วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > “BGH” พลิก 3 โมเดลสยายปีก แผน “แฟรนไชส์คลินิก” รุกตลาด

“BGH” พลิก 3 โมเดลสยายปีก แผน “แฟรนไชส์คลินิก” รุกตลาด

 

อาณาจักรธุรกิจ เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BANGKOK DUSIT MEDICAL SERVICES: BDMS) หรือกลุ่ม BGH ที่มีมูลค่ารวมในตลาดหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแคป) เกือบ 170,000 ล้านบาท กำลังเปิดเกมรุกสยายปีกครั้งใหม่แบบเจาะทุกชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเป้าหมายของมหาเศรษฐีไทย นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ไม่ใช่แค่การเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ต้องเป็นที่ 1 ในตลาดเอเชียแปซิฟิก เป็นยุทธศาสตร์โค่นล้มและสกัดคู่แข่งยักษ์ใหญ่สายพันธุ์มาเลเซีย ที่พยายามเจาะฐานประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยรอบ เพื่อยึดตลาดอาเซียนทั้งหมด

ปัจจุบัน กลุ่ม BGH ประกอบด้วยกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลที่ลงทุนถือหุ้นใหญ่แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลกรุงธน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลเอกอุดร

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเทมส์ ศูนย์วิเคราะห์โลหิตที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของไทยและอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ไบโอ โมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ห้องปฏิบัติการชีวโมเลกุล บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด ผู้ผลิตยา บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศทั่วประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมสนับสนุนการให้บริการของทุกโรงพยาบาลในเครือ และบริษัท กรุงเทพพรีเมียร์นายหน้าประกันชีวิต จำกัด ผู้ให้บริการประกันสุขภาพและประกันชีวิต

สำหรับปฏิบัติการรุกสยายปีกครั้งใหม่และครั้งใหญ่เริ่มต้นอย่างชัดเจนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่กลุ่ม BGH ต้องการเปิด “คลินิกชุมชน” เปรียบเสมือนการขยายหน้าด่านแผนก OPD หรือ Out Patient Department ซึ่งเป็นจุดเริ่มรับคนไข้ในโรงพยาบาลออกสู่ชุมชน เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็นลูกค้าประจำของโรงพยาบาลตามกระบวนการการส่งต่อที่เริ่มต้นตั้งแต่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับกลางและโรงพยาบาลแม่ในกรณีการรักษาพยาบาลที่ต้องการหมอเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งกลุ่ม BGH ขยายเครือข่ายครบทุกระดับการรักษาพยาบาลและทุกกลุ่มตลาด

ระดับที่ 1 ตติยภูมิ หรือ Top Tertiary Care Hospital เป็นโรงพยาบาลระดับท็อป ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่

ระดับที่ 2 ศูนย์ตติยภูมิหรือ Tertiary Hub ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช พญาไท 2 กรุงเทพพัทยา ภูเก็ต นครราชสีมา และเชียงใหม่ ที่กำลังก่อสร้างจะเปิดให้บริการในปี 2557

ระดับที่ 3 ตติยภูมิธรรมดา ได้แก่ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ตามด้วยระดับที่ 4ทุติยภูมิ หรือโรงพยาบาล ระดับกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพพระประแดง และโรงพยาบาลที่จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ คือ โรงพยาบาลจอมเทียน จ. ชลบุรี สุนทรภู่ จ.ระยอง และดีบุก จ.ภูเก็ต

และระดับที่ 5 ขั้นปฐมภูมิ หรือ Primary หรือ “คลินิกชุมชน” ที่ถือเป็นโมเดลใหม่ที่กำลังบุกเต็มแพลทฟอร์มแยกตามลักษณะตลาดของแต่ละแบรนด์ เพื่อขยายไปยังชุมชน หัวเมือง จังหวัดใหญ่ ซึ่งตามแผนตั้งเป้าขยายคลินิกชุมชนมากกว่า 100 แห่ง 

อย่างคลินิกชุมชนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ใช้ชื่อว่า B+TELECARE Clinic (บีพลัส เทเลแคร์คลินิก) ซึ่งเริ่มนำร่องให้บริการ 2 สาขา คือ สาขารามคำแหง 106 กับสาขาเจริญกรุง 93 ส่วนสาขาที่ 3 วัชรพล จะเปิดให้บริการต้นปีหน้า

กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชใช้ชื่อว่า “สมิติเวช คลินิกเวชกรรม” ปัจจุบันเปิดแล้ว 9 แห่ง ได้แก่ สาขาเมืองทองธานี สาขาแจ้งวัฒนะ สาขาอมอรินี รามอินทรา สาขาลาซาล สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ สาขาอีสเทิร์นซีบอร์ด สาขาชลบุรี สาขาแหลมฉบัง และสาขาเครือสหพัฒน์

กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ใช้ชื่อว่า “พญาไท คลินิกเวชกรรม” ล่าสุดเริ่มทดลองเปิด 2 สาขาที่บ่อวินและศรีราชา แต่จะรวมเป็นสาขาเดียวที่บ่อวิน จ. ชลบุรี

ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลเปาโลยังเน้นการขยายในรูปแบบโรงพยาบาลมากกว่าคลินิก เนื่องจากทั้ง 4 สาขาในปัจจุบัน ได้แก่ พหลโยธิน (สะพานควาย) โชคชัย 4 นวมินทร์ และสมุทรปราการ อยู่ในทำเลย่านชุมชน เดินทางสะดวก และโดยนโยบายวางกลุ่มเปาโลเป็นโรงพยาบาลชุมชนอย่างแท้จริง เน้นตลาดระดับกลาง คนทำงาน ชนชั้นกลางและกลุ่มประกันสังคมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ รูปแบบคลินิกชุมชนใช้เงินลงทุนต่อสาขาเบื้องต้นประมาณ 20 ล้านบาท จะมีแพทย์และพยาบาลประจำแต่ละสาขา พร้อมทั้งเครื่องเอกซเรย์และแล็บต่างๆ ซึ่งในกรณีการอ่านผลหรือการปรึกษารักษาในเคสยากๆ จะส่งมายังส่วนกลาง ผ่านระบบ Tele conference หรือประชุมทางไกล เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล  กล่าวกับ ผู้จัดการ360 ํ เกี่ยวกับแนวคิดการขยายคลินิกชุมชน เนื่องจากการเปิดคลินิกมีต้นทุนการบริหารต่ำกว่าต้นทุนของโรงพยาบาล ซึ่งทำให้ยอดค่าบริการต่ำกว่และในข้อเท็จจริงการรักษาโรคกว่า 70-80% เป็นอาการพื้นฐาน ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่คลินิกที่มีอยู่ในตลาดทั่วไปยังขาดจุดแข็งเรื่องคุณภาพ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อมาโรงพยาบาล ทั้งค่าบริการ ค่าแพทย์ ค่ายา ที่คิดตามมาตรฐานโรงพยาบาล

การเปิดคลินิกชุมชนที่มีจุดแข็งด้านมาตรฐานและแบรนด์เป็นที่ยอมรับจึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่กลุ่ม BGH สามารถขยายฐานเจาะตลาดที่มีช่องว่างอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มประกันสังคม คนทำงาน ชนชั้นกลางที่ต้องการบริการที่ได้มาตรฐานมากกว่าคลินิกทั่วไปในราคาที่ถูกกว่าโรงพยาบาล หรือเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อคน

ถือว่า โมเดลการขยายฐานผ่าน “คลินิกชุมชน” เป็นตัวเสริมอีก 2 โมเดลธุรกิจ คือโมเดลการทำพาร์ตเนอร์กับกลุ่มโรงพยาบาลขนาดเล็ก สแตนด์อะโลน วิธีการคือ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้เกิดระบบส่งต่อคนไข้มายังโรงพยาบาลแม่ในกลุ่ม BGH  ในกรณีคนไข้กรณีที่ต้องการการรักษาพยาบาลที่ยากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ “วิน-วิน” ทั้งคู่ คือ โรงพยาบาลขนาดเล็กสามารถยกระดับเครดิตความร่วมมือจากโรงพยาบาลระดับท็อป ขณะที่เครือกรุงเทพดุสิตเวชการได้รับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลพาร์ตเนอร์

เช่นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพกับโรงพยาบาลบางโพ เปิด “ศูนย์สุขภาพหัวใจ โรงพยาบาลบางโพ” บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการตรวจวินิจฉัย เบื้องต้น การตรวจด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการดูแลและการป้องกันโรคหัวใจ การรักษาหากมีอาการที่จะต้องผ่าตัดหรือสวนหัวใจ โรงพยาบาลบางโพมีศักยภาพส่งต่อไปโรงพยาบาลยังเครือข่ายของโรงพยาบาลกรุงเทพ

ในส่วนนี้ เฉพาะเครือโรงพยาบาลเปาโลและพญาไทมีการทำพาร์ตเนอร์กับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ แต่ระยะเริ่มต้นจะเน้นแถบปริมณฑลก่อน อาจใช้แบรนด์ของพาร์ตเนอร์หรือประกบกับแบรนด์พญาไทหรือเปาโล

อีกโมเดล คือการลงทุนสร้างโรงพยาบาล เพื่อเป็นโรงพยาบาลแม่ให้กับโรงพยาบาลพาร์ตเนอร์และคลินิกชุมชน ซึ่งตามแผนภายในปี 2558 จะมีโรงพยาบาลในเครือมากกว่า 50 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือเพิ่มขึ้น 20 แห่ง จากในขณะนี้ที่มีโรงพยาบาลในเครือแล้ว 30 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลกรุงเทพ 15 แห่ง พญาไท 4 แห่ง เปาโล 4 แห่ง สมิติเวช 4 แห่ง บีเอ็นเอช 1 แห่ง และกัมพูชา 2 แห่ง เพื่อรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ขณะที่ปีนี้ใช้งบลงทุน 7,000 ล้านบาท ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น 10 แห่ง ภายใต้ 3 แบรนด์ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช และเปาโล ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ (ย่านไชน่าทาวน์) รังสิต ชลบุรี พัทยา ระยอง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น และในปีหน้าจะใช้งบลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ขยายเครือข่ายอีก 10 แห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา จากปัจจุบันที่มี 2 แห่งในกรุงพนมเปญ

แม้ด้านหนึ่ง การขยายเครือข่ายชนิดปูพรมทุกกลุ่มตลาดกำลังถูกมองถึงการยึดตลาดการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากและเม็ดเงินในตลาดนับแสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่ง เครือกรุงเทพดุสิตเวชการหรือ BDMS กำลังพลิกโฉมธุรกิจโรงพยาบาลที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์การตลาดผูกมัดใจลูกค้า เปลี่ยนความรู้สึกและบรรยากาศการมาโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องน่ากลัว การแจกของเล่นให้คนไข้เด็ก การวางแผนชอปปิ้งและแผนทางการท่องเที่ยวให้กลุ่มญาติที่ติดตามมากับคนไข้ต่างชาติ

กรณีการจับมือกับบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดตัว “โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย โดย โรงพยาบาลกรุงเทพ” เพื่อใช้กลยุทธ์เอนเตอร์เทนเมนต์ไลฟ์สไตล์ และมูฟวี่ มาร์เก็ตติ้ง อัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทางหนึ่งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่สำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพทุกคน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

อีกทางหนึ่งเป็นการเล่นการตลาดกับคอมมูนิตี้ เพื่อเสริมกลยุทธ์การขยายฐานผ่านคลินิกชุมชนด้วย ที่สำคัญ ธุรกิจโรงพยาบาลกำลังเกิดจุดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคการทำธุรกิจในรูปแบบ “แฟรนไชส์คลินิก” ที่ต้องผ่านการรับรองด้านมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาลและยา จากเดิมที่คลินิกเวชกรรมส่วนใหญ่เป็นการลงทุนส่วนตัวของแพทย์และรองรับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง กลุ่มประกันสังคม หรือกลุ่มบัตรทอง  จะเปลี่ยนมาเป็นแฟรนไชส์คลินิกที่ลงทุนโดยตรงจากโรงพยาบาลหรือพาร์ตเนอร์ ซึ่งมีกลุ่มโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น เวชธานี เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อลงมาแข่งขันในตลาดคลินิกเครือข่ายด้วย 

ธุรกิจคลินิกชุมชนในอนาคตอาจไม่ต่างอะไรกับแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ และเจ้าตลาดคงหนีไม่พ้นกลุ่ม BGH เป็นแน่

Related Story

ความน่ากลัวของเออีซี “เมดิคอลฮับ” ในมือต่างชาติ