วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ไปดูเบสบอล

ไปดูเบสบอล

 
อาจจะด้วยเหตุที่บ้านเรือนของชาวญี่ปุ่นมีขนาดเล็ก จึงเป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นนิยมแสวงหากิจกรรมยามว่างด้วยการออกไปพักผ่อนกลางแจ้ง ซึ่งไล่เรียงได้ตั้งแต่กิจกรรมชมดอกซากุระ การเดินป่า หรือแม้กระทั่งไปชมกีฬาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกีฬาเบสบอล ที่ถือเป็นกีฬายอดฮิตของชาวญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน
 
ฤดูการแข่งขันเบสบอลของญี่ปุ่นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม เรื่อยไปจนถึงปลายเดือนกันยายน ของแต่ละปี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเริ่มต้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ผ่านฤดูร้อน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสำหรับการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง
 
การนัดหมายไปพบกันในสนามแข่งขันเบสบอล เป็นวิถีของผู้คนในวัยทำงานในญี่ปุ่นก็ว่าได้ โดยใครไปก่อนก็นั่งชมนั่งเชียร์ทีมที่แข่งขันไปพลางๆ พร้อมกับรองท้องด้วย ทักโกะยากิ และยากิโซบะ แกล้มไปกับเบียร์สดที่มีสาวเบียร์เดินขายอยู่ทั่วทุกมุมบนอัฒจันทร์ของสนาม
 
แต่หากจะเรียกสาวเบียร์สดของญี่ปุ่นว่าสาวเชียร์เบียร์แบบในบ้านเราคงไม่ถูกต้องนัก เพราะหน้าที่ของพวกเธอแทบไม่ต้องเชียร์เลย เนื่องจากในสังคมญี่ปุ่นนั้น ใครที่เป็นแฟนเบียร์ยี่ห้อใด ก็จะรักใคร่อยู่เฉพาะเบียร์ยี่ห้อนั้น อย่างสุดใจ เรียกว่ามีแบรนด์รอยัลตี้สูงจริงๆ
 
หน้าที่ของสาวเบียร์ในสนามแข่งขันเบสบอลเหล่านี้ จึงอยู่ที่การแบกถังเบียร์สดขึ้นหลัง โดยมีคันโยก สำหรับกดปั๊มรินเบียร์ใส่แก้ว มองดูคล้ายเป็นถังออกซิเจนของมนุษย์อวกาศ ในขณะเดียวกันในบางมุมมองก็เหมือนเกษตรกรกำลังฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชไม่น้อยเช่นกัน
 
การดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาก็ดีหรือที่อื่นๆ ในสังคมญี่ปุ่นไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นกิจกรรมผิดบาปเหมือนในบ้านเรานะคะ เพราะเขาถือว่าทุกคนต้องดูแลสุขภาพร่างกายและสติได้อยู่แล้ว จะมียกเว้นก็เฉพาะในยามที่ต้องขับขี่ยวดยานพาหนะ ซึ่งกฏหมายว่าด้วยการขับขี่ขณะมึนเมาหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์เดชของแอลกอฮอล์นั้นหนักหน่วงมากจนไม่มีใครอยากเสี่ยง
 
กระนั้นก็ดี ใช่ว่าการไปนั่งชมเบสบอลในสนามแข่งขันจะให้บรรยากาศแบบเดียวกันหมด
 
เพราะด้วยเหตุที่การสร้างสนามเบสบอลในเขตเมืองใหญ่ๆ หมายถึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ทั้งค่าที่ดินและการก่อสร้าง สนามเบสบอลรุ่นใหม่ๆ จึงพัฒนาปรับปรุงให้มีความสามารถในการรองรับกิจกรรมได้หลากหลายขึ้น แทนที่จะเป็นเพียงสนามกีฬาอย่างเดียว
 
กิจกรรมที่เพิ่มมากขึ้นควบคู่กับความพยายามที่จะเอาชนะขีดจำกัดเรื่องดินฟ้าอากาศทำให้รูปแบบของสนามเบสบอลรุ่นใหม่ๆ แปลงสภาพเป็นสนามในร่ม หรือ indoor stadium ซึ่งมีหลังคาปิดและควบคุมอุณหภูมิภายในด้วยเครื่องปรับอากาศ
 
เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผู้เขียนคนหนึ่ง เธอพูดถึงสนามเบสบอลแบบที่มีหลังคานี้ด้วยภาษาไทยที่น่ารักแบบของเธอว่า “สนามที่มีฝาปิด” ส่วนสนามเบสบอลแบบดั้งเดิมก็ถูกเธอเรียกว่า “สนามไม่มีฝา” ซึ่งฟังแล้วก็ให้ความรู้สึกชัดเจนและน่าเอ็นดูไปอีกแบบหนึ่ง
 
แม้ว่าเธอจะเป็นแฟนของทีม โยมิอูริ ไจแอนท์ (Yomiuri Giant) ทีมดังประจำกรุงโตเกียวแต่เธอกลับไม่ชอบเดินทางไปเชียร์ทีมโปรดของเธอใน Tokyo Dome ซึ่งเป็นสนามเหย้าประจำของทีมนี้มากนัก โดยเธอให้เหตุผลว่าการนั่งชมเบสบอลในสนามฝาปิด ไม่ได้ให้ความรู้สึกของการได้ออกไปสู่พื้นที่โล่งแจ้งและอากาศบริสุทธิ์ แต่กลับเป็นเพียงห้องแอร์ใหญ่ๆ ที่มีคนเยอะๆ เท่านั้น
 
ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับเธอตั้งแต่แรก จนกระทั่งโรงเรียนของลูกชายมีจดหมายเชิญให้ผู้ปกครองพาลูกหลานไปนั่งชมการแข่งขันเบสบอลของทีม ยาคูลต์ สวอลโลว์ (Yakult Swallow) แต่ถ้าจะอ่านออกเสียงให้ได้บรรยากาศญี่ปุ่นจริงๆ ก็คงต้องออกเสียงเป็น ยัก-คู-ลุ-โตะ สุ-วา-โละ ซึ่งสำหรับผู้เขียนนั้น การเติบโตมากับการเรียกขาน Yakult ว่า “ยา-คู้ลต์” แบบไทยๆ มาตลอด ก็อดมีอาการอมยิ้มไม่ได้เหมือนกัน
 
ยาคูลต์ สวอลโลว์ เป็นทีมเบสบอลอาชีพร่วมเมืองอยู่ในกรุงโตเกียวเหมือนกัน แม้จะไม่ได้มีแฟนคลับมากเท่าโยมิอูริ ที่มีผู้สนับสนุนและถือหุ้นใหญ่ของทีมเป็นสื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่น แต่อย่ามองข้ามสปิริตของกองเชียร์แฟนพันธุ์แท้ของทีมยาคูลต์นะคะ ขณะเดียวกันการแสวงหาแฟนคลับรุ่นใหม่ๆ ให้กับทีมก็นำไปสู่การจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขันราคาพิเศษให้กับนักเรียนในระดับประถมและมัธยมได้ไปร่วมเชียร์กับผู้ปกครอง
 
ราคาบัตร 1,000 เยน สำหรับผู้ปกครองหนึ่งท่านที่จะเข้าชมร่วมกับบุตรหลานที่เข้าชมฟรีนั้น ไม่ได้จบลงเพียงการผ่านประตูเข้าไปในสนามเท่านั้น เพราะที่หน้าประตูทางเข้ายังมีหมวกที่มีสัญลักษณ์ประจำสโมสร อุปกรณ์การเชียร์ประเภทมีเสียงทั้งมือตบ แบบที่พี่ไทยเรานำมาประยุกต์ใช้ในการชุมนุม และแตรเป่าแถมให้เป็นที่ระลึกสำหรับเยาวชนตัวน้อยด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีถุงใส่ผลิตภัณฑ์ของยาคูลต์ ซึ่งในญี่ปุ่นมีมากกว่านมเปรี้ยว ให้อีกหนึ่งถุง นัยว่าเป็นการส่งเสริมการขายโดยอ้อม ด้วยการสร้างความคุ้นชินและรับรู้การมีอยู่ของผลิตภัณฑ์ในเครือ กิจกรรมการไปชมการแข่งขันเบสบอลของทีมอย่างยาคูลต์ สวอลโลว์ จึงเหมือนกับการเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาดขนาดใหญ่ ควบคู่กับกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมหรือที่เรียกกันติดปากในเมืองไทยขณะนี้ว่า CSR ก็ไม่ปาน
 
สนามแข่งขันของทีมยาคูลต์ ซึ่งชื่อว่า เมจิ จิงกุ (Meiji Jingu) ถือเป็นสนามแข่งขันเบสบอลที่มีประวัติการณ์ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่แปลกแตกต่างจากการไปนั่งชมเบสบอลในสนามฝาปิดดังที่เพื่อนญี่ปุ่นของผู้เขียนบอกไว้จริงๆ 
 
เพราะขณะที่เกมการแข่งขันดำเนินไปสักครึ่งทางก็เกิดมีฝนโปรยปรายลงมา แฟนของยาคูลต์ซึ่งนั่งอยู่รอบข้างผู้เขียนต่างลุกขึ้นยืน 
 
อย่าเพิ่งตกใจค่ะ…พวกเขาไม่ได้ลุกหนีเม็ดฝนที่ร่วงหล่นลงมาจากฟ้า หากแต่ต่างหยิบร่มกันฝน ที่พกพามาด้วยออกมากางแล้วโยกตัวร้องเพลงกันอย่างครึกครื้น เพิ่มสีสันการเชียร์เบสบอลให้สนุกสนานยิ่งขึ้นไปอีก
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่ทีมยาคูลต์แสดงผลงานได้ดี ท่าการยกร่มที่กางอยู่ขึ้นสุดแขนพร้อมกันของแฟนๆ บนอัฒจันทร์ คงเป็นแรงใจที่สนับสนุนนักกีฬาในสนามได้เป็นอย่างดี และตรงนี้ล่ะที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจและเห็นด้วยกับเพื่อนญี่ปุ่นเต็มที่ถึงความหมายว่าด้วยการออกไปกลางแจ้งในแบบของคนญี่ปุ่น
 
เพราะเมื่อถึงจุดนั้นไม่ว่าจะเป็นการเปียกปอน หรือความร้อน ความหนาว รวมถึงผลการแข่งขันในสนามเบื้องล่างก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่รื่นรมย์นี้แล้วละ…จริงไหมคะ