วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสใหม่ของ “ชาร์ป”

พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสใหม่ของ “ชาร์ป”

 
ความตื่นตัวว่าด้วยพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต่างเร่งระดมสรรพกำลังในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงาน และดูเหมือนว่าผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่จากปรากฏการณ์นี้
 
การปรากฏตัวขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะดำเนินไปท่ามกลางข้อถกเถียงถึงความคุ้มค่าการลงทุนและความเหมาะสมของการเป็นพลังงานทางเลือก ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังสำหรับอนาคตในระดับมหภาค แต่สำหรับมิติมุมมองในทางธุรกิจแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ กำลังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
 
ความเคลื่อนไหวเช่นว่านี้ประเมินได้จากการลงนามข้อตกลงสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ระหว่างชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัดเพื่อร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ในจังหวัดลพบุรี
 
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ มีกำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้แล้วเสร็จและดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของชาร์ปในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่า 150 เมกะวัตต์
 
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการได้มอบหมายให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้รับเหมา ก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศไทย และบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จํากัด ดูแลเรื่องงานก่อสร้างและการวางระบบไฟฟ้า 
 
ขณะที่บริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จะทำหน้าที่จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และควบคุมทุกขั้นตอนการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
 
ในฐานะที่เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาเทคโนโลยี ชาร์ปเลือกที่จะใช้เทคโนโลยีที่ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางหรือ Thin-film solar module ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึกแล้ว จะให้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่า โดยในโครงการนี้ ชาร์ปได้จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนกว่า 400,000 แผง พร้อมด้วยระบบต่างๆ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งบนพื้นที่กว่า 1.30 ตารางกิโลเมตร
 
สำหรับในส่วนของบริการบำรุงรักษาจะเป็นหน้าที่ของบริษัทชาร์ป โซลาร์ เมนเทนแนนซ์ เอเชีย จำกัด (SSMA) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของชาร์ป ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติและผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยจะมีการตรวจตราและให้บริการทั่วทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
 
การรุกของชาร์ปในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นตัวอย่างและก้าวย่างที่น่าสนใจไม่น้อยหากประเมินจากข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจญี่ปุ่นกำลังจะต้องหาหนทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการประคองและฝ่าฟันกับการแข่งขันในโลกธุรกิจซึ่งญี่ปุ่นถูกผลักให้สูญเสียบทบาทนำให้กับคู่แข่งขันทั้งจากเกาหลีใต้และจีน ในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา
 
ขณะเดียวกันจังหวะก้าวขององค์กรธุรกิจระดับนำของญี่ปุ่นเหล่านี้ ยังเป็นภาพสะท้อนที่สอดรับกับแนวนโยบายใหม่ๆ ที่ผลักดันโดย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Beautiful Japan หรือการรุกด้วย Abenomic เพื่อกระตุ้นและนำพาญี่ปุ่นให้กลับมามีสถานะนำในโลกธุรกิจอีกครั้ง
 
นอกจากนี้ การรุกเพื่อลงหลักปักฐานว่าด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของชาร์ป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากแต่ชาร์ปได้แทรกตัวเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
 
จากฐานข้อมูลความต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน พบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้การจัดส่งพลังงานแสงอาทิตย์ของชาร์ปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,139 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2555 มาสู่ที่ระดับ 1,800 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2556 
 
ปัจจุบันชาร์ปได้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย อาทิ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีกำลังการผลิตถึง 84 เมกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้เริ่มเปิดดำเนินการจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของชาร์ปในประเทศไทย มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นและสามารถครอบคลุมความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 150,000 ครัวเรือน
 
แม้ว่าจำนวนครัวเรือนอาจบ่งชี้ทิศทางการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากประเมินในมิติของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม อาจเป็นลำดับขั้นของการพัฒนาในลำดับถัดไป
 
แต่ก่อนที่จะก้าวเดินไปสู่จุดนั้น บางทีการพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในแบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึก หรือแม้กระทั่งชนิดฟิล์มบางหรือ Thin-film solar module ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ นับเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการขยายธุรกิจให้กว้างขวางออกไป
 
ขึ้นอยู่กับว่า ภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะมีความตื่นตัวและพร้อมจะเก็บรับเทคโนโลยีนี้ไว้เป็นทางเลือกในระดับที่สามารถนำพาธุรกิจได้หรือไม่ นี่ย่อมเป็นความท้าทายในเชิงธุรกิจที่ควบคู่กับความเสี่ยงและอาจมีมูลค่ามหาศาลที่สามารถบ่งบอกความเป็นไปว่าจะรอดพ้นหรือล่มสลายของธุรกิจกันเลยทีเดียว