วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “ทีซีซีแลนด์” ลุยโรดแมพฝ่าวิกฤต รีโนเวต-ขยายพอร์ตล็อตใหญ่

“ทีซีซีแลนด์” ลุยโรดแมพฝ่าวิกฤต รีโนเวต-ขยายพอร์ตล็อตใหญ่

 
แม้กลุ่มทีซีซีแลนด์ต้องปรับกระบวนยุทธ์ครั้งใหญ่ หลังเจอผลกระทบจากวิกฤตการเมืองเล่นงานธุรกิจโรงแรมอย่างหนักหน่วง แค่ 4 เดือน สูญรายได้ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ทายาทรุ่น 2 ของเจริญ สิริวัฒนภักดี อย่างวัลลภา ไตรโสรัส ถือเป็นช่วงจังหวะสำคัญในการรีโนเวตและขยายพอร์ตล็อตใหญ่ตามแผนโรดแมพที่จะเปิดแนวรุกอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2557 โดยปักธงเป้าหมายใหญ่ การสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค “ The District of Thailand” เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ รองรับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีหน้า 
 
การประกาศเบรกแผนขยายโครงการ “เอเชียทีค 2” บริเวณถนนเจริญนคร เนื้อที่ 29 ไร่ จากเดิมที่หมายมั่นจะปั้นเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์เชื่อมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ฝั่งถนนเจริญกรุง ซึ่งตามแผนเดิมจะประกอบด้วยโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ โรงแรมขนาดใหญ่ และโรงภาพยนตร์ โดยมีกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมต่อถึงกัน 
 
ด้านหนึ่งถือเป็นการพับแผนครั้งใหญ่จนถูกมองว่า ปีนี้ ทีซีซีแลนด์พ่ายพิษการเมืองจนต้องตัดงบลงทุนเหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา 
 
แต่อีกด้านหนึ่ง ทั้งวัลลภาและสามี คือ โสมพัฒน์ ไตรโสรัส ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ กลับวางเกมการถอยครั้งนี้เป็นการรุกโอกาสที่ดีที่สุดและเข้ามาตรวจสอบโครงการในมือทั้งหมดที่ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าอย่างเต็มที่เหมือนครั้งที่เธอกระโดดเข้ามาช่วยนายเจริญบริหารพอร์ตที่ดินให้เกิดประโยชน์มูลค่ามหาศาล รวมทั้งเตรียมลุยตลาดอาคารสำนักงานในทำเลที่มีศักยภาพ หลังจากหยุดเปิดโครงการไประยะหนึ่ง 
 
“โรดแมพของทั้งกลุ่ม เราอยากทำโครงการที่สนับสนุนชุมชนและให้คุณค่าระยะยาว  โดยวางคอนเซ็ปต์ทั้งกลุ่มเน้นเรื่องการปรับปรุง โครงการไหนที่ยังไม่ให้คุณค่าเต็มที่ก็รีโนเวต ส่วนโครงการตามมาสเตอร์แพลนวางภาพรวมจะสร้างเป็น District ให้กับชุมชนให้กับประเทศ เสริมประเทศให้มีศักยภาพการแข่งขันในระดับภูมิภาค” วัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด กล่าว 
 
ทั้งนี้ ทีซีซีแลนด์เริ่มวางแผนโรดแมพเมื่อปลายปี 2555 โดยมองปัจจัยการเติบโตของประเทศและภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และเตรียมผลักดันโครงการต่างๆ ในปลายปี 2556 แต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในหลายจุดใจกลางเมืองนานหลายเดือน ทำให้กลุ่มทีซีแลนด์ต้องปรับแผนโรดแมพใหม่อีกครั้ง โดยเน้นลงทุนโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดและเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด 
 
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ จำกัด ในเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ “ทีซีซีกรุ๊ป” ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี แบ่งโครงสร้าง  6 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ กลุ่มค้าปลีก(รีเทล) กลุ่มอาคารสำนักงาน กลุ่มมาสเตอร์แพลน และกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามโรดแมพใหม่จะเน้นการลงทุนและพัฒนาในกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก อาคารสำนักงาน และโครงการใหม่ตามมาสเตอร์แพลน โดยวัลลภาตั้งเป้าหมายเบื้องต้น ทีซีซีแลนด์จะมีเครือข่ายโรงแรมทั้งหมด 55 แห่ง ภายใน 5-10 ปี ครอบคลุมทั้งระดับ 5, 4, และ 3 ดาว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม 3 ดาว จะเริ่มบุกตลาดอย่างจริงจัง จำนวนมากกว่า 30 แห่ง 
 
“เราเน้นการขยายโครงการรีเทล โรงแรมและออฟฟิศ เพราะเมื่อเปิดเออีซี ตลาดออฟฟิศเริ่มดี ดีมานด์เริ่มมีมากขึ้น ซัพพลายเริ่มขาด เรากำลังจะคิดโครงการต่อเนื่อง เน้นทำเลที่มีศักยภาพใหม่อย่างบางนา สุขุมวิท ส่วนกลุ่มโรงแรมเตรียมใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เน้นการรีโนเวต รีแบรนด์และสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาว ยิ่งถ้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นได้เร็ว การก่อสร้างขยายโรงแรมจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก” 
 
ขณะที่การพัฒนาโครงการเพื่อขายที่อยู่อาศัยยังชะลอไว้ก่อน เนื่องจากที่ดินในเมืองไทยมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน รวมทั้งที่ดินของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นที่ดินสะสมนานหลายสิบปี การขายไม่คุ้มค่าเท่ากับการนำมาพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว 
 
ถ้าว่ากันเฉพาะปี 2557 ทีซีซีแลนด์เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ ได้แก่ การขยายพื้นที่ด้านข้างโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ จำนวน 8 ไร่ ทดแทนแผน “เอเชียทีค 2” ฝั่งเจริญนคร เนื่องจากสามารถพัฒนาได้ทันที โดยวางแผนสร้างโรงแรมระดับ4-5 ดาว จำนวน 250 ห้องพัก ศูนย์ประชุมและลานกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งเพิ่มที่จอดรถในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามถนนอีก 8 ไร่ นอกจากนี้ เตรียมเปิดตัวโครงการเอเชียทีคในจังหวัดเชียงใหม่และหัวหิน 
 
โครงการคอมมูนิตี้มอลล์  3 แห่ง เงินลงทุนรวมประมาณ 300 กว่าล้านบาท ได้แก่  โครงการ “ณ กรุงเกษม” ย่านเทเวศร์ พื้นที่ 4 ไร่ เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีบูทีคโฮเต็ล แหล่งช้อปปิ้งและร้านอาหาร โครงการคอมมูนิตี้มอลล์จับกลุ่มวัยรุ่นย่านรัชโยธิน เนื้อที่ 10 ไร่ แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ และโครงการรีเทลหน้าตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ชื่อว่า “เอ็มสเปซ แอท เอ็มไพร์” ส่วนโครงการรีเทลย่านบางซื่อถูกชะลอไว้เนื่องจากติดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 
 
สำหรับกลุ่มโรงแรม ปีนี้มีการลงทุนใหญ่กว่า 3,000 ล้านบาท ปรับปรุงและรีแบรนด์โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค รับการใช้เชนบริหารของ “แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล” ภายใต้คอนเซ็ปต์ Uniqueness of Thai เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ รวมทั้งปรับปรุงโรงแรม The Imperial Adamas Beach Resort  จ. ภูเก็ต เพื่อเปลี่ยนมาใช้เชนบริหารของแมริออทฯ เช่นกัน 
 
นอกจากนี้ เปิดตัวโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส สาทร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป หรือ “ไอเอชจี” และถือเป็นโรงแรมภายใต้แบรนด์ “ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส” แห่งแรกของกลุ่มทีซีซีแลนด์ เพื่อเป็นตัวบุกตลาดโรงแรมระดับ 3 ดาว  
 
ส่วนโครงการตามแผนมาสเตอร์แพลน ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ โครงการระยะยาวและใช้เงินลงทุนสูงนั้น ในปีนี้ ทีซีซีแลนด์จะเริ่มก่อสร้างโครงการย่านเกษตร-นวมินทร์ เฟสใหม่ โดยวางคอนเซ็ปต์เป็น “ครีเอทีฟฮับ” ระดับภูมิภาค แบ่งเป็น 3 โซนหลัก คือ โซนเอ็นเตอร์เทนเมนท์ โซนดีไซน์ และโซนอาร์ต เฉพาะในโซนอาร์ตจะโปรโมตเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2 ปีข้างหน้า 
 
อันที่จริง มาสเตอร์แพลนของทีซีซีแลนด์วางไว้นานกว่า 10 ปี ตั้งเป้าจะสร้างเมืองที่มีทั้งโครงการที่อยู่อาศัย ศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์ประชุม โรงแรม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 3 จังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มี 3 แผน 3 ทำเล  ได้แก่ โครงการ “นวมินทร์ ซิตี้ มาสเตอร์แพลน” ย่านเกษตร-นวมินทร์ ที่ดินรวม 300-400 ไร่ คอนเซ็ปต์ “The Integrated Township” 
 
โครงการ “นอร์ธปาร์ค มาสเตอร์แพลน” พื้นที่หลังสนามกอล์ฟราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค ติดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 200-300 ไร่ คอนเซ็ปต์ “The Ultimate Town” และโครงการ “เอเชียทีคมาสเตอร์แพลน” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Unique Riverfront Destination” 
 
อีก 2 จังหวัด 2 แผน ได้แก่ โครงการชะอำ รีสอร์ท ทาวน์ มาสเตอร์แพลน ใน อ. ชะอำ จ.เพชรบุรี เนื้อที่มากกว่า 5,000 ไร่ และโครงการบางไทร มาสเตอร์แพลน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่มากกว่า 2,000 ไร่ 
 
มาสเตอร์แพลนทั้งหมดรอจังหวะและสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยในระยะ 3-5 ปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้ามาสเตอร์แพลนในส่วนโครงการนวมินทร์ซิตี้ รวมถึงโครงการบางไทร มาสเตอร์แพลน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการริมน้ำของเอเชียทีคมาสเตอร์แพลน เนื่องจากทีซีซีกรุ๊ปมีที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแปลง   
 
เช่น ที่ดินบริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊กติดโรงแรมโอเรียนเต็ล ที่ดินเปล่าย่านทรงวาด ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาบนถนนพระราม 3 ที่ดินบริเวณบางโคล่ ฝั่งธนบุรี ที่ดินริมน้ำในเขตบางกระเจ้า และที่ดินริมน้ำย่านบางไทร 
 
“ตอนนี้ทีซีซีแลนด์กำลังคุยกับโอเปอเรเตอร์เจ้าหนึ่ง เพื่อหยิบที่ดินริมน้ำมาพัฒนาโครงการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า ริเวอร์ฟรอนท์คอนเนคชั่น เรากำลังคุยเพื่อสรุปแผนและตัวเลขให้ชัดเจน” วัลลภากล่าว 
 
ขณะเดียวกันโครงการและมาสเตอร์แพลนยังเชื่อมต่อกับโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะการขยายกลุ่มรีเทลและคอมเพล็กซ์สไตล์ “มิกซ์ยูส” ของบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ป ซึ่งปีนี้มีอีกหลายโครงการ ทั้งเริ่มก่อสร้างและกำลังประมูลเพื่อช่วงชิงที่ดิน 
 
ไม่ว่าจะเป็นโครงการบนที่ดินเดิมของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน รัชดาภิเษก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับอาคารสำนักงาน “ไซเบอร์เวิลด์” ฝั่งตรงข้ามโครงการ “เอฟวายไอ เซ็นเตอร์” หัวมุมถนนพระราม 4-คลองเตย ฝั่งตรงข้ามศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมถึงการประมูลช่วงชิงที่ดิน 13 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนพระราม 1 หรือตลาดสามย่านเดิมของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ดิน 88 ไร่ บริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ตรงข้ามสวนลุมพินี รวมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งเตรียมลงทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน 
 
ปี 2557 ในขณะที่บรรดานักธุรกิจกำลังหวาดผวากับปัจจัยลบ ปัจจัยเสี่ยง ต้องยอมรับกับอัตราเติบโตแบบทรงๆ ทรุดๆ แต่ทีซีซีแลนด์กำลังเร่งสร้างโอกาสและวางหมากเกมใหม่ หวังเผด็จศึกตลาด “เออีซี” แบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด