วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > MOCHIKO: โมจิความสุข

MOCHIKO: โมจิความสุข

 

ช่วงก่อนออกพรรษาที่ผ่านมา นอกเหนือจากประเพณีไหว้พระจันทร์ ที่หลายคนบ่นผิดหวัง เพราะเมฆฝนบดบังทัศนียภาพจนไม่สามารถชื่นชมความสง่างามของจันทร์ได้ แต่เชื่อว่าหลายท่านคงได้ร่วมบำเพ็ญกุศลใหญ่ ทั้งเทศกาลสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ ต่อเนื่องด้วยเทศกาลถือศีลกินผักเป็นการชำระจิตใจ

เทศกาลงานบุญแบบไทยๆ ที่มีทั้งขนมลาและกระยาสารท ทำให้นึกถึงอาหารญี่ปุ่น ที่กล่าวได้ว่าเป็นได้ทั้งอาหารหลักและของทานเล่นที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้ดีที่สุดชนิดหนึ่ง อย่างโมจิ (Mochi) ไม่น้อยเลย
 
ยิ่งในช่วงเทศกาลต่างๆ ของญี่ปุ่น Daifuku Mochi หรือขนมโมจิที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษกลายเป็นของขวัญที่ส่งมอบให้แก่กันและกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุที่ Dai แปลว่าใหญ่ ส่วน fuku แปลว่าโชค
 
Daifuku Mochi จึงอาจแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า โมจิมหาโชค ซึ่งเป็นมงคลนามสำหรับเทศกาลแห่งความสุขจริงๆ
 
แต่ท่านผู้อ่านอย่างเพิ่งพุ่งเป้าสรุปไปที่ โมจิ ที่เป็นชื่อเรียกขนมที่เราคุ้นเคยแต่โดยลำพังอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริง Mochi กินความกว้างขวางไปถึงการแปรรูปข้าวให้กลายเป็นแป้ง หรือ Mochiko ด้วย
 
ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารที่มีส่วนร่วมอยู่ในพิธีกรรมและเทศกาลสำคัญของญี่ปุ่นแล้วกระบวนการก่อนที่จะได้แป้งโมจิ (Mochiko) ยังสะท้อนวิธีคิดและสอดแทรกวิถีปฏิบัติสำหรับการอยู่ร่วมในชุมชนไว้อย่างแยบยล
 
เพราะด้วยเหตุที่แป้งโมจิหรือ Mochiko แปรรูปมาจากการนำข้าวหุงสุกมาทุบโขกให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน จนมีลักษณะเหนียวนุ่ม กรรมวิธีดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและแรงงานในการประกอบไม่น้อย
 
ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในประเทศไทยนอกจากจะมีสารทไทย หรืองานบุญเดือนสิบให้ได้ร่วมกันปรุงกระยาสารทแล้ว ยังมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ของญี่ปุ่นก็จะมีเทศกาลชมพระจันทร์ หรือ Otsukimi ซึ่งใกล้เคียงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางประเพณีว่าด้วย harvest moon ดังกล่าวมาจากจีน และสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัย Heian เลยทีเดียว
 
ในช่วงเทศกาลที่ว่านี้ ถนนหนทางในญี่ปุ่นจะถูกประดับด้วยสัญลักษณ์กระต่ายกำลังตำข้าว เพื่อนำมาทำขนมโมจิ ซึ่งเป็นการสื่อแสดงให้รู้ว่าถึงเทศกาลชมพระจันทร์ และสะท้อนให้เห็นความเป็นสังคมในวัฒนธรรมข้าวของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

ช่วงเทศกาล Otsukimi ที่ว่านี้ก็มีแป้งโมจิ หรือ Mochiko แสดงบทบาทนำอีกครั้ง แต่นำเสนอในรูปของ Tsukimi Dango ซึ่งก็คือแป้งโมจิ หรือ Mochiko ที่นำมาปั้นเป็นก้อนโดยไม่ใส่ไส้ นัยว่าเพื่อสื่อถึงความกลมใสของดวงจันทร์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
 
ในโรงเรียนอนุบาลและประถมที่ลูกชายผู้เขียนเข้าเรียน เมื่อครั้งพวกเราอยู่ญี่ปุ่นก็มีกิจกรรมการทุบนวดแป้งโมจิให้เราได้เข้าร่วมอย่างน้อยปีละครั้ง ก็ในช่วงชมพระจันทร์ที่ว่านี้ ซึ่งมิได้เป็นเพียงกิจกรรมสนุกสนานเท่านั้น หากเป็นแบบแผนประเพณีที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Mochitsuki ที่ประกอบด้วยขั้นตอนซับซ้อนพอควร
 
แม้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ของโรงเรียนจะมีคุณแม่บ้านคอยรับผิดชอบดูแลและเข้าร่วมเป็นหลัก แต่สำหรับกิจกรรมทุบนวดแป้งโมจิ แรงงานจากคุณผู้ชายทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่ทุกคนให้การต้อนรับอยู่แล้ว เพราะการทุบนวดแป้งโมจิ เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ในความเป็นจริงกินแรงไม่น้อยเลย
 
ประเด็นที่สำคัญก็คือในช่วงต้นของการนำข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ มาใส่ลงในครกไม้เพื่อออกแรงตำนั้น อาจไม่ต้องอาศัยกำลังใดๆ มากนัก แต่เมื่อข้าวถูกบดละเอียดจนเริ่มติดกันเหมือนแป้งเปียกแล้ว นี่ละ ถือเป็นช่วงเวลาที่กลายเป็นดัชนีชี้วัดความแข็งแรงกันเลยทีเดียว
 
ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเมื่อแป้งเริ่มเหนียวจนยากที่จะดึงค้อนไม้อันใหญ่ให้ลอยขึ้นมาจากมวลแป้ง การจะส่งค้อนที่มีน้ำหนักมากขึ้นทุกทีในความรู้สึกให้ตรงดิ่งลงไปสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำย่อมเป็นเรื่องที่ลำบากขึ้นเป็นลำดับ
 
เรื่องที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นก็คือ ทางโรงเรียนจะให้เด็กๆ ซึ่งเป็นลูกๆ ของผู้ถือค้อนทุบนวดแป้งอยู่นั้น เป็นผู้พลิกข้าวในครก เพื่อให้สามารถทุบนวดข้าวได้ถ้วนทั่ว
 
แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่อนล้าไปทุกที ความเสี่ยงที่ค้อนไม้จะฟาดโดนมือน้อยๆ จึงมีมากขึ้นตามลำดับ
 
กุศโลบายที่แอบซ่อนอยู่ในการทุบนวดแป้งโมจิดังกล่าวคล้ายกับ กำลังจะบอกกล่าวเรื่องราวละเอียดอ่อนสำหรับการดำรงชีวิตของแต่ละบ้านไปในตัว
 
ในส่วนของพ่อแม่ บทเรียนว่าด้วยความอ่อนล้าจากการงาน ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงทั้งโดยกายภาพและจิตใจกับเด็กๆ ตัวน้อยๆ
 
ขณะที่หนูน้อยทั้งหลายก็คงต้องเพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากการละเล่น และกิจกรรมทั้งปวงไปด้วย
 
ความสุขของกิจกรรมนวดแป้งโมจิ ที่สามารถนำไปประกอบเป็นขนมและอาหารสารพัดไม่ได้อยู่ที่รสชาติของแป้งโมจิเท่าใดนักหรอกจริงไหม
 
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริง ที่ว่า ขนมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีอะไรมากไปกว่าแป้งห่อถั่วแดงและถั่วแดงห่อแป้ง ซึ่งพอได้แป้งโมจิมาแล้ว ก็นำไปห่อไส้ถั่วแดง หรือไม่ก็ราดด้วยถั่วแดงกวนกันเลย บางพื้นที่อาจมีน้ำตาลทรายแดงเพิ่มความหวานอีกสักหน่อย
 
แต่ความหอมหวานจากการได้ลงมือและร่วมแรงแข็งขันกันทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนต่างหาก ที่ทำให้การนวดแป้งโมจิเป็นกิจกรรมที่มีนัยความหมายขึ้นมามากกว่า