ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งในสังคมที่ดูเหมือนจะหาจุดลงตัวและบทสรุปแห่งปัญหาได้อย่างยากลำบาก ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยยังปรากฏกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความรักและกำลังส่งมอบโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ต้องขังหญิงให้สามารถกลับมามีชีวิตใหม่อย่างปกติสุขได้อีกครั้ง
“นับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งต่อผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน รวมไปถึงทางเรือนจำต่างๆ และผู้ต้องขังหญิงทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเปิดร้านนี้ขึ้น เป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยผู้ต้องขังหญิง เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนผู้ต้องขังหญิง เป็นทุนต่อการคืนสู่สังคมเมื่อถึงวันปล่อยตัว การที่เราได้สนับสนุนร้านนี้นอกเหนือจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ผู้ต้องขัง ยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมของเรือนจำซึ่งทำภารกิจในการปรับพฤติกรรมคนซึ่งเคยกระทำผิดให้คืนสู่สังคมอย่างเป็นคนดีแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการให้อภัย ให้กำลังใจซึ่งกันและกันและให้โอกาส มอบความรักให้แก่ทุกท่าน”
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของโอวาทที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงประทานให้กับผู้ร่วมงานเปิดร้าน “24th JULY” ณ The Scenery Vintage Farm อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งย่อมสะท้อนแนวพระดำริและความคิดที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่ากรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์แห่งสถาบันกษัตริย์ไทย จะดำเนินไปเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับปวงประชาราษฎร์อยู่เนืองๆ และเนิ่นนาน แต่สำหรับกิจการเพื่อสังคม ในนาม “24th JULY” ภายใต้มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กำลังเป็นประหนึ่งการเปิดมิติใหม่ให้กับกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ด้วยการผสมผสานแนวความคิดและการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจให้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น
เพราะแม้ว่าผลิตภัณฑ์ภายในร้าน “24th JULY” จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือการผลิตของผู้ต้องขังหญิง ภายในเรือนจำทั่วประเทศ ที่ทางมูลนิธิได้ส่งเจ้าหน้าที่หรือวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปฝึกอบรม และให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังหญิงในการทำงานฝีมือต่างๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญและสามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างสวยงามขึ้นมาจำหน่ายได้ แต่จุดแตกต่างกลับอยู่ที่มิติของการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
โดยสินค้าส่วนใหญ่ของ “24th JULY” จะเน้นไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์แบบออร์แกนิกจากธรรมชาติ ซึ่งประกอบส่วนด้วยผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ตะกร้าหวาย ตะกร้าไม้อเนกประสงค์สไตล์วินเทจ และยังมีผลิตภัณฑ์อโรมาเธอราพี ทั้งถุงเครื่องหอม เทียนหอมอโรมาสำหรับจุดภายในบ้านเพื่อความรู้สึกสดชื่น และผ่อนคลาย รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย โดยเฉพาะสบู่น้ำผึ้ง ที่ได้ผสมผสานคุณค่าของน้ำผึ้งบริสุทธิ์ กับวิตามินต่างๆ และใยบวบบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื่น
มิติของการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-ระดับบน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ “24th JULY” มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ที่คุ้นเห็นเจนตาไม่น้อย
“พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภารับสั่งว่า ต้องมีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และให้เป็นแบรนด์ที่เกื้อกูลกับผู้ต้องขังโดยตรง สิ่งสำคัญคือให้รักษาคุณภาพสินค้าและแบรนด์สินค้า เพราะเราไม่ได้ตั้งมูลนิธินี้เป็นการชั่วคราว เราต้องดำเนินการอย่างถาวร ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะต้องมีคุณภาพ มีแบรนด์สินค้าที่แข็งแรง” พลกฤษณ์ สุขเกษม ประธานกรรมการบริหารเดอะซีนเนอรี่ วินเทจฟาร์ม (The Scenery Vintage Farm) ระบุถึงแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “24th JULY”
โดยนอกจากผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าประเภทดูแลผิวพรรณ ทั้งสครับ สบู่และไม้หอมแล้ว ในอนาคตจะขยายไลน์ไปสู่เฟอร์นิเจอร์ และเบเกอรี่ ซึ่งในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถผลิตและมีอยู่แล้ว แต่จะต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้
“ผลิตภัณฑ์ 24th JULY จะคงคอนเซ็ปต์ของงานที่มีความสมัยใหม่ ดูว่าเรือนจำไหนชำนาญอะไรเราก็จะเข้าไปให้การส่งเสริม เพื่อวงจรผลิตสินค้าของผู้ต้องขังจะต้องเป็นจริงทั้งเรื่องความรู้และรายได้ โดยการให้ความรู้เรื่องการออกแบบดีไซน์ พัฒนาความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อความโดดเด่นเรื่องฝีมือการผลิต”
วัตถุประสงค์ของการทำร้านค้า ในนาม “24th JULY” นี้ก็คือการต่อวงจรของการผลิตสินค้าของผู้ต้องขังให้เป็นจริงโดยเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ใช้งานได้จริงโดยได้นำคนดีไซน์ และครูเข้าไปสอนผู้ต้องขัง มีการแชร์ความรู้วิชาชีพไอเดียการออกแบบไปจนถึงการผลิต และมอบรายได้กลับให้ เรือนจำไหนโดดเด่นในสินค้าอะไรก็จะผลักดันเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นภาพลักษณ์ใหม่ๆ ทันสมัย คนทั่วไปได้เห็นแล้วจะไม่คิดว่าเป็นสินค้าของคนในเรือนจำเลย นับเป็นช่องทางของการตอบแทนสังคมที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง พร้อมส่งเสริมแรงงานและให้อนาคตคนได้อีกด้วย
สอดรับกับเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธานมูลนิธิณภาฯ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ระบุว่า มูลนิธิฯ ได้เข้าฝึกสอนและพัฒนาความรู้พร้อมทั้งฝีมือ โดยนำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้าอบรมฝึกวิชาชีพต่างๆ แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้เกิดความชำนาญเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มเติมฐานความรู้เดิมเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ใหม่ของผลิตภัณฑ์
สำหรับที่มาของชื่อร้าน “24th JULY” ที่ได้กลายเป็นแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จมาประทับแรม ณ เดอะซินเนอรี่รีสอร์ท อ.สวนผึ้ง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. และประทานพระอนุญาตให้ผู้บริหารของรีสอร์ตร่วมโต๊ะเสวยด้วย ซึ่งคณะผู้บริหารรีสอร์ตได้แสดงเจตจำนงให้การสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงมีพระกระแสรับสั่งให้คณะผู้บริหารรีสอร์ตหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดก็ได้ถือเอาวันที่ 24 ก.ค. เป็นชื่อร้าน และเพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณขององค์ประธานมูลนิธิฯ ที่ทรงประทานพระอนุญาตให้ทางรีสอร์ตจำหน่ายสินค้าของมูลนิธิฯ
นัยความหมายของ “24th JULY” และความประสงค์ของมูลนิธิ ณภาฯ ในมิติของการให้โอกาสปรากฏชัดเจนและสังเกตเห็นได้จากพิธีเปิดร้าน ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะองค์ประธานมูลนิธิ เสด็จเปิดร้านค้าส่วนพระองค์ โดยในการนี้ทรงปล่อยแกะดำไปสู่ฝูงแกะขาว ที่มีความหมายว่าเป็นการให้โอกาสผู้ที่เคยเข้าเรือนจำให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติอีกด้วย
แม้ว่ารูปแบบการบริหารจัดการของ “24th JULY” จะดำเนินไปภายใต้กรอบโครงของมูลนิธิ ณภาฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าบทบาทของ The Scenery Vintage Farm ซึ่งมีวาระฉลองครบรอบ 10 ปีของการดำเนินธุรกิจในปี 2557 นี้ ก็มีส่วนในกิจการเพื่อสังคมในฐานะกลไกชิ้นเล็กๆ ที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ช่วยกระตุ้นและสร้างกระแสความตื่นตัวว่าด้วยกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ย่อมแตกต่างจากการดำเนินกิจกรรมในลักษณะของ CSR ขององค์กรธุรกิจทั่วไป
การประยุกต์ทักษะด้านการตลาด และยุทธศาสตร์ทางธุรกิจให้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันและหนุนนำกิจการทางสังคมของ The Scenery Vintage Farm ควบคู่กับโครงข่ายการปฏิบัติงานของมูลนิธิ ณภาฯ ที่ประกอบส่วนอยู่กับหน่วยงานภาครัฐหลากหลาย อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่นำพาและเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสอีกจำนวนมากได้เก็บรับดอกผลแห่งความเอื้ออารีนี้
และนับเป็นการส่งมอบความรัก เพื่อโอกาสใหม่ที่ดีกว่า สำหรับทุกคน