วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สงคราม “กล่อง” RS-GMM เร่งชิงตลาด Pay TV

สงคราม “กล่อง” RS-GMM เร่งชิงตลาด Pay TV

 
เมื่อราว 30 ปีก่อน “อาร์เอส” และ “แกรมมี่” เคยต้องสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงฐานผู้ฟังในธุรกิจเพลง นับจากนั้นทั้งสองค่ายก็ฟาดฟันทางธุรกิจในฐานะ “Content Provider” ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย เรื่อยมาแม้กระทั่งถึงยุคที่อุตสาหกรรมสื่อของเมืองไทยก้าวมาถึง “จุดเปลี่ยน” สำคัญ 
 
“อนาคตการแข่งขันของอุตสาหกรรมทีวีจะเปลี่ยนไป วันนี้เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม เป็นเพียงการนิยามด้วยเทคโนโลยี แต่ในมุมมองของผู้บริโภค แยกเพียง 2 ส่วน คือฟรีทีวี และเพย์ทีวี ขณะที่กลุ่มผู้ชมคือกลุ่มเดียวกัน อยู่ที่ใครจะสร้างคอนเทนต์และดึงความสนใจของผู้ชมได้”
 
คำกล่าวของผู้บริหารแห่ง “ค่ายเพลงเบอร์สอง” ของเมืองไทย สอดรับกับแนวทางของ “ค่ายเพลงเบอร์หนึ่ง” ที่มองว่า ในช่วงแรกวงการทีวีดาวเทียม คือการให้บริการช่องรับชมฟรี หรือ Free to Air แต่ก้าวต่อไปของวงการนี้คือการให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก หรือ Pay TV ซึ่งถือเป็นภาคต่อของตลาดทีวีดาวเทียมนับจากนี้ไป
 
ความพยายามเข้าสู่ธุรกิจเพย์ทีวีของ RS เริ่มต้นจากการส่งกล่องรับสัญญาณ “ซันบ็อกซ์” เข้าสู่ตลาดเมื่อปีที่แล้ว เพื่อรองรับคอนเทนต์ “ลาลีกา” ก่อนที่จะถึงฤดูกาลฟุตบอลโลก 2014 ที่จะเริ่มเตะจริงในเดือน มิ.ย. 2557   
 
RS ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลลาลีกา 3 ฤดูกาล (2012-2014) แต่การทำคอนเทนต์ลาลีกาเป็นเพย์ทีวีตั้งแต่ฤดูกาลแรกไม่สำเร็จ เนื่องจากความล่าช้าในการได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ทำให้ RS ไม่สามารถทำตลาดได้เต็มที่จนต้องปรับการออกอากาศจากเฉพาะกล่องซันบ็อกซ์ มาเป็น Free to Air เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียกเม็ดเงินโฆษณา
 
RS เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมราว 3-4 ปีก่อน ด้วยการผลิตคอนเทนต์แบบ Free to Air บนระบบทีวีดาวเทียมโดยหารายได้จากโฆษณา ปัจจุบัน RS มีช่องทีวีดาวเทียม 6 ช่อง ได้แก่ สบายดีทีวี, ช่อง8, ยู แชนแนล, สตาร์แมกซ์, ซัน แชนแนล และ Shop 77 ซึ่ง 3 ช่องหลังเพิ่งเปิดตัวในปีนี้ โดยทุกช่องเป็น Free to Air ยกเว้น ซัน แชนแนล ที่เป็น “กึ่งฟรีกึ่งเพย์” คือ ชมฟรีบางรายการและจ่ายเพิ่มค่าสมาชิกสำหรับการชมคอนเทนต์ฟุตบอลลาลีกา  
 
“กีฬาเป็นคอนเทนต์ที่มีการแข่งขันสูงและต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็เรียกความสนใจจากผู้ชมได้ โดยเฉพาะฟุตบอล การเข้าไปประมูลสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลแต่ละลีกต้องประเมินว่าราคาเป็นอย่างไร เป็นราคาที่สู้ไหวและต่อยอดธุรกิจได้หรือไม่ แต่ถ้าสูงเกินไปก็ไม่ทำ” 
 
คำกล่าวของสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในงานแถลงงานข่าวเปิดตัว 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ ได้แก่ เครื่องดื่มตราช้าง และกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขัน “2014 FIFA World Cup Brazil” 
 
ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่คาดการณ์รายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ที่มีมูลค่ารวมราว 700 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกปี 2010 ถึง 150 ล้านบาท โดย 70% ของรายได้จะมาจากสปอนเซอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีสปอนเซอร์หลักเพิ่มมาอีก 2 ราย อีก 30% มาจากการอนุญาตให้เอาช่อง World Cup Channel ไปออกอากาศในแพลตฟอร์มอื่น (Sublicense) โดยปัจจุบันได้ขายซับไลเซนส์ให้ PSI เพื่อนำช่องไปผูกกับกล่อง “PSI O2 digital HD” ซึ่งคาดว่าน่าจะขายได้ถึง 1 ล้านกล่อง
 
ทั้งนี้ “เฮียฮ้อ” ระบุว่าตัวเลข 700 ล้านบาท เป็นการมองภาพที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยยังไม่รวมตัวเลขรายได้จากการขายกล่องซันบ็อกซ์ รุ่น World Cup ที่จะเปิดตัวในเดือน มี.ค.-เม.ย. ปีหน้า หากศาลยกเลิกคำสั่งของ กสทช. ที่ให้ RS ต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวี และยังไม่รวมรายได้จากการนำคอนเทนต์ไปอยู่บนแพลตฟอร์มมือถือ รวมถึงรายได้จากการจ่ายตามการรับชม (pay per view)
 
“บอลโลกเป็นลิขสิทธิ์ที่มีพลังทั้งในแง่ของเม็ดเงินโฆษณา และการสมัครสมาชิกเพย์ทีวี (subscription) เพราะมันคือกีฬาที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลกอยู่แล้ว และจากสถิติฟุตบอลโลกปี 2010 ประเทศไทยติดอันดับทอป 10 ประเทศที่มีผู้ชมบอลโลกมากที่สุดของโลก” ผู้บริหาร RS กล่าวอย่างเชื่อมั่นในพลังคอนเทนต์ฟุตบอลโลก 
 
ขณะที่ RS ชูลาลีกาและฟีฟ่าเป็น “หัวหอก” ในธุรกิจเพย์ทีวีปีหน้า ฟาก GMM Z ก็ขนลิขสิทธิ์รายการฟุตบอลที่เป็นไฮไลต์ถึง 7 ลีก และอีก 2 ถ้วยรางวัล อาทิ บุนเดสลีกา, ลีกเอิง ฝรั่งเศส, ซีรีส์ เอ บราซิล และ แคปปิตอล วัน คัพ เป็นต้น รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก มาดูดเงินจากผู้ชม 
 
นอกจากนี้  ยังมีลิขสิทธิ์เทนนิสครบทั้ง 4 แกรนด์สแลม และอีกหลายรายการกีฬาระดับโลก อาทิ อย่าง ตูร์ เดอ ฟร้องซ์, กอล์ฟ โอเพ่น แชมเปี้ยนชิพ หรือโยเน็กซ์ เฟรนช์ แบดมินตัน โอเพ่น, BWF ซูเปอร์ซีรีส์ ฯลฯ ซึ่งมี “น้องเมย์ รัชนก” เข้าร่วมแข่งขัน รวมถึงซีอีวี วอลเลย์บอล ที่มีนักตบลูกยางสาวทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งด้วย เป็นต้น 
 
“คอนเทนต์กีฬาถือเป็น killer content และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกค้าซื้อเพย์ทีวีของเราด้วย” ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานแพลตฟอร์ม GMM Z กล่าวในงานเปิดตัวกล่อง GMM Z HD และแพ็กเกจเพย์ทีวีราคาถูก ซึ่งจัดขึ้นหลังงานแถลงข่าวของ RS เพียง 2 วัน 
 
นอกจากนี้ ยังมีคอนเทนต์บันเทิงระดับโลก ซึ่ง GMM Z ได้ทุ่มเม็ดเงินร่วมพันล้านบาท เหมาช่องบันเทิงมาจากค่าย FOX เกือบ 30 ช่อง โดยในปีหน้า GMM Z ยังเตรียมชู “โลคัลคอนเทนต์” อย่างซีรีส์จากค่ายจีทีเอช, ซิทคอม “เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร The Final Answer” ฯลฯ และซีรีส์สุดฮิต “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2” กำหนดออนแอร์ช่วง มิ.ย. ปีหน้า 
 
ทั้งนี้ คอนเทนต์ที่แกรมมี่ผลิตเองจะหาดูได้เฉพาะกล่อง GMM Z เพื่อกระตุ้นยอดขายกล่อง GMM Z ในปีหน้าให้ได้อีก 1 ล้านกล่อง ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้ากล่อง GMM Z มีถึง 3.3 ล้านกล่อง อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายฐานสมาชิกเพย์ทีวีให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางดูดเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาด้วย 
 
เพื่อกระตุ้นฐานสมาชิกเพย์ทีวีให้ถึง 3-4 แสนรายในปีหน้า จาก 1 แสนรายในปัจจุบัน GMM Z ได้ออกแพ็กเกจเพย์ทีวี ราคา 199 บาทต่อเดือน หรือ “โกลด์ แพ็กเกจ” และ 499 บาทต่อเดือน หรือ “แพลตตินั่ม แพ็กเกจ” มาทำตลาด
 
“เรารู้อยู่แล้วว่า GMM Z ต้องขาดทุน เพราะธุรกิจเพย์ทีวีต้องใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง และต้องใช้ระยะเวลาลงทุนต่อเนื่องรวม 3 ปี เพื่อสะสมฐานลูกค้าและจัดเตรียมคอนเทนต์มาใส่ช่อง ฉะนั้น GMM Z คงจะยังต้องขาดทุนต่อไปอีก 2 ปี (2556-2557) กว่าจะได้เก็บเกี่ยวดอกผลก็น่าจะเป็นปี 2558 ที่เราอาจจะเริ่มมีกำไร” 
 
แกรมมี่เข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมเมื่อปี 2550 และเริ่มลงทุนในธุรกิจเพย์ทีวีอย่างจริงจังในปีนี้ โดยมองว่า เมื่อดิจิตอลทีวีมา เม็ดเงินจากโฆษณาส่วนหนึ่งจะถูกถ่ายเทออกไป ซึ่งจะทำให้ช่องทีวีดาวเทียมที่เคยให้บริการฟรีโดยอาศัยเพียงรายได้โฆษณาจะอยู่ยาก และอาจต้องล้มไปถ้าไม่เปลี่ยนเป็นเพย์ทีวี เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทเร่งวางรากฐานในธุรกิจนี้ 
 
ปัจจุบัน GMM Z มีช่องเพย์ทีวีอยู่ราว 37 ช่อง และในปีหน้าจะมีช่องรายการทั้งแบบรับชมฟรีและเพย์ทีวีเข้ามาเติมอีกมาก ฟ้าใหม่เชื่อว่า ปีหน้ารายได้ของ GMM Z จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวคือจบที่กว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากเพย์ทีวี 50% และขายกล่อง 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30-70 ตามลำดับ
 
“ซีซั่น 2 ของธุรกิจดาวเทียมคือเพย์ทีวี ซึ่งมีพื้นที่มหาศาลที่จะให้เราเติบโต แต่สิ่งสำคัญคือคอนเทนต์ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อ เราจึงต้องระดมหาและผลิตคอนเทนต์คุณภาพมาเติมเต็มให้เพย์ทีวีเรา” ฟ้าใหม่ทิ้งท้าย
 
แม้จะยืนอยู่บนความเชื่อเดียวกันคือ ภูมิทัศน์สื่อในยุคดิจิตอลจะแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะการชิงเม็ดเงินโฆษณา และ “คอนเทนต์” เป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอด แต่ดูเหมือนทิศทางของ RS จะยังคงมุ่งมั่นกับการหารายได้จากโฆษณาเป็นหลัก โดยมีช่อง 8, ช่องสบายดี และสตาร์แม็กซ์ เป็นอาวุธสำคัญ เพราะเป็นช่องดาวเทียมที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในแต่ละประเภทรายการ 
 
ด้วยความมั่นใจใน “อาวุธ” ของตัวเอง ปีนี้ RS จึงคืนเวลาออกอากาศรายการในฟรีทีวีทั้งหมด เพื่อหันมาผลิตคอนเทนต์ป้อนช่องดาวเทียมของตัวเอง และได้ทำการปรับค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อต้นปี และปรับขึ้นอีกราว 40% ช่วงกลางปี ขณะที่ปีหน้าวางแผนจะปรับขึ้นอีก 35-40% 
 
รายได้ค่าโฆษณาที่ปรับขึ้น บวกกับรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ทำให้ผู้บริหาร RS มั่นใจว่ารายได้ในปีหน้าทะลุ 4 พันล้านบาท หลังจากที่ต้องผิดหวังมาแล้วในปีนี้ โดยตัวเลขน่าจะจบที่ 3.6 พันล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้นกำไรปีนี้ของ RS น่าจะทุบสถิติ พร้อมกับความเชื่อมั่นว่า จากนี้ไป 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะทำกำไรทุบสถิติสูงสุดทุกปี
 
ขณะเดียวกัน นิยามใหม่ของ RS คือ “มีเดีย & เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ก็จะมีภาพที่ชัดเจนขึ้น เพราะปีหน้าธุรกิจสื่อ (ทีวีดาวเทียมและวิทยุ) น่าจะเบียดธุรกิจเพลงขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 70-30 จาก 50-50 ในปัจจุบัน 
 
กว่า 30 ปีของ Content Provider ทั้งสองค่าย ไม่ว่าจะอยู่บนพรมแดนสื่อใด สุดท้ายอาวุธที่จะเอาชนะกันก็ยังเป็น “คอนเทนต์” เพียงแต่บนสังเวียนธุรกิจทีวียุคดิจิตอล ไม่ได้มี “ยักษ์” แค่ 2 รายเหมือนธุรกิจเพลง