คุณๆ ย่อมรู้กฎความปลอดภัยดีว่า ก่อนกินยาต้องอ่านฉลากยาให้ถ้วนถี่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กินยาเกินขนาด (ถ้าไม่เคยทำ ให้ทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้) คุณเคยตระหนักและเคยได้ยินไหมว่า การกินยาหลายขนานในเวลาเดียวกัน อาจเกิดปัญหายาทำปฏิกิริยาต่อกันจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ตามภาษาปากว่า “ยาตีกัน” ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
แต่วันนี้เรามีข้อควรระวังที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันมานำเสนอ นั่นคือ ยาบางประเภททำปฏิกิริยากับอาหารบางอย่างที่คุณกิน ไม่เว้นแม้แต่ยาสามัญที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้าคุณเข้ารับการผ่าตัด แล้วต้องกินวิตามินหรือแม้แต่การเข้าโรงยิมเพื่อออกกำลังกาย ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเป็นลำดับแรก
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างอาหารที่ทำปฏิกิริยากับยาบางประเภทที่คุณควรรู้
ส้มเกรปฟรุต
การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า มียาจำนวนมากที่ทำปฏิกิริยากับน้ำเกรปฟรุตโดยเพิ่มจาก 17 ชนิดเมื่อปี 2008 เป็น 43 ชนิดในปี 2012
Dr.Andrew Boyden ที่ปรึกษาทางคลินิกของ NPS MedicineWise อธิบายว่า “น้ำเกรปฟรุตทำปฏิกิริยากับยาสามัญหลายชนิด ทำให้ขนาดยาที่กินตามปกติเพิ่มความแรงมากเกินไป หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม ststins ยาโรคหัวใจบางชนิด ยาลดความดันโลหิต และยาที่คนไข้อาจต้องกินในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ไอ หรือยาแก้หวัด”
หากต้องการรายละเอียดของยาที่ทำปฏิกิริยากับน้ำเกรปฟรุต ให้เข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของ NPS MedicineWise คือ nps.org.au
และถ้าคุณจำเป็นต้องกินยาดังกล่าว แนะนำให้หยุดกินเกรปฟรุตหรือน้ำเกรปฟรุตโดยสิ้นเชิง เพราะเราไม่รู้แน่ชัดว่า หลังจากบริโภคเข้าไปแล้ว เกรปฟรุตจะออกฤทธิ์ตกค้างในร่างกายนานเท่าไร
แอลกอฮอล์
ผลการวิจัยชิ้นใหม่ของสวีเดนพบว่า แอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบต่อการแตกตัวของยา แม้ทีมวิจัยจะพยายามศึกษาผลดีจากการดื่มแอลกอฮอล์ว่า สามารถเป็นตัวทำละลายยาประเภทที่ดูดซึมเข้าร่างกายได้ยาก แต่ผลที่ได้ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ว่า ต้องดื่มมากน้อยเพียงใดจึงจะพอเหมาะ ซ้ำร้ายพวกเขากลับพบว่า แอลกอฮอล์ทำให้ยาบางประเภทแตกตัวออกฤทธิ์มากกว่าปกติถึงสามเท่า หมายความว่าขณะคุณกินยาบางประเภทแล้วดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วย อาจทำให้ยาแตกตัวเร็วขึ้นและออกฤทธิ์รุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือทำให้ขนาดของยาผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้
ที่ถือว่าเสี่ยงมากที่สุด คือการกินยาที่มีสารประกอบที่เป็นกลางหรือเป็นกรด เช่น สเตียรอยด์ และยาแก้ปวดบางชนิด นอกจากนี้ ยาละลายลิ่มเลือด warfarin และยารักษามะเร็ง Tamoxifen ก็มีฤทธิ์เป็นกรดเช่นกัน จึงแนะนำให้งดดื่มแอลกอฮอล์สักสองสามชั่วโมงหลังกินยาดังกล่าว
มังสวิรัติ
ถ้าคุณเป็นมังสวิรัติ และมีเลือดออกระหว่างกินยาคุมกำเนิดขนาดต่ำที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 20 ไมโครกรัม ให้สันนิษฐานว่า สาเหตุอาจมาจากอาหารที่คุณบริโภค
อย่างไรก็ตาม Dr.Anne Szarewski นักวิจัยด้านการคุมกำเนิดระดับนำของอังกฤษเตือนว่า ก่อนอื่นต้องตัดปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุอื่นๆ ออกไปให้หมด เช่น การกินยาคุมกำเนิดไม่ถูกวิธี หรือการกินยาที่อาจรบกวนการดูดซึม เช่น ยาปฏิชีวนะ “หลังจากตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไปแล้ว ฉันถามคนไข้ว่า พวกเธอเป็นมังสวิรัติใช่หรือไม่ คำตอบมักจะใช่ อาหารของนักมังสวิรัติอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปกติแล้วแบคทีเรียดังกล่าวทำงานร่วมกับวงจรการทำงานของเอสโตรเจนจากยาคุมกำเนิด และถ้าระบบนี้บกพร่องหรืออ่อนแอลง ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การเพิ่มขนาดยาคุมกำเนิดเป็น 30 ไมโครกรัมอาจช่วยได้
วิตามินรวม
John Bell ที่ปรึกษาโครงการดูแลตนเองของสมาคมเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า เกลือแร่อย่างแคลเซียม เหล็ก และแมกนีเซียมที่กินในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือในรูปของวิตามินรวม สามารถลดประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่มีส่วนประกอบของ tetracycline เช่น doxycycline ได้ “ยิ่งกว่านั้น ถ้ากินยาร่วมกับวิตามินรวม ยังมีผลให้ร่างกายดูดซึมเกลือแร่ได้น้อยลงด้วย”
ต้องจำไว้ด้วยว่า แคลเซียมกับแมกนีเซียมยังเป็นส่วนประกอบในยาลดกรดบางชนิดด้วย ดังนั้น ให้ระมัดระวังกรณีนี้ด้วย
แนะนำให้ทิ้งช่วงอย่างน้อย 2 ชั่วโมงระหว่างการกินวิตามินรวม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือยาลดกรด กับการกินยาปฏิชีวนะที่มีส่วนประกอบของ tetracycline
กะหล่ำดาวกับบร็อกโคลี
กะหล่ำดาวกับบร็อกโคลีเป็นผักสองชนิดที่มีวิตามินเคสูง เมื่อกินเข้าไปแล้วสามารถรบกวนการทำงานของยาละลายลิ่มเลือดอย่าง warfarin
Dr.Andrew Boyden อธิบายว่า โดยเหตุที่วิตามินเคสำคัญต่อสุขภาพของเรา จึงไม่ควรงดเว้นการกินอาหารที่มีวิตามินเค เพียงแต่ควบคุมปริมาณการกินในแต่ละสัปดาห์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผักอื่นๆ ที่มีวิตามินเค ได้แก่ ผักโขม กะหล่ำ และคะน้า
อากาศร้อน
“อากาศร้อนมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมฮอร์โมนอินซูลินในอัตราที่เร็วขึ้น” ทีมผู้ให้คำแนะนำของสภาโรคเบาหวานแห่งออสเตรเลียเตือน “ถ้าร่างกายดูดซึมอินซูลินเร็วกว่าปกติ คนไข้อาจมีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้งขึ้น”
พวกเขาแนะนำให้คนไข้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงอากาศร้อน ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสวิงขึ้นลง ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับอินซูลิน
ยาแก้ไอ
ถ้าคุณกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด จำเป็นต้องตรวจสอบดูว่า ยาแก้ไอที่คุณกินมี pholcodine เป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพราะ pholcodine กับยาสลบบางชนิดมีโมเลกุลที่ทำให้คนไข้บางคนพัฒนาแอนตี้บอดี้โรคภูมิแพ้ขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ และสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้เมื่อได้รับยาสลบ และอาจก่อให้เกิดปัญหาผื่นคันไปจนถึงการหายใจผิดปกติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะวิสัญญีแพทย์ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีให้สังเกตเห็นสัญญาณดังกล่าว
Dr.Michael Rose ประธานกลุ่มโรคภูมิแพ้จากยาสลบแห่งนิวซีแลนด์และออสเตรเลียกล่าวว่า การเชื่อมโยงดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัด (แต่ในหลายประเทศ เช่น สวีเดน ห้ามใช้ pholcodine ในยาแก้ไอ) และปฏิกิริยาภูมิแพ้จะไม่เกิดกับทุกคน แต่การป้องกันย่อมดีกว่า นั่นคือ ใช้ยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบอื่นๆ แทน
กินยาบางชนิดแล้วฉีดโบท็อกซ์ไม่ได้
ถ้าคุณเข้ารับการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาในขนาดที่สูง ต้องบอกแพทย์ด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คุณได้กินยาแก้หวัด ยานอนหลับ หรือยาแก้แพ้หรือไม่ เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึมและกล้ามเนื้ออ่อนแรง
Dr.Argie Xaflellis โฆษกสมาคมแพทย์ศัลยกรรมความงามแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า หากคุณฉีดโบท็อกซ์เพื่อความงาม เช่น ลบริ้วรอยเหี่ยวย่น อาจไม่เกิดปัญหาข้างต้นก็ได้
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว