเรือล่ม

100 ปี “ไททานิค” มากกว่าเรื่องเรือล่ม

เรื่องราวของผู้โดยสาร 11 คน ต่างที่มาต่างจุดประสงค์ แต่เดินทางสู่จุดหมายเดียวกัน ทว่ากลับมีจุดจบบนเรือโดยสารลำเดียวกัน นี่คือเรื่องสั้นที่ชื่อ “หลายชีวิต” แต่สำหรับผู้โดยสารกว่า 1,500 ชีวิตที่จบชีวิตในเรือ “ไททานิค” นี่คือประวัติศาสตร์และโศกนาฏกรรมของโลก ที่ยังมีเรื่องราวของหลายชีวิตให้ค้นหา

เมื่อ 15 ปีก่อนผู้คนทั่วโลกเริ่มรู้จักเรื่องราวของผู้โดยสาร บางส่วนบนเรือ “ไททานิค” ผ่านภาพยนตร์ของผู้กำกับ James F. Cameron ซึ่งถ่ายทอดหายนะของเรือลำใหญ่ที่ได้ชื่อว่า เป็น สิ่งก่อสร้างเคลื่อนที่ได้ที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 ภาพ Leonardo DiCaprio ในบทบาทของแจ๊ค ผู้โดยสารชั้น 3 กับ Kate Winslet ผู้สวมบทโรส สาวตระกูลผู้ดีอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้โดย สารชั้น 1 ที่ยืนกางแขนที่หัวเรือไททานิค และบทพูดของแจ๊คที่ยัง ประทับใจใครหลายคน “You jump, I jump” ยังเป็นฉากแห่ง ความทรงจำที่แทบทุกคนมีให้กับภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค

รวมถึงฉากสะเทือนใจที่ทำให้หลายคนจดจำกับภาพความ วุ่นวาย ความซาบซึ้ง และความหดหู่ในชั่วโมงแห่งความตายบนเรือ ไททานิค เรือที่ถูกเชื่อว่า “ไม่มีวันจม” กลับต้องจมลงในมหาสมุทร แอตแลนติกเหนือพร้อมชีวิตผู้โดยสารกว่า 1,500 ชีวิต เมื่อปี 2455

หลายส่วนในภาพยนตร์มาจากเรื่องจริงของหลายชีวิตบนเรือ สำราญลำนั้น แม้กระทั่งฉากเรือไททานิคหลายฉากก็จำลองมา จาก ข้อเท็จจริงและของใช้จริงที่ขุดค้นขึ้นมาได้จากซากเรือที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลมานาน 73 ปี กว่าที่จะมีนักสำรวจไปพบเจอ

นับจากนั้นเรื่องราวของเรือไททานิคและชีวิตของผู้โดยสาร บนเรือลำนี้ก็ค่อยๆ ถูกเปิดเผย ผ่านเศษซากเรือและหลักฐานทาง วัตถุ ซึ่งถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการภายใต้ชื่อ “TITANIC The Artifact Exhibition” ภายใน 15 ปี นับตั้งแต่เริ่มจัดแสดงมีผู้เข้าชม มากกว่า 22 ล้านคนทั่วโลก

ในเอเชีย หลังจากที่นิทรรศการนี้เพิ่งจัดแสดงจบที่สิงคโปร์ เพียงไม่นาน ไทยก็เป็นชาติที่ 2 ที่ได้ชมนิทรรศการนี้ในประเทศตัวเอง ภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า “100 ปี ไททานิค นิทรรศการแห่ง ประวัติศาสตร์โลก”

รูปแบบเป็นการนำเสนอซากสิ่งของ จากเรือไททานิคที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี โดยบริษัท RMS Titanic เจ้าของเรือไททานิค เป็นผู้เดียวที่ได้รับอนุญาตให้เก็บกู้วัตถุและมีสิทธิ์ดูแลซากเรือไททานิค ตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันสามารถเก็บกู้หลักฐานวัตถุมาได้กว่า 5,500 ชิ้น

นอกจากจะได้ชมการรวบรวมหลักฐานทางวัตถุของแท้ ผู้ชมจะรู้สึกราวกับได้ ย้อนเวลากลับไปขึ้นเรือไททานิค โดยก่อนเข้าผู้ชมจะได้รับ Boarding Pass ซึ่งปรากฏชื่อผู้โดยสารจริงของเรือไททานิค พร้อมบันทึกเหตุผลในการเดินทาง

ห้องแรกแสดงถึงแรงบันดาลใจในการสร้างเรือไททานิค ซึ่งมาจากการแข่งขันทางธุรกิจในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเรือยักษ์ลำนี้เป็นผลแห่งความพยายามของ White Star Line ในการตอบโต้และท้าทาย Cunard Line คู่แข่งสำคัญ และเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทร แอตแลนติกเหนือ

White Star Line วางแผนสร้างเรือ สำราญที่ใหญ่ที่สุดและหรูหราที่สุดเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2450 กระทั่ง RMS Titanic แล้วเสร็จในปี 2544 ณ เมืองเบลฟาสท์ ไอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ต่อเรือแห่งยุคนั้น

“ไททานิค” มีความยาวเกือบ 270 เมตร กว้างกว่า 28 เมตร หนักกว่า 46,000 ตัน ใหญ่เท่ากับตึก 80 ชั้น มีห้องพัก 835 ห้อง รองรับผู้โดยสารและลูกเรือได้มากกว่า 2,400 คน

ในการก่อสร้างไททานิคใช้โครงเหล็ก รองรับโครงเรือใหญ่ที่สุดในโลก ใช้คนงานกว่าหนึ่งหมื่นคนทำงานเกือบ 3 ปี ใช้นักออกแบบและช่างฝีมือทุกแขนงกว่า 3,000 คน ใช้หมุดเหล็กกว่า 3 ล้านตัวในการยึดแผ่นเหล็กตัวเรือ ใช้สายไฟทั่วเรือยาวกว่า 320 กิโลเมตร มีหน้าต่างกว่า 2,000 บาน มีประตูห้องกันน้ำถึง 15 ห้อง และมีเตาหลอม 159 เตา ให้ความร้อนกับเครื่องกำเนิดไอน้ำ 29 เครื่อง โดยใช้ถ่านหินมาก กว่า 650 ตันต่อวัน

ไททานิคได้รับการขนานนามว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” แต่กลับทำหน้าที่ได้เพียง เที่ยวเดียว คือการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2455 ออกเดินทางจากเมืองเซาแธมป์ตัน อังกฤษ เพื่อมุ่งหน้า สู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมในอเมริกายุคนั้นทำให้ประเทศอเมริกาเป็นความหวังของผู้อพยพจากทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและมีปัญหาการแบ่งแยกชนชั้นอย่าง รุนแรง โดยที่ธรรมเนียมดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติบนเรือไททานิคด้วย

ภายในเรือ ผู้โดยสารชั้นสองและชั้นสามจะไม่สามารถมาใช้พื้นที่ส่วนกลางของผู้โดยสารชั้นหนึ่งได้ โดยมีการกั้นโซ่แบ่งโซนไว้เพื่อแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทำให้ภาพจำของ “ไททานิค” ต่อผู้โดยสาร แต่ละชนชั้นแตกต่างกัน

สำหรับผู้โดยสารตั๋วชั้นหนึ่ง ไททา นิคคือความโออ่า ด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่หรูหรา ประดับด้วยวัสดุชั้นดีและงานฝีมือชั้นเยี่ยม ไม่แพ้โรงแรมสุดหรู หรือ “พระราช วัง” เลยทีเดียว ไล่ตั้งแต่โคมไฟระย้าระยับ รับกับบัวเพดานอันวิจิตร ผนังไม้มะฮอก กานีแกะสลักมุก ถ้วยชามจากคริสตัล เฟอร์นิเจอร์สไตล์จอร์เจียน จนกระทั่งกระเบื้องปูพื้นแบบพิเศษ

ห้องพักชั้นหนึ่งทุกห้องมีตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ มีอ่างอาบน้ำ หลายห้องมีห้องรับแขกในตัว ในโซน “เฟิร์สคลาส” มีห้องอ่านหนังสือ ห้องสูบบุหรี่ บาร์เครื่องดื่ม 24 ชม. มีสนามสควอช ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี และลิฟต์ 3 ตัว ราคาตั๋วเฉลี่ย 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับ 57,000 ดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน) โดยห้องสูทหรูที่สุด 2 ห้อง บนดาดฟ้า “B” ซึ่งมีระเบียงเดินเล่นส่วนตัว ราคาอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบัน 103,000 ดอลลาร์)

ชั้น “เฟิร์สคลาส” จุผู้โดยสารชั้น 1 ราว 750 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกจากครอบครัว คนดัง หรือไม่ก็เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม และคนที่รวยที่สุดในยุคนั้น

สำหรับผู้โดยสารตั๋วชั้นสอง ไททานิคคือพาหนะที่จะทำให้พวกเขาไปถึงจุดหมายในการเจรจาทางธุรกิจ หรือไปสู่ตลาดสินค้าอันกว้างใหญ่ในทวีปที่เพิ่งเกิดใหม่ นามว่า “อเมริกา” ได้อย่างรวดเร็ว เพราะไททานิคใช้เวลาเดินทางแค่ 6 วัน ขณะที่การเดินทางภาคพื้นทวีปใช้เวลาเดือนกว่า

การตกแต่งสำหรับผู้โดยสารชั้นสองมีความสะดวกสบายและความสวยงามพอสมควร โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ สมาชิกองค์กรศาสนา ครูอาจารย์ และโชเฟอร์

สำหรับผู้โดยสารตั๋วชั้นสาม ไททานิคคือความหวังสู่ชีวิตที่ดีกว่า โดยส่วนใหญ่เดินทางไปอเมริกาเพื่อหลีกหนีชีวิตอันแร้นแค้น และไปตั้งรกรากทำมาหากินในดินแดนที่พวกเขาจะไม่ถูกเหยียดหยามจากชนชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือ ทั้งช่างทำรองเท้า ช่างบัดกรี และช่างไม้ โดยหลายคนยอมขายทุกอย่างหวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

เนื่องจากห้องพักของผู้โดยสารชั้นสามอยู่ใกล้ห้องเครื่อง จึงมักจะได้ยินเสียงเครื่อง แทนเสียงเพลงบรรเลงจากวงออร์เคสตราเฉกเช่นผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ไม่มีทิวทัศน์ให้ดู นอกจากคานเรือแทนท้องฟ้า และผนังห้องนอนเล็กๆ กับเตียงนอนสองชั้น 2 เตียง ซึ่งต้องอยู่ร่วมกัน 4 คน สนนราคา 40 ดอลลาร์ (หรือ 900 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)

นอกจากเป็นยานพาหนะไททานิคยังเป็นผลงานศิลปะหรูหราที่รวบรวมช่างฝีมือชั้นยอดหลายแขนง หลายพันชีวิตมาร่วมกันสร้างเรือแห่งความฝันให้เป็นจริง ขณะที่การขึ้นเรือลำนี้ก็เป็นความฝันที่เป็นจริงของใครหลายคน เรือลำนี้จึงมีทั้งผู้โดยสารและลูกเรือ ร่วมชะตากรรมเดียวกันมากถึง 2,228 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้โดยสารชั้นสาม

ทว่าการขึ้นเรือแห่งประวัติศาสตร์ลำนี้ก็ไม่ใช่ความตั้งใจแรกเริ่มของผู้โดยสารทุกคน บางคนขึ้นเรือลำนี้แทนคนอื่น บ้างก็ย้ายมาจากเรือลำอื่นที่ถูกไททานิคเหมาซื้อถ่านหินไปจนหมด เพราะเหตุการณ์ประท้วงของเหมืองถ่านหินทำให้เกิดการขาดแคลนถ่านหิน

แม้จะไล่ซื้อถ่านหินจากเรือลำอื่นมาจนหมดในวันออกเดินทางจริง ไททานิคมีถ่านหิน ไว้ใช้ราว 5,443 ตัน จากความสามารถในการบรรทุกจริง 6,000 ตัน แต่ก็เพียงพอสำหรับ การขับเคลื่อนและการทำอาหารตลอดการเดินทาง

โซน “เฟิร์สคลาส” นอกจากจะได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่เคยงดงามโอ่อ่า ผู้ชมยัง ได้สัมผัสกับความหรูหราผ่านกลิ่นและเสียงบรรเลงเหมือนกับที่เคยถูกใช้จริงบนเรือไททานิค

จากนั้นก็มาถึงบันไดกลางจำลองอันแสนโอ่อ่าและสง่างามเสมือนของจริงบนเรือไททานิค ซึ่งเป็นจุดที่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งมักจะมาโชว์ตัวพร้อมอวดเครื่องแต่งกายและเครื่อง ประดับสุดหรูก่อนเดินไปห้องอาหารค่ำ

เดินผ่านห้องพักคลาสต่างๆ ไปจน ถึงห้องกำเนิดไอน้ำใต้ท้องเรือ แสงภายใน ห้องนี้มีสีแดงฉานให้อารมณ์ร้อนเร่าราว กับอยู่ในกองไฟ บรรยากาศน่าอึดอัดด้วยสีดำและเสียงดังของเครื่องจักรที่ไม่เคย หยุดพัก นี่เป็นการจำลองสภาพความเป็น อยู่ของเหล่าคนงานผู้เป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อนเรือยักษ์ลำนี้

จากจุดลึกสุดของเรือสู่ชั้นดาดฟ้า ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ผู้ชมจะได้พบกับทิวทัศน์อันงดงามของท้องฟ้าเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกในค่ำคืนมืดมิดของ วันที่ 14 เมษายน 2455 กลับพร่างพราวด้วยดวงดาวสุดลูกหูลูกตา

แต่ในคืนนั้นกลับไม่มีใครอยู่ตรงนี้เลย เพราะในคืนสุดท้ายของไททานิค ผู้โดยสารชั้นหนึ่งกำลังรื่นเริงอยู่ในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้กับกัปตันค่าตัวแพงที่สุดของยุค Edward John Smith สำหรับการเดินทางอันราบรื่นและปลอดภัย ซึ่งเป็นการฉลองล่วงหน้าก่อนถึงฝั่งเพียง 2 วัน

จากดาดฟ้า ผู้ชมจะเริ่มสัมผัสกับความหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นความรู้สึก ที่ไม่ต่างจากผู้โดยสารบนเรือไททานิคในเวลานั้นนัก เพราะขณะนั้นเรือกำลังเข้าใกล้ ภูเขาน้ำแข็งขึ้นเรื่อยๆ

ว่ากันว่า คำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งถูกส่งจากเรือลำอื่นมายังไททานิคไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง แต่ดูเหมือนทุกคนจะสนุกสนานกับ งานเฉลิมฉลอง ไททานิคจึงมุ่งหน้าหาภูเขา น้ำแข็งด้วยความเร็วสูงสุดของเรือเท่าเดิม

เวลา 23.39 น. เวรยามที่เสากระโดงเรือแจ้งว่าพบภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ อยู่ข้างหน้า ผู้บังคับเรือซึ่งไม่ชินกับการบังคับเรือใหญ่ขนาดนี้จึงตัดสินใจผิดพลาด บวกกับใบจักรและหางเสือมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับลำเรือ ทำให้หัวเรือด้านกราบขวาชนกับภูเขาน้ำแข็งจนฉีกขาด น้ำทะลักห้อง กั้นน้ำ 6 ห้อง จากนั้นก็เริ่มท่วมในส่วนของ ห้องพักชั้นสาม

อีกไม่กี่นาที กัปตันสั่งให้เตรียมเรือ สำรองเพื่ออพยพผู้โดยสารและส่งสัญญาณ ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเรือ RMS Carpathia รับสัญญาณได้ และตอบกลับว่าจะไปถึงภายใน 4 ชม. แต่วิศวกรบนเรือไททานิคประเมินว่าเรือจะลอยได้อยู่เพียง 2.40 ชม.ไทานิคจึงต้องพึ่งตนเอง

ในครั้งแรกไททานิคถูกออกแบบให้มีเรือชูชีพจำนวน 32 ลำ เพียงพอสำหรับคนราว 1,900 คน แต่ก่อนเดินทางกลับมีการลดจำนวนเรือชูชีพลงเหลือ 20 ลำ เพื่อไม่ให้เกะกะ สายตาบนพื้นที่ดาดฟ้าและเพื่อลดต้นทุน จึงสามารถอพยพผู้คนได้สูงสุดเพียง 1,178 คน มากกว่ากฎหมายกำหนดเพียงร้อยกว่าคน แต่น้อยกว่าจำนวนคนบนเรือไปพันกว่าชีวิต

อีกความจริงที่เศร้ากว่านั้นคือ ในคืนนั้นมีเรือชูชีพเพียง 2 ลำที่มีผู้โดยสารเต็มเรือ ที่เหลือบางลำจุคนได้ 65 คนแต่มีผู้โดยสารจริงเพียง 19 คน บางลำมีคนเพียง 160 คนทั้งที่จุได้ 430 คน เนื่องจากผู้โดยสารจำนวนมากลังเลที่จะสละเรือที่เรียกกันว่า “แทบจะไม่มีวันจม” ในช่วงที่เรือเพิ่งชนกับภูเขาน้ำแข็ง

J. Bruce Ismay กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท White Star Line ได้ลงเรือชูชีพลำสุดท้าย ในขณะที่ยังมีผู้คนอยู่บนเรืออีกกว่า 1,500 คน โดย 2 คนในนั้นคือกัปตัน Edward J. Smith และ Thomas Andrews ผู้ควบคุมการออกแบบเรือไททานิค ซึ่งเขาเชื่อจนนาทีสุดท้ายว่าเรือลำนี้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะทำได้

เวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน 2455 เรือไททานิคดำดิ่งสู่ใต้ท้องมหาสมุทร แอตแลนติกเหนืออย่างรวดเร็วในสภาพหักสองท่อน และนอนหลับใหลอยู่ตรงนั้นมาถึงทุกวันนี้ และ 2 ชม.หลังจากนั้น เรือคาพาเทียร์มาถึงและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตทั้งหมด

โศกนาฏกรรมครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,523 คน โดยเป็นผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 125 คน ชั้นสอง 168 คน ชั้นสาม 529 คน และลูกเรือ 701 คน ในจำนวนนี้รวมถึงนักดนตรีทั้งหมด 8 คน ที่จมไปพร้อมกับเรือในขณะที่ยังเล่นบทเพลงสุดท้าย “Nearer My God to Thee”

คำตอบของการตายของคนส่วนใหญ่อยู่ในห้องถัดไป น้ำแข็งก้อนใหญ่ถูกจัดวางไว้ให้ผู้ชมได้สัมผัส ทว่าภูเขาน้ำแข็งจากน้ำทะเลจะเย็นกว่านี้ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 องศาฟาเรนไฮต์ (ต่ำกว่า -5 องศาเซลเซียส) ทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ จากนั้น ก็ส่งผลให้การทำงานของสมองและอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน

ขณะที่เรื่องราวในภาพยนตร์เหมือนจะสิ้นสุดลงที่ฉากสะเทือนใจเหล่านี้ แต่ในชีวิตจริงเรื่องราวของเรือไททานิคกลับเป็นจุดเริ่มต้นของ “สิ่งที่ดีกว่า” ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบในการเดินเรือทางทะเล

เช่นผู้โดยสารทุกคนสามารถเดินเข้า พื้นที่ส่วนกลางได้ทุกที่บนเรือ และเรือทุกลำ ที่เดินทางข้ามแอตแลนติกเหนือต้องติดตั้งไฟหน้าเรือ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยลาดตระเวนภูเขาน้ำแข็งขึ้นในปี 2457 และนับจากนั้นก็ไม่มีการเสียชีวิตจากเหตุเรือชน ภูเขาน้ำแข็งอีกเลย

ตำนานของเรือไททานิคที่ถูกทิ้งไว้กับซากเรือที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลลึก 2.5 ไมล์ ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหลังการขุดค้นพบซากเรือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 มีข้าวของจากเรือไททานิคถูกเก็บกู้มาได้มากกว่า 5,500 ชิ้น โดย ณ วันนี้ก็ยังคงมีความพยายามเก็บกู้ข้าวของเหล่านี้ขึ้นมาเรื่อยๆ

ก่อนจบนิทรรศการผู้ชมยังได้ลุ้นว่าชื่อที่ปรากฏใน Boarding Pass นั้นเป็นผู้เสียชีวิตหรือผู้รอดชีวิต โดยเช็กได้จากผนังรายชื่อผู้เสียชีวิตที่มีมากมายจนลายตา

“นิทรรศการไททานิคมากกว่าแค่เรื่องราวของเรือลำหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวการเดินทางของเรือที่บรรจุเรื่องของชีวิต ความหวัง ความรัก และความตาย แม้ว่าเรือจะจมไปแล้วแต่เรื่องราวของคนที่เดินทางไปกับเรือไม่ได้จมไปกับเรือ หลายชีวิต เหล่านี้มีเสี้ยวมุมให้เรากลับไปคิดต่อได้”

รักษิต รักการดี ผู้จัดการฝ่ายคอนเสิร์ตและกิจกรรมพิเศษ บริษัท บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เมนเม้นท์ กล่าวในฐานะผู้นำ เข้านิทรรศการ “100 ปี ไททานิค” ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน-2 กันยายน 2555 ณ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สนนราคาบัตร ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็กและนักเรียน 350 บาท

รายได้จากค่าเข้าชมส่วนหนึ่งจะถูกรวบรวมเป็นทุนในการสำรวจและเก็บกู้หลักฐานวัตถุจากเรือไททานิค เพื่อนำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ให้นานที่สุด โดยต้องแข่งกับ เวลา เพราะทุกวินาที เศษสิ่งของและซากเรือไททานิคกำลังถูกย่อยสลายด้วยแบค ทีเรียในอัตราย่อยสลายที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ จน คาดกันว่าเรือยักษ์หนักกว่า 45,000 ตันจะพังทลายหมดไปในที่สุด