วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์” ลั่นกลองรบ รุก “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน”

“ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์” ลั่นกลองรบ รุก “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน”

 
ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตนายแบงก์ กระโดดเข้ามาร่วมถือหุ้นและรับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเพียงบริษัทขนาดกลาง เหตุผลไม่ใช่แค่สัมพันธ์ฉันเพื่อนกับฉัตรชัย แก้วบุตตา ในฐานะร่วมวงก๊วนกอล์ฟมานานหลายสิบปีเท่านั้น แต่เกิดจากแนวคิดของฉัตรชัยเรื่องการสร้างระบบสินเชื่อรายย่อย หรือ “Micro Finance” อย่างมีมาตรฐาน คิดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม และสร้างโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” เพื่อเปิดช่องทางให้ลูกค้าระดับชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น  
 
โดยเฉพาะปีนี้ ฉัตรชัย แก้วบุตตา วางแผนการใหญ่เพื่อรุกตลาดสินเชื่อทะเบียนรถแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้าหมายขยายสาขาทั่วประเทศครบ 1,000 สาขา และผลักดันรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทภายใน 3-5 ปี 
 
การเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 250 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1-2  เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท และใช้ชื่อ “SAWAD” ในการซื้อขายหมวดธุรกิจการเงิน จึงเป็นความพยายามสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ หลังจากเน้นกลยุทธ์เจาะตลาดแบบ “เคาะประตูบ้าน” เข้าถึงชุมชนทุกอำเภอ ทุกตำบล อย่างเงียบๆ ไม่ได้ยิงสปอตโฆษณาถี่ยิบเหมือนคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา จนหลายคนเข้าใจผิดว่า แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” กับ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเจ้าเดียวกัน 
 
20 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวการเสนอขายหุ้น IPO และเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทั้งที่ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อมานานกว่า 30 ปีแล้ว พร้อมๆ กับการลั่นกลองรบ ใช้กลยุทธ์สร้างเครือข่าย “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” เป็นกลไกต่อสู้กับค่าย “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”  
 
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 ทำให้กลุ่มเอไอเอ ซึ่งมีกลุ่มอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป หรือ “เอไอจี” เป็นบริษัทแม่ ประกาศถอนหุ้นและขายกิจการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงตรายี่ห้อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาในปี 2552 
 
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ต้องสร้างแบรนด์และฐานลูกค้าใหม่ โดยใช้วิธีขยายสาขาเจาะพื้นที่และส่งตัวแทนเดินสายทำตลาดแบบเข้าถึงตัวผู้บริโภค เพราะไม่มีเงินก้อนโตทุ่มทำการตลาดผ่านทุกสื่ออย่างคู่แข่ง 
 
ปัจจุบัน กลุ่มศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน ภายใต้เครื่องหมายการค้า “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” โดยแบ่งการให้บริการตามประเภทสินเชื่อและหลักประกัน 3 บริษัท คือ 
 
บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ “SAWAD” ให้บริการสินเชื่อสำหรับหลักประกันประเภทรถทุกชนิด ยกเว้นรถยนต์สี่ล้อ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถบรรทุก รถบัส รถโดยสาร รถใช้งานเพื่อการเกษตร รถแทรกเตอร์ รถไถนา และรถเกี่ยวข้าว
 
บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1982  จำกัด หรือ “SP1982” ให้บริการสินเชื่อสำหรับหลักประกันประเภทรถยนต์สี่ล้อ รวมถึงบ้าน ที่ดิน ทาวน์ เฮาส์ และอาคารชุด ส่วนบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด หรือ “FM” ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ใหม่และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน โดยทั้ง 3 บริษัท มีสาขาทั่วประเทศรวมกว่า 600 แห่ง 
 
ดวงใจ แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านแมสมีเดีย แต่บริษัทกลยุทธ์เปิดสาขาและส่งตัวแทนทำกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้กลุ่มชาวบ้านรู้จุดที่ตั้งของสาขา ช่องทางการกู้เงินที่มีสัญญาชัดเจน สามารถใช้หลักประกันที่หลากหลาย สะดวกรวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย โดยสามารถแจ้งผลการอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 30 นาที ซึ่งได้ผลมากในแง่การได้ลูกค้าที่มีความต้องการแท้จริงและติดต่อติดตามได้ตลอดเวลา เนื่องจากลูกค้าสามารถติดต่อขอสินเชื่อจากสาขาในพื้นที่ได้ทันที
 
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาระหว่างปี 2553 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2556 พอร์ตสินเชื่อของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45%  ต่อปี จากปี 2553 อยู่ที่ 1,960 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,387 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2556   
 
ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจาก 557.24 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 1,306 ล้านบาท ในปี 2555 และ 1,402 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2556 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 362 ล้านบาท ในปี 2555 และ 443 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2556 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 401% ต่อปี 
 
ดวงใจระบุว่า บริษัทมีกลยุทธ์การเปิดสาขาในแหล่งพื้นที่ชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสาขาทั่วประเทศปีละ 50-100 แห่ง และครบ 1,000 แห่ง ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า พัฒนาระบบไอทีด้านต่างๆ และบุคลากร เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ และการบริหารติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะสามารถขยายพอร์ตสินเชื่อแตะที่ระดับ 8,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี เนื่องจากยังมีลูกค้าอีกกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน 
 
จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าจำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนของปี 2556 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 188,774.54 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2555 อยู่ที่ 168,517.16 บาทต่อครัวเรือน เป็นอัตราการเพิ่มด้วยตัวเลข 2 หลัก และสูงที่สุดตั้งแต่การสำรวจช่วง 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2551-2555 โดยในจำนวนหนี้ 188,774.54 บาท เป็นสัดส่วนหนี้ในระบบ 50.4% และหนี้นอกระบบ 49.6% โดยมีการผ่อนชำระเดือนละ 11,671.93 บาท
 
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ก่อหนี้ตามรายได้พบว่า กลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนการก่อหนี้นอกระบบถึง 50% กลุ่มรายได้ 5,000-15,000 บาท จะมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบใกล้เคียงกันที่ 42-44% ส่วนกลุ่มที่รายได้เกิน 15,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ 43-46%
 
“พอร์ตสินเชื่อของบริษัทแยกเป็นสินเชื่อทะเบียนรถ 82% บ้านและที่ดิน 13% สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อีก 5% โดยลูกค้าในต่างจังหวัดมีความต้องการใช้เงินสูงและมักกู้นอกระบบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงมาก และคิดเป็นรายวัน ขณะที่สินเชื่อของบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี บริษัทจึงเน้นการเจาะตลาดในต่างจังหวัดเป็นหลัก”
 
แต่แน่นอนว่า ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากมีสถาบันการเงินแห่เข้ามาเปิดบริการสินเชื่อ “รถแลกเงิน” เกือบทุกค่าย โดยเฉพาะค่ายธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุ่มทุนปลุกแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จนติดตลาด ตามนโยบายเจาะสินเชื่อรายย่อย ตั้งแต่ยุคที่มีกลุ่มจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จนกระทั่งยุคธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ : BTMU)ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group: MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 72% 
 
เทียบขนาดเงินทุนแล้ว กลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือเป็น “ยักษ์” ในธุรกิจการเงิน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย เป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชี (ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคล) มากกว่า 6.3 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ ทั้ง “กรุงศรี ออโต้” และ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”ผ่านบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด 
 
เมื่อปี 2556 บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด ใช้เม็ดเงินกว่า 100ล้านบาท รีแบรนด์ดิ้ง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” เพื่อสร้างความแตกต่างจากแบรนด์ “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” ของกลุ่มศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ รวมทั้งปรับโฉมสาขา เน้นคำว่า “เงินติดล้อ” ให้โดดเด่น และเน้นความหลากหลายของหลักประกัน ทั้งรถเก๋ง รถกระบะ มอเตอร์ไซค์ รถตู้ รถบัส รถบรรทุก รถไถ รถแทรกเตอร์ ซึ่งล่าสุดมียอดสินเชื่อรวม 9,300 ล้านบาท และมีจำนวนสาขา ณ สิ้นปีที่ผ่านมา 300 แห่งทั่วประเทศ 
 
ล่าสุด ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด ประกาศแผนการดำเนินงานใน 3 ปีข้างหน้าของ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จะมียอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท  เน้นสินเชื่อรถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ และรถไถ รวมทั้งสินเชื่อตลาดสด โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวต้องเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดและมีเครือข่ายสาขามากที่สุด 
 
แม้กลุ่มศรีสวัสดิ์ 1979 อาจมีข้อได้เปรียบในแง่จำนวนสาขา หลักประกันที่หลากหลายกว่าและเน้นความง่ายตามโมเดลธุรกิจ  แต่คู่ต่อสู้อย่าง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” มีทั้งเงินบนหน้าตักก้อนใหญ่กว่าหลายเท่า เครือข่ายและแบ็กอัพระดับยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น แผนเปิดเกมรุกช่วงชิงลูกค้าอีก 20 ล้านคน ร้อนฉ่าแน่
 
Related Story