วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ปัญหาทางจิตใจของเด็กๆ ผลกระทบที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย

ปัญหาทางจิตใจของเด็กๆ ผลกระทบที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย

 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์การต่อสู้อย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,300 คนเป็นอย่างน้อยภายในเวลาหนึ่งวัน เหตุการณ์นี้เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดี Bashar Al-Assad ได้สั่งการให้กองทัพทิ้งระเบิดเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในเขตเมืองกัวตาห์ (Ghouta) ซึ่งเป็นเขตชานเมืองของกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรีย (Syrian Arab Republic) หลังจากการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยืดเยื้อมานานกว่า 29 เดือนแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นสงครามกลางเมืองของประเทศซีเรียที่ใช้ความรุนแรงมากที่สุด 
 
ชนวนเหตุของสงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มขึ้นจากการที่ประชาชนในหลายประเทศของกลุ่มตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือได้ลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลของตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลงจากตำแหน่ง หลังจากที่ผูกขาดอำนาจในประเทศมานานหลายทศวรรษ การเรียกร้องในครั้งนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่ประเทศตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน เป็นต้น ประเทศซีเรียเองก็เป็นหนึ่งประเทศในตะวันออกกลางที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เรียกว่า Arab Spring (อาหรับสปริง หรือการปฏิวัติในประเทศอาหรับ)
 
สงครามกลางเมืองซีเรียในครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไปและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ จากการต่อสู้ในครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคม ปี 2556 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด73,455 ราย โดยผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นทหารและนักรบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และยังมีผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเมืองอีกประมาณ 22,436 ราย เนื่องจากทางฝ่ายรัฐบาลยังคงใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังได้กล่าวอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลใช้อาวุธเคมีรวมไปถึงแก๊สพิษเข้าทำร้ายประชาชน แม้ว่าในภายหลังรัฐบาลซีเรียจะออกมาปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริงก็ตาม เรื่องนี้ทำให้องค์การสหประชาชาติได้ทำเรื่องขอเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
 
เนื่องจากสงครามกลางเมืองครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากและมีผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเมืองเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนองค์การสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนทั่วไป และสหภาพยุโรป (European Union หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EU) ได้ออกมาตรการคว่ำบาตร พร้อมๆ กับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพยายามกดดันรัฐบาลซีเรีย ด้วยการอายัดทรัพย์สินในต่างประเทศของผู้นำซีเรียและแกนนำระดับสูงของรัฐบาลซีเรีย และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Bashar ลาออกจากตำแหน่งโดยเร็ว แต่มาตรการคว่ำบาตรและการเรียกร้องจากสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลยังคงใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในการกวาดล้างผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
 
การเกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศซีเรีย และทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย และขาดแคลนสิ่งของอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้สงครามกลางเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนชาวซีเรียและรวมไปถึงเด็กๆ ที่ต้องเห็นภาพและได้รับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงไปด้วย ทำให้สภาพจิตใจของผู้คนชาวซีเรียอยู่ในสภาพย่ำแย่
 
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขนาดผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากสงคราม ยังมีสภาพจิตใจที่แย่มากๆ ถึงขนาดที่ต้องพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาทางจิตใจ แล้วเด็กที่ต้องมาพบเจอความรุนแรงเหล่านี้จะมีสภาพจิตใจที่แย่กว่าผู้ใหญ่มากขนาดไหน
 
ที่ค่ายลี้ภัยในประเทศจอร์แดน ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้คนชาวซีเรียมากกว่า 5 แสนคน และมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยรักษาเยียวยาจิตใจของผู้คนที่ประสบกับความรุนแรงมาเป็นเวลานาน โดยให้คนที่อยู่ในกลุ่มนี้เล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นๆ ฟังและมีการพูดคุยกันเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น 
 
ในการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาภายในค่ายลี้ภัยพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มีปัญหาเดียวกันคือ ลูกๆ ของพวกเขาได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสงครามกลางเมืองในครั้งนี้ ทำให้เด็กมีอาการต่างๆ กันไป เช่นใช้ความรุนแรง มีพฤติกรรมคล้ายๆ เด็กที่เป็นออทิสติก มีอาการต่อต้านสังคม ไม่ต้องการพูดคุยหรือเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ตอนกลางคืนจะนอนฝันร้ายทุกคืน และมีความวิตกกังวลและเกิดความกลัวอย่างรุนแรงในเวลากลางวัน เป็นต้น พฤติกรรมของเด็กๆ เหล่านี้ทำให้คนเป็นแม่รู้สึกลำบากมากขึ้นกว่าเดิมในการดูแลลูกๆ ของพวกเธอในแต่ละวัน
 
พฤติกรรมของเด็กๆ  เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะแย่ลงเรื่อยๆ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงไป อย่างเช่น การได้ยินเสียงของเครื่องบินหรือเห็นผู้ชายที่ใส่เครื่องแบบเดินมาก็จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีความเครียดมากขึ้นไปอีก
 
อาสาสมัครที่เป็นผู้นำในการตั้งกลุ่มการรักษาเยียวยาจิตใจของผู้คนเหล่านี้ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เพราะเด็กๆ ได้เห็นภาพความโหดร้ายและรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง หรือเห็นภาพความรุนแรงจากทีวีและอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้พวกเขาเกิดความกลัวและความเครียดมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้พวกเขาจะปลอดภัยแล้วก็ตาม แต่ในจิตใจของพวกเขายังรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยอยู่ ทำให้เกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ ขึ้นมา และเมื่อเด็กๆ มีพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป พฤติกรรมเหล่านี้จะอยู่กับพวกเขาไปตลอด
 
เมื่อเด็กๆ มีพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่เด็กที่มีจิตใจย่ำแย่ แต่คนเป็นแม่ก็มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ไม่เพียงแต่พวกเธอจะรู้สึกแย่กับสงคราม พวกเธอยังต้องรู้สึกแย่มากขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกๆ อีกด้วย 
 
ผู้หญิงชาวซีเรียวัย 38 ปี Hanan Fikawi มีลูกทั้งหมด 5 คนด้วยกัน ได้เล่าเรื่องของเธอให้ฟังว่า เธออาศัยอยู่ที่เมือง Homs แล้ววันหนึ่งก็มีข่าวว่าทหารของรัฐบาลถูกส่งออกมาให้ฆ่าประชาชน เธอจึงพาลูกๆ ของเธอลงไปอาศัยอยู่ในหลุมหลบภัยซึ่งอยู่ที่ชั้นใต้ดินในบ้านของเธอ เธอต้องนั่งอยู่ในหลุมหลบภัยด้วยความกลัวตลอดเวลา และไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นข้างบนบ้าง ลูกๆ ของเธอต่างก็ร้องไห้ตลอดเวลาด้วยความกลัว วันต่อมาเธอจึงขึ้นมาข้างบนแล้วเห็นข่าวจากในทีวีว่าเพื่อนบ้านของเธอถูกฆ่าตาย และมีการสังหารหมู่ในหมู่บ้านของเธอ ทุกคนเสียชีวิตหมดไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือผู้หญิง
 
Hanan รู้สึกว่าเมืองของเธอไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว เธอจึงย้ายไปอยู่ตามที่พักฉุกเฉินต่างๆ จนกระทั่งเดินทางไปถึงค่ายลี้ภัยในประเทศจอร์แดน และเมื่อเธอไปถึงค่ายลี้ภัยเธอก็พบว่าสุขภาพของเธอย่ำแย่มาก เธอมีอาการของคนเป็นโรคไทรอยด์ รู้สึกปวดกระดูกไปทั่วร่างกายและเริ่มที่จะสูญเสียการมองเห็นลงเรื่อยๆ Hanan มีอาการเหล่านี้ก็เพราะเธอมีความเครียดสูงมากจากการที่ต้องสูญเสียบ้านไปและทำให้เธอและลูกๆ ไม่มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป และเมื่อเธอมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดี ทำให้เธอไม่สามารถดูแลลูกๆ ได้อย่างเต็มที่ 
 
นอกจากนี้เธอยังเครียดกับพฤติกรรมของลูกๆ เธออีกด้วย ลูกสาวเธอคนหนึ่งอายุ 5 ขวบ จะหยิก Hanan ทุกครั้งที่เธอต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ในขณะที่ลูกๆ คนอื่นๆ เริ่มมีทัศนคติที่มีความรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นว่าพวกลูกๆ ของเธอจะเล่นเป็นทหารที่ต้องการต่อต้านรัฐบาลและต้องการจะยิงหรือฆ่าคนอื่นๆ ตายให้หมด พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ Hanan ไม่รู้ว่าจะดูแลลูกๆ ของเธออย่างไรที่จะทำให้พฤติกรรมเหล่านี้หายไปจากลูกๆ ของเธอ
 
มีผู้คนชาวซีเรียและเด็กๆ เป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้ และต้องการการรักษาเยียวยาทางจิตใจ ทำให้ค่ายลี้ภัยในแต่ละค่ายพยายามให้การช่วยเหลือ อย่างเช่นค่ายลี้ภัยที่ Mafraq จะเน้นการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้หญิง ในขณะที่บางค่ายลี้ภัยจะให้ความสนใจในการรักษาเยียวยาทางจิตใจให้กับเด็ก
 
นอกจากค่ายลี้ภัยจะพยายามช่วยรักษาเยียวยาทางจิตใจเท่าที่ทำได้แล้ว International Humaniatarian Organization ยังได้สนับสนุนให้มีการตั้งศูนย์รักษาพยาบาลเพื่อรักษาผู้คนในยามฉุกเฉินและในระยะยาวสำหรับผู้คนชาวซีเรียที่ลี้ภัยมาอยู่ที่จอร์แดน โดยเฉพาะการรักษาเยียวยาทางจิตใจสำหรับผู้หญิงและเด็ก 
 
ศูนย์รักษาพยาบาลนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มรักษาบำบัดสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 8-15 ปีขึ้นมาอีกด้วย โดยกลุ่มนี้จะเน้นให้เด็กๆ มารวมกันและบอกวิธีการรักษาอาการและพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความเครียดจากสงครามโดยการใช้รูปภาพ และให้ข้อคิดต่างๆ กับเด็กๆ
 
Mohammed Abu Hilai ซึ่งเป็นหมอจิตวิทยาที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์พยาบาลนี้ได้กล่าวว่า ถ้าไม่รีบทำการรักษาอาการทางจิตใจของเด็กๆ ตั้งแต่วันนี้ ในวันข้างหน้าพวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่นำปัญหามาสู่สังคม อย่างเช่นการติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ และยังอาจจะมีอาการต่อต้านสังคม โดยอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากพูดคุยหรือรู้จักใครๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ Mohammed ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เด็กที่สูญเสียพ่อแม่ไปในสงครามหรือเด็กที่สูญเสียพ่อไป มักจะมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ดังนั้นเด็กเหล่านี้จำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการเยียวยา
 
การมีศูนย์พยาบาลและกลุ่มต่างๆ ที่จัดขึ้นในค่ายลี้ภัยนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องดีทั้งสิ้น แต่ปัญหาเรื่องการรักษาเยียวยาจิตใจของเด็กๆ นั้นก็ยังคงมีอยู่ ปัญหาหลักๆ เลยคือ พ่อแม่ไม่มีเงินเพียงพอในการที่จะส่งลูกไปหาหมอเพื่อรักษาอาการทางจิตใจ เพราะเมื่ออยู่ในช่วงสงครามนั้นต้องใช้เงินอย่างประหยัดมากๆ ดังนั้นการที่เด็กๆ จะได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจนั้นจึงเป็นไปได้น้อยมาก
 
สงครามไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่ทำให้ทุกอย่างแย่ลงและส่งผลกระทบต่อทุกคนถ้วนหน้าโดยเฉพาะเด็กๆที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย และเด็กยังคงเป็นกำลังสำคัญของชาติที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ถ้าหากว่าเด็กมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้อย่างไร การเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ จึงควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้เด็กๆ เหล่านี้ได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจมากขึ้น