ช่วงที่ผ่านมา คุณพ่อบ้านคนดี มีโอกาสได้ออกรอบตีกอล์ฟ กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่คุ้นเคยกันหลายรอบ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะช่วงเวลาวันหยุดในห้วงรอยต่อข้ามปี ทำให้พอจะมีเวลาวางมือจากภารกิจประจำได้บ้าง และถือเป็นโอกาส refresh ความสัมพันธ์กับผู้คนแวดล้อมไปในตัว
เรื่องเล่าเกี่ยวกับบทสนทนาในก๊วนกอล์ฟ ย่อมเป็นไปอย่างออกรส เพราะนอกจากจะถามไถ่กันถึงสารทุกข์สุกดิบ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องอนาคตของบุตรหลาน ซึ่งกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มาสู่การวิเคราะห์เรื่องภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า หรือแม้กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
แต่ที่วาบแวบเข้ามาในความคิดของผู้เขียน กลับเป็นความรู้สึกถึงบรรยากาศครั้งเก่า เมื่อคราวที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นกว่า 4 ปีและเป็นช่วงที่คุณพ่อบ้านคนดีต้องแสวงหาโอกาสออกรอบตีกอล์ฟในญี่ปุ่น แบบหัวเดียวกระเทียมลีบ
แม้จะไม่คุ้นชินกับสำนวนหนังสือกำลังภายในมากนัก แต่ทุกครั้งที่เห็นคุณพ่อบ้านแบกถุงกอล์ฟไปออกรอบโดยลำพัง ก็ให้นึกถึงคำเปรียบเปรยที่ว่า กอล์ฟเป็นเหมือนเพลงกระบี่ ที่ต่อให้ฝึกซ้อมร่ายรำเท่าใด แต่หากไม่ได้ประลองกับผู้คนย่อมไม่อาจรู้ว่าฝีมือของเราพัฒนาก้าวหน้า มีจุดด้อยให้แก้ไขอย่างไร ให้ได้แอบยิ้มในใจ
โชคดีที่ในญี่ปุ่นมีกิจกรรมกอล์ฟประเภทหนึ่งที่เรียกว่า โอเพ่น คอมเปะ ที่เป็นการออกเสียงแบบญี่ปุ่นซึ่งมาจากคำว่า open competition ที่เปิดโอกาสให้นักกอล์ฟต่างระดับฝีมือและต่างภูมิหลังได้มาร่วมออกรอบตีกอล์ฟกัน
ข้อมูลเกี่ยวกับโอเพ่น คอมเปะ มีอยู่หลากหลายในหนังสือแจกฟรี ที่วางไว้ตาม Driving Range และร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟซึ่งมีอยู่ทั่วไปแทบทุกหัวมุมถนน
หากมองอย่างผิวเผินหนังสือเหล่านี้ก็เป็นเพียงสื่อโฆษณาที่เสนอขายอุปกรณ์กอล์ฟและแนะนำสนามกอล์ฟธรรมดา แต่ท้ายเล่มของหนังสือเหล่านี้จะมีตารางโอเพ่น คอมเปะ ของแต่ละสนามแจ้งไว้ให้เลือกกันล่วงหน้า 2-3 เดือนเลยทีเดียว
แม้ว่าชื่อกิจกรรมจะมีนัยชี้ชัดว่าเป็นเรื่องของการแข่งขัน โดยมีของรางวัลมากมายรอคอยอยู่ แต่นักกอล์ฟส่วนใหญ่ไม่ได้จริงจังกับเรื่องดังกล่าวมากนัก หากได้รางวัลก็ถือเป็นกำไรเสียมากกว่า
เพราะนอกจากนักกอล์ฟจะไม่รู้มือหรือระดับความสามารถผู้แข่งขันรายอื่นแล้ว ด้วยระบบการคิดคะแนนแบบพีเรีย และดับเบิ้ลพีเรีย ซึ่งไม่ต่างจากการคิดคะแนนแบบ 36 system ในบ้านเรามากนัก ทำให้นักกอล์ฟแต่ละคนมีโอกาสได้รางวัลเท่าๆ กันไปโดยปริยาย
ของรางวัลที่จัดไว้เป็นของสมนาคุณในรายการโอเพ่น คอมเปะ แต่ละแห่งมีหลากหลายตั้งแต่ชุดอุปกรณ์กอล์ฟ ไปจนถึงของดีประจำท้องถิ่นที่สนามกอล์ฟตั้งอยู่
คุณพ่อบ้านนักผจญภัย เคยทดลองไปออกรอบแบบโอเพ่น คอมเปะ โดยอาศัยความรู้ภาษาญี่ปุ่นชั้นประถมของลูกชายในการติดต่อสื่อสารจองเวลาทีออฟ ผสมความอยากรู้อยากเห็นตามวิสัยของนักข่าว บุกไปเดี่ยวๆ ในโปรแกรมดังกล่าว
ในครั้งนั้น ชายหนุ่มผู้มาไกลจากต่างแดน มีโอกาสได้อยู่ก๊วนเดียวกับคู่สามีภรรยารายหนึ่ง โดยสามีซึ่งอยู่บริษัทรถยนต์เคยมาทำงานประจำการอยู่ในเมืองไทย บทสนทนาภาษาญี่ปุ่นผสมภาษาอังกฤษอันกระท่อนกระแท่นของทั้งสองฝ่าย ระหว่างการออกรอบ กลับลื่นไหล และดำเนินไปอย่างคุ้นเคย
แม้ว่าพวกเขาจะแปลกใจที่มีชาวต่างชาติหาญกล้าบินเดี่ยวมาร่วมกิจกรรมโอเพ่น คอมเปะ ที่ส่วนใหญ่จัดขึ้น สำหรับชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะก็ตาม
จากการสนทนาทำให้เกิดเรื่องเล่าติดตามมาอีกมากมาย เพราะสามีภรรยาคู่นี้มาร่วมกิจกรรมโอเพ่น คอมเปะ บ่อยขึ้นในระยะหลัง เพราะฝ่ายสามีเกษียณอายุจากบริษัท ทำให้เริ่มห่างจากก๊วนกอล์ฟของเพื่อนๆ ในที่ทำงาน และต้องการใช้เวลาร่วมกับภรรยาของเขามากขึ้น
แต่เมื่อถามว่าระหว่างคอมเปะ หรือรายการที่มีของรางวัลเป็นอุปกรณ์กอล์ฟ กับการแข่งขันที่มีของกำนัลจำพวกกุ้ง หอย ปูปลา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ พวกเขามีลำดับการเลือกเพื่อเข้าร่วมอย่างไร
พวกเขาตอบพร้อมกันโดยไม่ลังเล ว่าพร้อมจะเข้าร่วมการแข่งขันแบบที่มีของรางวัลเป็นอาหารมากกว่า
เหตุผลน่ะหรือ ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากอยากได้อุปกรณ์กอล์ฟก็เดินเข้าร้านไปซื้อหาได้เลย แต่การมาตีกอล์ฟโดยไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าว่ามื้อเย็นหลังออกรอบเสร็จจะเป็นอะไร จะต้องซื้อเอง หรือมีโบนัสแนบท้ายกลับบ้าน เป็นความตื่นเต้นแบบไม่รู้ตัว
เรียกว่าออกรอบครั้งเดียวตื่นเต้นไปสามชั้น เริ่มจากไม่รู้ว่าจะมีเพื่อนร่วมก๊วนอย่างไร แต่ละหลุมจะเล่นได้ดีแค่ไหน ผลการแข่งขันจะออกมาเช่นใด เพราะขึ้นกับเกณฑ์ของการแข่งขัน ซึ่งแต่ละที่กำหนดไม่เหมือนกัน และสุดท้ายจะได้รับรางวัลอะไรติดมือกลับบ้านหรือไม่
แต่สำหรับคุณพ่อบ้านผจญภัยน่ะหรือ เขาบอกว่าการได้ออกรอบ และมีโอกาสได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับผู้คนแปลกใหม่ เป็นความสุขและรางวัลที่รื่นรมย์แล้ว ซึ่งก็คงจะจริง
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะได้ผ่านการรับประสบการณ์โดยตรง เมื่อวันดีคืนร้ายคุณพ่อบ้านไปโอเพ่น คอมเปะ ในสภาพร่างกายที่ไม่ค่อยพร้อม หลังจากผ่านภารกิจแทรกเสริมค่อนคืน จนต้องจำใจรับรางวัลบูบี้ หรือรองอันดับสุดท้ายกลับบ้านมา
แต่ระหว่างที่กำลังจะเดินถอยออกจากบอร์ดแจ้งผล เพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ร่วมก๊วน กลับรีบเข้ามาแสดงความยินดี เพราะเขาได้รางวัลเป็นปูใหญ่ขนาดยักษ์ ที่หากซื้อหาตามตลาดสดทั่วไปก็มีราคาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเยน และปลาหมึกหมักเป็นรางวัลที่นักกอล์ฟหลายรายเล็งเอาไว้ก่อนหน้า เป็นอันว่านอกจากจะได้เล่นกอล์ฟแล้วยังมีอาหารเย็นกลับบ้านอีกด้วย
แต่นั่นยังไม่ทำให้เรื่องราวในสนามกอล์ฟจบลงหรอกนะคะ เพราะที่หน้าล็อกเกอร์ของนักกอล์ฟแต่ละราย ยังมีหัวไชเท้าขนาดยาวเท่าท่อนแขน ซึ่งปลูกโดยเกษตรกรรอบสนามกอล์ฟแห่งนี้ จัดใส่อยู่ในถุงพลาสติก ถุงละ 2 ท่อน เป็นของที่ระลึกให้กับนักกอล์ฟทุกคนด้วย
เมื่อกลับถึงบ้าน เราทุกคนในบ้านต่างนั่งฟังเรื่องเล่าจากสนามกอล์ฟพร้อมกับมองของรางวัลกอล์ฟด้วยความรู้สึกหลากหลายระคนกับเสียงหัวเราะ ในขณะที่คิดหาทางจัดการกับวัตถุดิบตรงหน้า ให้คุ้มน้ำพักน้ำแรงของการเสาะหากับข้าวในวันนั้นอย่างเต็มที่