วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ปีใหม่แบบญี่ปุ่น (1)

ปีใหม่แบบญี่ปุ่น (1)

 

ช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ท่านผู้อ่านเตรียมดำเนินกิจกรรมอะไรบ้างคะ หลายท่านอาจเดินทางท่องเที่ยว เติมพลังให้ชีวิต ขณะที่หลายท่านอาจปักหลักอยู่บ้านทบทวนวันปีที่เพิ่งผ่านไป
 
แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาที่มีกิจกรรมต่างๆ หนาแน่น ซึ่งล้วนแต่อุดมด้วยเรื่องราวที่สะท้อนความลุ่มลึกและร่ำรวยของคติและวิธีคิดที่แหลมคมไม่น้อย
 
เริ่มที่มิติของอาหารสำหรับปีใหม่กันก่อนดีไหม
 
สำรับอาหารชุดพิเศษของชาวญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่ ที่เรียกว่า Osechi Ryori นี้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัย Heian หรือกว่าพันปีมาแล้ว
 
เพื่อนชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองเกียวโต เคยเชื้อเชิญให้ผู้เขียนและครอบครัวไปร่วมรับประทานอาหารปีใหม่สำรับพิเศษนี้ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ของเขาที่บ้าน
 
Osechi Ryori ในครั้งนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยบรรยากาศของมิตรภาพอันอบอุ่น และรสชาติอาหารอันโอชะแล้ว ยังทำให้ได้รับความรู้จากอรรถาธิบายถึงความหมายและที่มาที่ไปของอาหารที่ทุกคนในครอบครัวช่วยกันลงมือทำสำรับนี้มากขึ้นด้วย
 
ท่านผู้อ่านซึ่งคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่น คงจะทราบดีว่าอาหารญี่ปุ่นมีจุดเด่นอยู่ที่ความสดใหม่ของวัตถุดิบในการปรุงเป็นหลัก หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง ควรต้องเรียกว่าสดจนไม่ต้องปรุง แต่ Osechi-Ryori จะให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
 
เพราะคติของชาวญี่ปุ่นแต่เดิมนั้น ถือว่าตลอด 3 วันแรกของการขึ้นปีใหม่ ที่เรียกว่า Oshoogatsu เป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรประกอบอาหารใดๆ ยกเว้นเพียงการปรุงซุป Ozoni ซึ่งเป็นซุปใสที่ประกอบด้วยก้อนแป้งข้าวเหนียว (โมะจิ : mochi) ผัก และอาหารแห้งอื่นๆ ที่เป็นอาหารพิเศษสำหรับปีใหม่อีกชนิดหนึ่ง
 
การเตรียมสำรับอาหาร Osechi จึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันสิ้นปี ด้วยเหตุนี้ Osechi ในยุคแรกๆ จึงถูกจำกัดให้เป็นเพียงชุดอาหารที่ประกอบส่วนด้วยผักต้มผักดอง เท่าที่ความรู้เกี่ยวกับการถนอมอาหารในขณะนั้นจะเอื้อให้จัดเตรียมได้
 
ความหลากหลายที่มีเพิ่มเติมเข้ามาในสำรับ Osechi ในเวลาต่อมา ในด้านหนึ่งจึงเป็นประหนึ่งเครื่องบ่งชี้ความสามารถในการสรรหาวัตถุดิบและความก้าวหน้าในการถนอมอาหารของชาวญี่ปุ่นไปในตัว
 
ขณะเดียวกันองค์ประกอบของสำรับ Osechi ยังดำเนินควบคู่ไปกับแนวความคิดในเชิงสังคม วัฒนธรรมของญี่ปุ่นอีกด้วย
 
ความพิเศษของ Osechi Ryori อยู่ที่การสรรหาอาหารที่มีความหมายมงคลตามคติของญี่ปุ่น มาประกอบส่วน ไม่ว่าจะเป็น ส้มญี่ปุ่น (Daidai หรือ bitter orange) ซึ่งคำว่า Daidai ที่แปลว่าส้มนี้พ้องเสียงกับอักษร Kanji อีกคำหนึ่งที่แปลว่าจากรุ่นสู่รุ่น
 
หรือในกรณีของไข่ปลาแฮร์ริ่ง (Kazunoko) ซึ่งบ่งความหมายถึงจำนวน (kazu) และเด็ก (ko) ประมาณเดียวกับการอวยพรให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง
 
นอกจากจะเน้นเรื่องการเจริญไปชั่วลูกชั่วหลานและการมีสมาชิกใหม่เพิ่มเติมผ่านส้มและไข่ปลาแล้ว Osechi ยังประกอบด้วยกุ้ง ที่มีอักษร kanji พ้องเสียงกับการมีชีวิตยืนยาว
 
แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งไม่ได้มีความรอบรู้ในภาษาญี่ปุ่นมากมายอะไรนัก มักอาศัยการจดจำอย่างง่ายว่ากุ้งแทนความแก่เฒ่ายืนยาว เพราะมีลำตัวโค้งงอ
 
สำรับ Osechi ยังประกอบด้วยของมงคลอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นไข่เจียวม้วน (Datemaki) ลูกชิ้นปลาก้อน (kamaboko) ปลาซาร์ดีนอบแห้ง (Tazukuri) ถั่วดำ (Kuro-mame) ซึ่งต่างเป็นตัวแทนของการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ความมั่งคั่งในโภคทรัพย์ และการมีชีวิตรื่นรมย์ สงบสันติ
 
เรียกได้ว่าสำรับ Osechi เป็นชุดอาหารมงคลที่รวมความปรารถนาของชาวญี่ปุ่นไว้อย่างครบถ้วน
 
หากแต่ในปัจจุบัน องค์ประกอบของสำรับ Osechi ยังลื่นไหลไปตามยุคสมัย โดยบางบ้านจัดสำรับแบบตะวันตก กลายเป็น Western Osechi และมีไม่น้อยที่จัดสำรับเป็น Chinese Osechi ไปเลย และสำหรับแม่บ้านที่มีงานรัดตัว Osechi รุ่นใหม่ยังมีให้ซื้อหาได้ตามร้านสะดวกซื้ออีกด้วย
 
เรียกได้ว่าร้านสะดวกซื้อเหล่านี้เข้ามาเติมเต็มโอกาสในการเสริมมงคลช่วงปีใหม่ให้แก่ชาวญี่ปุ่นได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมกันเลยทีเดียวเชียว
 
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาพิเศษเช่นนี้ ชาวญี่ปุ่นยังมี Toshi-koshi Soba เป็นอาหารมงคลอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมรับประทานสืบเนื่องมาในชั้นหลังตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo: ค.ศ. 1603-1868) หรือเมื่อสักสี่ร้อยปีมานี้เอง
 
การรับประทาน Toshi-koshi Soba จะถือช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่องระหว่างการสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นเวลาที่ทุกคนในครอบครัวจะร่วมรับประทานบะหมี่ชนิดนี้ด้วยกัน พร้อมกับการรอคอยเสียงระฆังส่งท้ายปีเก่า (joya-no-kane) โดยบางครอบครัวจะถือโอกาสเดินทางไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (hatsu-mode) ที่วัดเป็นสิริมงคลด้วยเลย
 
แนวความคิดเกี่ยวกับ Toshi-koshi Soba อาจมิได้มีความมุ่งหมายที่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับ Osechi เพราะจุดใหญ่ใจความของการรับประทาน Toshi-koshi Soba อยู่ที่ความต่อเนื่องและความมุ่งหมายชีวิตที่ยืนยาว ตามลักษณะของเส้นบะหมี่นี้
 
แต่ด้วยเหตุที่แป้งโซบะที่นวดแล้ว มีคุณสมบัติในการดูดซับผงเงินผงทองได้ดี ทำให้หลายคนผูกโยงไปสู่การมีโชคดีในเรื่องเงินทองอีกด้วย
 
เรื่องราวของอาหารปีใหม่แบบญี่ปุ่น อาจทำให้ท่านผู้อ่านคิดไปว่าคนญี่ปุ่นสนใจแต่ความสุข ความมั่งคั่งของตัวเองจนลืมส่งความสุขไปให้ผู้อื่น
 
แท้จริงแล้วกิจกรรมการส่งความสุขไปให้ผู้คนที่เคารพรัก และผูกพันกันในสังคมญี่ปุ่นดำเนินไปอย่างเอิกเกริกและเป็นล่ำเป็นสันอย่างยิ่งเช่นกัน
 
พบกันครั้งต่อไป ขอเชิญทุกท่านติดตามอ่านเรื่องการส่งความสุขแบบญี่ปุ่นนี้ให้ได้ร่วมส่งความสุขไปด้วยกันนะคะ

 

Column: JAPANORAMA