ว่ากันว่า คน “แปดริ้ว” หรือชาวจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นเป็นนักประดิษฐ์ เพราะไม่ว่าจะเป็น “ควายเหล็ก” หรือเครื่องยนต์ “เรือหางยาว” ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวไทยในอดีต ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากที่นี่
กลุ่มเกษตรพัฒนา ผู้คิดค้นนวัตกรรม “รถเกี่ยวนวดข้าว” ก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แปดริ้วเช่นกัน
รถเกี่ยวนวดข้าวได้เข้ามาพลิกวิถีชาวนาไทย จากวลีดั้งเดิมที่ว่าต้อง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” เวลาลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว มาสู่ธุรกิจรับจ้างเกี่ยวข้าวโดยเครื่อง จักร
ชาวนาสามารถลดกระบวนการทำนาให้ใช้ระยะเวลาสั้นลง ในทางตรงกันข้าม สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น
“20 ปีที่ผ่านมา ถ้าประเทศไทยไม่ได้รถเกี่ยวข้าวจะไม่สามารถยืนเป็นอันดับ 1 ของผู้ส่งออกข้าวของโลกได้ เพราะเราไม่มีแรงงาน ไม่มีปัญญาที่จะทำให้ออกมาอย่างนี้ได้ เพราะรถเกี่ยวข้าวนี่แหละเป็นตัวหลักที่ทำให้ประเทศไทยสามารถยืนเป็น ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ได้ ขณะที่พม่าหรือเวียดนาม ก่อนหน้านี้ที่เขาไม่มีเครื่องมือยัง ใช้แรงคนอยู่ เขาจึงไม่สามารถเพิ่มผลผลิต ได้” สมชัย หยกอุบล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทย ในกลุ่มเกษตรพัฒนา ให้ภาพกับ ผู้จัดการ 360 ํ
จุดกำเนิดของกลุ่มเกษตรพัฒนา อยู่ที่ตำบลเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้ถูกพัฒนาให้เป็นตลาด โบราณ “นครเนื่องเขต” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของแปดริ้ว
เดิมทีพี่น้องในตระกูลหยกอุบล ซึ่งมีชนะธัช หยกอุบล พี่ชายคนโต เป็นหลัก ประกอบอาชีพค้าพืชไร่อยู่ในตลาดเนื่องเขต แต่เมื่อทำไปแล้วเริ่มรู้สึกว่าอาชีพค้าพืชไร่ นั้นไม่ค่อยยั่งยืน จึงมองหาอาชีพใหม่
“เราก็มองว่าเมืองไทยนี้เป็นเมืองที่มีการปลูกข้าวกันเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยหาอะไรทำที่เกี่ยวกับเรื่องข้าว” สมชัยเล่า
เครื่องนวดข้าวเป็นผลผลิตชิ้นแรกของตระกูลหยกอุบลที่เริ่มต้นผลิตออกมาขายตั้งแต่ปี 2518 โดยใช้ห้องแถวเล็กที่อยู่ ในตลาดเนื่องเขต เป็นโรงงาน
จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2521 ก็ได้เปิดเป็นร้าน “เกษตรพัฒนา” ขึ้นเพื่อ ผลิตและจำหน่ายเครื่องนวดข้าว
“คือสมัยก่อนเวลาเกี่ยวข้าวนี่ใช้คนเกี่ยว แล้วก็มีการตากฟ่อนอยู่ในนาสัก 3-4 แดด แล้วก็ขนข้าวจากนามาสู่ลาน แล้วก็เอาสัตว์ หรืออะไรก็ได้ มาเวียนลานให้ข้าว หลุดออกจากรวง แล้วค่อยเอาไปสี ไปฝัด กระบวนการเยอะมาก แล้วหากฝนตก ข้าว ก็เสียหมด เราก็เลยคิดมาทำเครื่องนวดข้าว เครื่องนวดข้าวนี่คือเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ ตากฟ่อนเสร็จ ก็เอามาใส่เครื่องนวดเลย ก็จบ ฟางก็ยังอยู่ในนาข้าว เหลือแต่เม็ดข้าวที่ได้มา ได้มาเป็นข้าวเปลือก”
การผลิตเครื่องนวดข้าวออกมาขาย ของร้านเกษตรพัฒนา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ที่มีอาชีพทำนาทั่วประเทศ มีลูกค้าจากภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในเขต ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เดินทางไปสั่งซื้อเครื่องนวดข้าวถึงแปดริ้ว
วราภรณ์ หยกอุบล ในฐานะพี่สาวคนโต จึงชักชวนสมชัย น้องชายคนเล็กขึ้น มาเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลก
โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า พิษณุโลกจะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่ง และเดินทางของอาเซียนในอนาคต เพราะถือเป็นจุดกึ่งกลาง ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่บนแผ่นดิน ใหญ่
ขายเครื่องนวดข้าวมาได้ประมาณ 8 ปี พี่น้องหยกอุบลเริ่มพยายามต่อยอดสินค้า
ปี 2526 เกษตรพัฒนาได้เริ่มศึกษา และค้นคว้าหาทางผลิตรถเกี่ยวข้าวอยู่เงียบๆ
ที่พวกเขามองถึงสินค้าตัวนี้เพราะในขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) และกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534)
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่จะเริ่ม ใช้ในปี 2530 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือ การกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งวิธีการหนึ่งในแผนนี้ คือการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมไปตั้งโรงงาน อยู่ในต่างจังหวัด
ซึ่งผลกระทบประการหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดหากมีการออกไปตั้งโรงงานอยู่ในต่างจังหวัดคือแรงงานภาคเกษตรกรรม จะถูกดึงเข้าไปเป็นแรงงานภาคอุตสาห-กรรมเป็นจำนวนมาก เพราะรายได้มีความมั่นคงกว่าและอาจส่งผลถึงการขาด แคลนแรงงานภาคเกษตรกรรมขึ้นได้
ตลาดของรถเกี่ยวข้าวสามารถเกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้น เพราะวิถีของชาวนาไทยที่เคยอาศัยวิธีการ “ลงแขก” ชักชวนสมัครพรรคพวก คนร่วมหมู่บ้านไปช่วยกันเกี่ยวข้าวในแปลงนาของเพื่อนบ้านอาจหายไป เพราะคนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งจะหนีไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมแทน
ปรากฏว่าพวกเขามองไม่ผิด
แต่กว่าจะคิดค้น พัฒนา จนได้คอนเซ็ปต์ของสินค้าที่ชัดเจน สามารถผลิตออกมา เป็นรถเกี่ยวข้าวที่สามารถใช้งานได้จริง ก็ย่างเข้าสู่ปี 2534
แม้ว่าเกษตรพัฒนาได้เริ่มนำเสนอสินค้าคือรถเกี่ยวข้าวออกสู่ท้องตลาดแล้ว ยังต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจกับลูกค้าอีกถึง 10 กว่าปี จนในปี 2546 รถเกี่ยวข้าวของเกษตรพัฒนาจึงค่อยได้รับการยอมรับจากท้องตลาด
รถเกี่ยวข้าวของเกษตรพัฒนาสามารถร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวลงจากเดิม ซึ่งที่นา 20 ไร่ ต้องใช้เวลาเกี่ยวด้วยแรงคน ประมาณ 4-5 วัน เมื่อมาใช้รถเกี่ยวข้าวเกี่ยวแทนสามารถลดเวลาลงมาได้เหลือเพียงวันเดียว
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รถเกี่ยวข้าวจึงได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของกระบวนการทำนาของไทย ก่อให้เกิดอาชีพ ใหม่คืออาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าว และอาชีพรถขนส่งรถเกี่ยวข้าว
ส่วนตัวของสินค้าก็ได้มีการพัฒนา จากการเกี่ยวข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นการเกี่ยวและนวดข้าวไปด้วยในตัว
ปัจจุบันในจำนวนรถเกี่ยวนวดข้าวทั้งหมดที่พบเห็นกันในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะตามท้องนา หรือบนท้องถนน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณหมื่นกว่าคันที่เป็นรถเกี่ยวนวดข้าวของเกษตรพัฒนา
“เราขายรถเกี่ยวนวดข้าวมาประมาณ 20 ปี ยอดขายรวมจาก 2 โรงงานนี้ โดยเฉลี่ยปีละ 500 คัน 20 กว่าปีก็น่าจะได้ประมาณ 10,000 กว่าคัน” สมชัยให้ตัวเลข
นอกจากในประเทศไทยแล้วยังมีต่างประเทศที่ให้ความสนใจในตัวสินค้ารถเกี่ยวนวดข้าว เกษตรพัฒนาเริ่มได้รับออร์เดอร์สั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวจากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว
ตลาดในต่างประเทศของเกษตรพัฒนามีตั้งแต่ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน และประเทศในทวีปแอฟริกา ฯลฯ
แต่ตลาดที่เพิ่งจะมาใหม่ และกำลังมาแรงคือ พม่า
“ตอนนี้ถ้าพูดถึงความพร้อม กัมพูชาดีกว่าพม่า แต่ถ้าพูดถึงเรื่องโอกาสที่จะเกิดขึ้น พม่าดีกว่ากัมพูชา คือกัมพูชา ผมว่าเขายังไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทในการที่จะเป็นเจ้าตลาดในเรื่องของข้าว แต่พม่าไม่ใช่ พม่าเขาบอกว่าที่แล้ว มาเขาคือเบอร์ 1 ของโลกในการส่งข้าวออก เขามีพื้นที่เพาะปลูกใกล้เคียงกับไทย ฉะนั้นเขาจะทวงแชมป์คืน มันเลยต่างกัน”
พี่น้องในตระกูลหยกอุบลมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 6 คน ปัจจุบันมีการแตกธุรกิจออกเป็นหลายบริษัท
แต่ทุกบริษัทใช้แบรนด์สินค้าเดียวกันคือ “เกษตรพัฒนา”
ชนะธัช พี่ชายคนโต ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มเกษตรพัฒนา ยังอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ดูแลกิจการของบริษัทที่ใช้ชื่อว่า บริษัทโรงงานเกษตรพัฒนาฉะเชิงเทรา น้องชายคนรองของชนะธัชเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้
วราภรณ์ หยกอุบล น้องคนที่ 3 ในถ้าฐานะพี่สาวคนโต ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเกษตรพัฒนาอุตสาหกรรม อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
สมชัย หยกอุบล น้องคนที่ 4 ในฐานะน้องชายคนเล็ก ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทย อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนน้องสาวของสมชัยอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย และอีกคนมีธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเป็นของตนเอง ไม่ได้เข้ามาร่วมบริหารธุรกิจในกลุ่มเกษตรพัฒนา
การบริหารงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของ 3 พี่น้อง ซึ่งเป็นรุ่นแรก
จะมีเพียงที่โรงงานของบริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทยที่ลูกชายและลูกสาวของสมชัยคือ กิตติศักดิ์ และรัชดาวรรณ หยกอุบล ได้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารกิจการแล้ว ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่อง จักรกลการเกษตรมากว่า 30 ปี กลุ่มเกษตรพัฒนาถือเป็นกิจการหนึ่งที่มีโอกาสสูงมาก เมื่อประชาคมอาเซียน (AEC) ถือกำเนิดขึ้น จริงในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า