บมจ.ทียูเอฟต้องใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเอง หลังจากอยู่เบื้องหลังรับจ้างผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเป้าหมายปั้นแบรนด์องค์กร TUF ให้ติดตลาดโลก
ความใฝ่ฝันของ บมจ.ทียูเอฟที่จะมีแบรนด์เป็นของตนเอง ของไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ มีมานานเท่ากับช่วงเวลา ทำงานของเขา แม้ว่าปีนี้จะมีอายุ 77 ปีแล้วก็ตาม
อาหารทะเลแช่แข็งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยบริษัทรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ เป็นสิ่งที่ไกรสรคาใจมานาน และพยายาม แสวงหาหนทางเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองในตลาดโลก
แม้ว่า บมจ.ทียูเอฟจะมีแบรนด์จำหน่ายสินค้าในประเทศบ้างแล้วก็ตาม เช่น ฟิชโช่ (fisho) ซีเล็ค (sealect) และอาหารสัตว์ เช่น อาหารกุ้งยี่ห้อนานามิ หรือดี-โกรว์ (d-grow) หรือ Aquafeed แต่ก็จำหน่ายอยู่ในประเทศ ในขณะที่ตลาดโลกต้องมีแบรนด์ใหม่ที่ต่างออกไป
ทว่าหากจะเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่โดยไม่มีใครรู้จักอาจเป็นหนทางที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการบริษัทในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอยู่ในตลาด ย่อมเป็นทางลัด จึงทำให้ทียูเอฟซื้อกิจการบริษัท Van Camp Sea-foods ในสหรัฐ อเมริกาผู้ผลิตปลาทูน่าและปลาแซลมอน และได้เป็นเจ้าของแบรนด์ Chicken of the sea
นอกจากนั้นยังได้เป็นเจ้าของแบรนด์ในยุโรปอีก 4 ยี่ห้อคือ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier, Mareblu ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี หลังจากเข้าซื้อกิจการบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส
การเข้าซื้อกิจการในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาทำให้บริษัทสามารถทำตลาดต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ โดยไม่ต้องกังวลเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่ หากทำเช่นนั้นบริษัทฯ อาจต้องลงทุน ลงแรงไม่น้อย เพราะตลาดปลาทูน่าในตลาดโลกมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าจะนิยมซื้อ สินค้าที่มีประวัติยาวนาน เพราะแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ของธุรกิจที่รักษาแบรนด์ให้คงอยู่ได้
การตัดสินใจเข้าไปซื้อแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดอยู่แล้ว นับว่าเป็นการคิดพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
นอกจากการสร้างแบรนด์เพื่อขยายตลาดแล้ว บริษัทฯ ยังเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์องค์กร (คอร์ปอเรท แบรนด์) แม้องค์กรจะขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในช่วงระยะหลัง แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักแบรนด์สินค้าของบริษัทมากกว่าองค์กร
โดยเฉพาะในประเทศไทยคนไทยรู้จักทียูเอฟน้อยมาก เมื่อเทียบกับแบรนด์สินค้าปลาทูน่าซีเล็ค หรือปลาฟิชโช่ สืบเนื่อง จากบริษัทไปโตต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนโลโกให้เป็นสากลมากขึ้น โดยเปลี่ยนไปใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีฟ้าคำว่า TUF แทน ซึ่งคำย่อที่ใช้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นตัวอักษรที่คุ้นเคยและจดจำง่าย และมีรูปโค้งด้านบนและล่างตัวอักษร ใช้สีสื่อแสดงถึงสัญลักษณ์พระอาทิตย์กับท้องทะเล พร้อมกับจัดทำภาพยนตร์โฆษณา “SEAFOOD SEE TUF” ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การปรับภาพลักษณ์ในครั้งนี้เป็นการปรับภาพลักษณ์คอร์ปอเรท แบรนดิ้ง นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร สิ่งที่คาดหวังจาก การปรับภาพลักษณ์เพื่อต้องการให้พนักงานรักองค์กรและดึงดูดผู้บริหารและบุคลากรใหม่ๆ ที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีเข้ามาร่วมงาน เพื่อรองรับธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบผลสำเร็จในธุรกิจทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ก็คือคน ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจและการ ให้ความสำคัญของบุคลากร บริษัทได้กำหนดเป็นปรัชญาไว้ 7 ข้อ Committed, Care for people, passion for Growth, Can do, Humble, Flexible and Communicative เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานให้กับพนักงานปัจจุบันที่มีถึงกว่า 30,000 คนทั่วโลกได้เข้าใจถึงวิถีการทำงานขององค์กร
ขณะที่ทียูเอฟเริ่มหันมาสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ธีรพงศ์ ซีอีโอก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถยกภาพลักษณ์ขององค์กรให้น่าจับตามองยิ่งขึ้น เมื่อเขาได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลในวงการอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก และได้รับรางวัล Person of the Year จากนิตยสาร InfraFish Media นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่นำแบรนด์ทียูเอฟไปสู่ระดับสากล
การครอบครองแบรนด์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีอายุยาว นาน รวมถึงความพยายามที่จะนำแบรนด์ทียูเอฟเข้าไปอยู่ในตลาด โลก ทำให้องค์กรแห่งนี้ฮึกเหิมขึ้นทุกวัน