ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ จากยอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่เติบโตจากจำนวนผู้ใช้ที่มีมากกว่า 60 ล้านราย จากยอดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตตามมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าการตลาดที่สูงกว่าสองแสนล้านบาท
วิโรจน์ ฤกษ์ศิริวรรณ อุปนายกสมาคมธุรกิจหยอดเหรียญไทย เปิดเผยว่า จากแนวโน้มผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 รวมถึงการเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 2G สู่ 3G ในปัจจุบัน ส่งผลให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตกว่าบริการด้านเสียง หรือการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ ซึ่งจะมีน้อยลง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีนี้อาจสูงถึงประมาณ 213,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วน 85 % : 15% โดยเป็นระบบพรีเพด (เติมเงิน) ถึง 181,050 ล้านบาท และโพสต์เพด (รายเดือน) 31,950 ล้านบาท
“การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากระบบ 2G ไปสู่ 3G จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 100–150% เช่นเดียวกับตู้บริการออนไลน์ยังเป็นธุรกิจที่สดใส ธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามหาศาล จากปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นเป็นตลาดใหม่ ตลาดทดแทน ซึ่งต่อไปตลาดต้องซื้อเครื่องใหม่มาทดแทนเครื่องรุ่นเก่า โดยเฉพาะรุ่นใส่ซิมการ์ด (ระบบ USSD) ซึ่งคาดว่าจะหมดไปจากตลาดในปีหน้า ซึ่งเป็นการ force ให้ผู้ผลิตเปลี่ยนไปใช้ระบบ server
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือการก้าวเข้าสู่ตลาดเออีซี ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ทั้งนี้ การปรับตัวของผู้ผลิต พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะทำให้สามารถสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมาได้ เช่น นวัตกรรมใหม่จากตู้ออนไลน์ที่ขายบริการ ขายโฆษณา การชำระเงินไม่ต้องใช้คนบริการ และบริการออนไลน์ที่สนองความต้องการในเขตชุมชนนั้นๆ” วิโรจน์กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ปัจจุบันผู้ให้บริการรายหลักในตลาดมี 4 ราย ได้แก่ บุญเติม ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่ง ซิงเกอร์ เอดีที และกระปุกท็อปอัพ เกือบทุกรายยกเว้นบุญเติม จะเน้นบริการเติมเงินอย่างเดียว ในขณะที่ตู้บุญเติมจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด
ตู้เติมเงินบุญเติม ตู้เติมเงินสีส้ม พร้อมสโลแกน “เติมง่าย เติมไว ใช้บุญเติม…” โดยมีตู้เติมเงิน จำนวน 30,000 ตู้ รองรับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่า ทั้งนี้ ตู้บุญเติมตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 40,000 ตู้ ในปี 2557 เพื่อรองรับการเติมเงินโทรศัพท์มือถือให้ลูกค้าทั่วประเทศ และรองรับผู้บริโภคที่นิยมทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยผ่านทางพาร์ตเนอร์ที่มีช่องจำหน่ายที่เข้มแข็ง และระบบแฟรนไชส์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการร่วมมือกับพันธมิตร เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น เทสโก้ โลตัส รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น ในการติดตั้งตู้ให้บริการลูกค้า ซึ่งทำให้ตู้เติมเงินบุญเติมครองความเป็นเบอร์หนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งเกือบครึ่งจากจำนวนตู้เติมเงิน 80,000 ตู้ในขณะนี้
อีกหนึ่งตู้เติมเงินซึ่งทำธุรกิจนี้มากว่า 4 ปี ตู้เติมเงินซิงเกอร์ ที่มุ่งเน้นจับฐานลูกค้าส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด ก็หันมาผลิตตู้เติมเงินระบบออนไลน์แทนระบบเก่า เพื่อตอบโจทย์การให้บริการแก่ผู้บริโภค และการเปลี่ยนตามค่ายมือถือที่จะบังคับให้ตู้เติมเงินเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด
ล่าสุด คู่แข่งน้องใหม่ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับรัสเซียที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ คือ My Pay ที่ก้าวเข้ามาพร้อมสโลแกน “your easy way to pay” ที่นอกจากมีระบบโปรแกรมที่ดีรองรับแล้ว ยังมีการออกแบบตู้ให้สวยงาม ตอกย้ำการร่วมงานระหว่างวิศวกรไทยกับวิศวกรรัสเซีย ที่ฝ่ายไทยจะดูด้านดีไซน์และรูปแบบตู้ ในขณะที่รัสเซียจะดูแลด้านโปรแกรม ระบบซอฟต์แวร์ พร้อมชูจุดแข็ง คือเติมเงินด้วยธนบัตรขั้นต่ำที่ 20 บาท และที่สำคัญคือไม่เสียค่าบริการเติมเงิน
ธีรวุฒิ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มายเปย์ จำกัด เเปิดเผยว่า หลังจากทำตลาดมาประมาณ 2 ปีในไทย เป้าหมายแรกคือนักท่องเที่ยว โดยเริ่มแรกบริษัทฯ ติดตั้งตู้ที่พัทยา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก จึงขยายการติดตั้งทั่วพัทยา ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 200 ตู้ ต่อมาได้ขยายการติดตั้งบริการในจังหวัดภูเก็ต จนปัจจุบันมีจำนวน 150 ตู้
ปัจจุบันบริษัทมีตู้ชำระเงินออนไลน์ให้บริการทั้งสิ้น 600 ตู้ ใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ซึ่งสามารถให้บริการได้ 4 ภาษา คือไทย อังกฤษ รัสเซีย และเยอรมัน ซึ่งปัจจุบันมียอดใช้บริการตู้ออนไลน์แล้วมากกว่าหนึ่งแสนเลขหมาย โดยคิดเป็นยอดเงินกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน จากตู้บริการ 400 ตู้ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าขยายตู้ให้บริการเป็น 2,000 ตู้ทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2557 โดยแบ่งเป็นการให้บริการของบริษัทจำนวน 1,000 ตู้ และขายตู้ My Pay แก่ลูกค้าราว 1,000 ตู้”
“ในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าการชำระเงินผ่านตู้ราว 120 ล้านบาท โดยส่วนมากมาจากการเติมเงินมือถือ และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทภายในปีหน้า โดยบริษัทตั้งงบในการทำการตลาดประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ และจัดกิจกรรมโรดโชว์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้จักแก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ” ธีรวุฒิกล่าว
ในขณะเดียวกัน My Pay มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในแถบอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ลาว พม่า มาเลเซีย ภายในปี 2017 อีกด้วย
จากตลาดตู้เติมเงินมือถือ และโตก้าวกระโดดสู่ระบบออนไลน์ที่พร้อมจะให้บริการในการชำระค่าบริการต่างๆ ที่มีหลากหลายในอนาคต ธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง พร้อมการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งผู้ผลิตตู้รายใหญ่ จนถึงตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ในตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจน่าจับตาไม่น้อย