วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > อาณานิคม 2 มหาสมุทร การรุกครั้งใหญ่ของ “ทุนจีน”

อาณานิคม 2 มหาสมุทร การรุกครั้งใหญ่ของ “ทุนจีน”

 

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประเด็นว่าด้วยเรื่องจีนจะได้รับการกล่าวถึงและถูกยกขึ้นมาให้อยู่ในกระแสสูงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อกลางเดือนตุลาคม ซึ่งติดตามมาด้วยข่าวการรับซื้อข้าว การเจรจาเรื่องการปลอดวีซ่ากับประเทศไทย
 
และที่ขาดไปไม่ได้คือข่าวโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ดูเหมือนทั้งรัฐบาลไทย-จีน ต่างหมายมั่นปั้นมือกับโครงการนี้เต็มที่
 
ยังไม่นับรวมข่าวแอพพลิเคชั่นลายเส้นการ์ตูน ที่ฮอตฮิตติดชาร์ต Manboker Hightalk ที่พัฒนาโดย Beijing Baishunhuanian Media Corp. ก่อนจะโดนกระแสข่าวลือ แอพติดไวรัส และมีการล้วงข้อมูลส่วนบุคคลเข้าถล่มจนทำให้หลายฝ่ายต้องออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง
 
หากพิจารณาจากจังหวะก้าวและข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องจีน ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ในแวดวงธุรกิจ การเมือง ในห้วงเวลานี้ เป็นประหนึ่งการเปิดแนวรุกครั้งสำคัญของจีน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นภาพต่อเนื่องที่มีไปถึงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคด้วย
 
เพราะแม้ข่าวการเยือนของผู้นำจีนจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว การเดินทางตระเวนเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียนของผู้นำจีนครั้งนี้ ยังดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังในด้านความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า หลี่ เค่อ เฉียง เพิ่งเสนอแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ด้วย “กรอบความร่วมมือ 2+7” ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
 
โดย 2 หมายถึงแนวทางการเมืองใหม่ คือ เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจขยายการเอื้อประโยชน์แก่กัน ส่วนเลข 7 คือความร่วมมือ 7 ด้าน ประกอบด้วย เร่งหารือเพื่อลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรจีน-อาเซียน ยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระชับความร่วมมือด้านการเงิน ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง และความร่วมมือด้านวัฒนธรรม-วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี-อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
กรอบความร่วมมือที่ว่านี้ เป็นความต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร (Two Ocean Policy: มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก) ของจีน โดยมีเป้าหมายการเชื่อมโยงทางกายภาพเพื่อความมั่นคง การออกสู่ทะเล การค้า การลงทุน ซึ่งส่วนที่อยู่ตรงกลางคือ “อาเซียน” และตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดของอาเซียนก็คือ “ประเทศไทย”
 
สนธิ ลิ้มทองกุล เคยระบุถึงประเด็นนี้ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เมื่อ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า
 
“จีนต้องทำทุกทางไม่ให้อเมริกาปิดล้อมและธุรกิจจีนเองก็เริ่มช้าลง เพราะจีดีพีไม่โตเหมือนแต่ก่อน จีนเลยเริ่มออกนอกประเทศ แล้วทุนจีนสามานย์ไม่ต่างจากอเมริกา เผลอๆ สามานย์กว่า เพราะทุนจีนไม่มีวัฒนธรรม ทุนอเมริกาอยู่ในโลกมานานแล้ว เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม เจอคนประท้วง เจอเรื่องค่าแรงงาน เจอเรื่องการใช้แรงงานเด็ก อเมริกาเลยระวังหมด แต่จีนไม่สนใจ คนจีนแผ่นดินใหญ่มีสันดานเสียอย่าง คือถ้ากูมีเงิน ถือว่ากูมีสิทธิจะทำอะไรก็ได้”
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนคือคู่ค้าอันดับ 4 ของจีน รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในส่วนของไทยนั้น จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากญี่ปุ่น
 
โดยในรอบปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไทยสูงถึง 69,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าไทยไปจีนมีมูลค่าการส่งออกในระดับ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยมาลงทุนในจีนกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2015 จีน-ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ไม่ยาก
 
ประเด็นที่น่าติดตามก็คือ การลงทุนของนักธุรกิจจีนในประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะค่าใช้จ่ายถูก นอกจากนี้ คาดว่านักธุรกิจจีนยังจะลงทุนในอุตสาหกรรมการเงิน รถยนต์ ไอที เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นักธุรกิจจีนสนใจลงทุนมากที่สุด สอดรับกับนโยบาย “บริษัทจีนก้าวไปสู่ต่างประเทศ” ของรัฐบาลจีน
 
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการรุกคืบของจีนก็คือ การรุกด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งนักธุรกิจจีนเข้าไปร่วมทุนปลูกยางพารากับนักลงทุนไทย รวมถึงลงทุนอุตสาหกรรมขั้นสุดท้ายจากผลผลิตการเกษตร เช่น ยางรถยนต์ โดยนักลงทุนจีนได้เข้าไปร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง เพื่อใช้นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นสุดท้าย ซึ่งก็คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนรายอื่นๆ ให้ความสนใจและติดตามเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจอีกด้วย
 
ส่วนด้านภาคการผลิต นักลงทุนจีนมีแนวโน้มที่จะไปลงทุนในประเทศไทย โดยจะตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงงานประกอบยานยนต์ และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันมีบริษัทจีนหลายบริษัทแสดงความสนใจและพร้อมที่จะไปลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็คือการเดินทางมาไทยของนักธุรกิจชั้นนำจากจีนกว่า 100 คนจาก 89 บริษัท เพื่อเจรจาและจับคู่ทางการค้ากับผู้ประกอบการไทย นักธุรกิจจีนเหล่านี้มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ยา และเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ พลังงานและเหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์
 
โดยการเจรจาและจับคู่ทางการค้าระหว่างนักธุรกิจจีน-ไทยดังกล่าว สามารถนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ 8 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งโครงการร่วมลงทุนในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ โครงการร่วมลงทุนโรงแรม และร่วมลงทุนพัฒนารีสอร์ต ส่วนด้านการค้า มีการตกลงที่จะซื้อสินค้าของไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง มูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท
 
ประเด็นที่น่าสนใจมากจากการรุกของจีนอยู่ที่ด้านภาคบริการ นักลงทุนจีนมีแนวโน้มจะไปจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบของคอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาลงหลักปักฐานและพยายามเร่งสร้างชุมชนจีนแห่งใหม่ในไทย โดยมีย่านรัชดา-ห้วยขวางเป็นชัยภูมิหลัก
 
ผู้จัดการ 360 ํ โดยปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ และเอกรัตน์ บรรเลง เคยนำเสนอรายงานว่าด้วย “ตั้งรับอิทธิพลจีน” เมื่อเดือนตุลาคม 2552 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ฉายภาพนักธุรกิจพ่อค้าผลไม้ชาวจีน ที่เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกลไกการค้าผลไม้ของไทย ชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่า “ครบวงจร” เพราะนอกจากจะยึดกุมปลายทางของทั้ง 2 ด้าน ผลไม้จากจีนนำเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางแม่น้ำโขง โดยกองเรือขนส่งสินค้าสัญชาติจีนมาขึ้นที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากรโดยชิปปิ้งชาวจีน โดยมีพ่อค้าจีนคุมลงมาส่งและกระจายสินค้าด้วยนักธุรกิจจีนเองถึงตลาดไท

หรือในทางกลับกัน ผลไม้จากไทยก็ถูกกว้านซื้อถึงสวนโดยกลุ่มพ่อค้าจีน ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ส่งขึ้นไปลงเรือสินค้าสัญชาติจีนที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากรจากชิปปิ้งชาวจีน เพื่อนำขึ้นไปขายต่อในจีนผ่านทางลำน้ำโขง
 
ซึ่งหากประเมินจากเวลาที่ผ่านพ้นไป กลไกการค้าผลไม้ที่ว่านี้ย่อมพัฒนาและขยายวงครอบคลุมกว้างไกลออกไป ภายใต้โครงข่ายที่มีความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นอีกในปัจจุบัน

กระนั้นก็ดี ผลประโยชน์ที่คนไทยมีส่วนได้ในกระบวนการเหล่านี้มีเพียง  1-เจ้าของสวนที่สามารถขายผลไม้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่ในราคาที่ไม่สูงมากนัก  2-เจ้าของรถห้องเย็น หรือรถปิกอัพ ที่รับจ้างขนผลไม้จากเชียงรายมายังตลาดไท และขนผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยไปส่งที่ท่าเรือเชียงแสน

และ 3-หญิงไทยที่รับจ้างแต่งงาน เพื่อใช้ชื่อออกหน้าในการจัดการเรื่องธุรกิจ รูปแบบการทำธุรกิจลักษณะนี้มิใช่มีเฉพาะแต่ผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยเท่านั้น แต่รวมถึงการค้าลำไยอบแห้งในภาคเหนือ ที่ระยะหลังมีปัญหาราคาตกต่ำเกิดขึ้นทุกปี เพราะทุกวันนี้การกำหนดราคารับซื้อลำไยล้วนอยู่ในมือ “พ่อค้าชาวจีน” กว่า 40 รายที่เข้ามาลงทุนทำ “ล้ง” ตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตลำไย

การที่พ่อค้าจีนเหล่านี้สามารถกำหนดราคารับซื้อกันเองได้ชนิดวันต่อวัน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ผูกขาดซื้อล็อตใหญ่อยู่เพียงกลุ่มเดียว

ขณะที่สินค้าอื่นๆ ของไทย อาทิ พืชผักหลายชนิด ซึ่งเป็นที่ต้องการบริโภคในจีน กลุ่มพ่อค้าจีนก็ใช้วิธีการรวมกลุ่มกันไปจองซื้อถึงสวนในจังหวัดนครปฐมและขนขึ้นไปส่งยังท่าเรือเชียงแสนเช่นกัน

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคส่งออกผักผลไม้จากไทยไปจีนในทุกวันนี้

ขณะที่ย่านห้วยขวางและสุทธิสารกำลังกลายเป็นชุมชนที่พักอาศัยของชาวจีนแห่งใหม่ คล้ายคลึงกับเยาวราชเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยอพาร์ตเมนต์แถบนี้คลาคล่ำไปด้วยคนจีนที่มาพักอาศัยอยู่กับภรรยาชาวไทยและตึกแถวริมถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยกตัดถนนสุทธิสาร มีแหล่งบันเทิงที่เปิดขึ้นเพื่อต้อนรับลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะ

ห้างสรรพสินค้าบนถนนรัชดาภิเษก ต่างมีกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนมาจับจ่าย ซื้อสินค้าสัปดาห์ละหลายกลุ่ม จนห้างทั้ง 2 แห่งต้องให้พนักงานขายเรียนพูดภาษาจีนเพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ได้

กรุ๊ปทัวร์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเข้ามาโดยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว แต่มีอีกบางส่วนที่เข้ามาหาช่องทางการค้าและยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นพ่อค้าจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในภายหลัง

สิ่งที่น่าสนใจและชวนให้ได้ร่วมพิจารณาสำหรับการหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยของพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้คือ คนกลุ่มนี้มิได้เข้ามาเพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เหมือนคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 100 ปีก่อน แต่เขาเหล่านี้เข้ามาเพื่อหวังดูแลการค้าและหวังได้ “กำไร” ขนกลับไปที่บ้าน
 
สนธิ นิยามคนจีนกลุ่มใหม่นี้ว่า “เป็นจีนที่มีลักษณะจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ต่างจากอเมริกาเลย เลวกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะทุนจีนไม่มีวัฒนธรรม แต่จะตำหนิเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องเอาประเทศเขารอดก่อน คำถามคือ แล้วประเทศไทยจะเอาประเทศเรารอดหรือเปล่า”

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ไทยในฐานะที่เป็นมิตรประเทศ จะกำหนดบทบาทท่าทีและจัดวางยุทธศาสตร์ตั้งรับการรุกคืบของมหาจักรวรรดิจีนใหม่นี้อย่างไร เป็นเรื่องที่ชวนคิดและท้าทายอย่างยิ่ง