วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 10 ปี “ไปรษณีย์ไทย” การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

10 ปี “ไปรษณีย์ไทย” การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

 

หากคิดว่าธุรกิจของไปรษณีย์ไทย (ปณท.) จำกัด อยู่ที่การส่งจดหมายและขายแสตมป์ ถึงวันนี้ ไปรษณีย์ไทย (ปณท.) ได้ขยายการส่งตั้งแต่ลิ้นจี่ ลำไย แหนมเนือง ขนมไหว้พระจันทร์ ไปจนถึงน้ำยาล้างไต ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ ยันสกายแล็ป

นอกจากพันธกิจ “การส่ง” ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทยยังมีบริการรับชำระบิล ฝาก-โอนเงิน เติมเงินมือถือ ขายตั๋วรถทัวร์ ขายบัตรละครเวที ฯลฯ กระทั่งรับเช่าพระก็ทำมาแล้ว และในวันที่ 1 พ.ย. ศกนี้ ปณท.ยังจะมีบริการขายประกันเพิ่มด้วย

นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนของการปรับตัวตลอด 10 ปี หลังแปรสภาพและแยกตัวจาก “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” มาเป็น “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546

กิจการไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานรัฐที่ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงวันนี้ก็มีอายุกว่า 130 ปี แต่ด้วยความเจริญของเทคโนโลยีสื่อสารที่คุกคามการดำรงอยู่ของกิจการฯ รูปแบบเดิม ซึ่งทำให้บริการโทรเลขต้องเลิกไป ถึงแม้วันนี้ จดหมาย ธนาณัติ และไปรษณียบัตร จะยังไม่สูญหาย แต่ก็ลดลงอย่างมาก นี่จึงเป็นเหตุให้ ปณท.ต้องเร่งปรับตัว

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า จุดเปลี่ยนจากธุรกิจเดิมของ ปณท. เริ่มต้นในยุคที่ “จตุคามรามเทพ” เฟื่องฟูสุดขีด การผันตัวมาเป็นผู้นำส่งเหรียญจตุคามฯ ช่วยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ ปณท. เริ่มคิดจะผันตัวเองเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่ง” โดยมีหลักการคือ “ส่งทุกอย่าง”

หลักการดังกล่าวนำพา ปณท. ก้าวมาถึงปีที่ 10 ด้วยผลงานที่น่าภูมิใจ ด้วยรายได้รวมกว่า 1.82 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.13 พันล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และยังทำให้โครงสร้างรายได้ของ ปณท. เปลี่ยนแปลงไป

จากปี 2547 ที่รายได้จากตลาดสื่อสาร (ส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ และจดหมายลงทะเบียน) สูงกว่า 60% ลดเหลือ 48% ในปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ขยับความสำคัญขึ้นมาคือ ธุรกิจขนส่ง (ส่งสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นหีบห่อ) ซึ่งเพิ่มจากกว่า 20% มาเป็น 40%

นอกจากธุรกิจการส่ง ปณท. ยังมีธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ การขายแสตมป์สะสมและของที่ระลึก และธุรกิจการเงิน ได้แก่  ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน Bill Payment เติมเงินมือถือ รับฝาก-โอนเงิน ฯลฯ ล่าสุดคือ ขายประกัน

หลังได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยนิติบุคคลทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัยสำหรับรายย่อย ปณท. ได้ร่วมกับ 5 บริษัทประกันภัย ได้แก่ ทิพยประกันภัย ไทยซัมซุงประกันชีวิ, วิริยะประกันภัย อาคเนย์ประกันชีวิต และสยามซิตี้ประกันภัย ในการขาย “ไมโครอินชัวรันส์” ที่เบี้ยประกันไม่เกิน 1 พันบาทต่อปี และมีเงื่อนไขไม่ซับซ้อน

“จุดแข็งของ ปณท. คือความเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุม มีที่ทำการไปรษณีย์ทั้งของ ปณท. เองและของเอกชนราว 4 พันแห่ง มีพนักงานกว่า 2.4 หมื่นคน สามารถเข้าถึง 20 ล้านครัวเรือน เข้าถึง “รากหญ้า” มากที่สุด ปณท. มองว่าการใช้เครือข่ายให้เกิดประโยชน์จะช่วยสร้างโอกาสเติบโตในตลาดการเงินได้ ซึ่งนี่คงเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่ทดแทนรายได้จาก Bill Payment ที่หายไป” อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง ปณท. กล่าว

ก่อนนี้ ตลาดการเงินของ ปณท.ไปได้ดีมาก โดยเฉพาะบริการรับชำระ (Bill Payment) เพราะเก็บค่าธรรมเนียม 10 บาท ถูกกว่า “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ที่เก็บ 15 บาท แต่ทันทีที่เทสโก้ฯ และบิ๊กซี เข้าสู่ตลาดด้วยค่าธรรมเนียมเพียง 5 บาท รายได้ของ ปณท. จากบริการตรงนี้ก็ดิ่งลง

“การแข่งขันในธุรกิจการเงินรุนแรงมาก อย่างธนาณัติ วันนี้ก็ขายได้แต่คนแก่ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เอทีเอ็มกันหมด ไม่เกิน 10 ปี ธนาณัติก็คงต้องหยุด ตั๋วแลกเงินเอง สิ้นปีนี้ก็ไม่ขายแล้ว วันนี้ ปณท. ถึงต้องหารายได้ทางอื่นเข้ามาแทนที่” สมชาย ธรรมเวช ผู้จัดการฝ่ายตลาดการเงินและค้าปลีก กล่าว

สำหรับเป้ารายรับค่าธรรมเนียมการขายประกันในปีแรก สมชายตั้งไว้ที่ 100 ล้านบาท โดย “ไมโครอินชัวรันส์” จะถือเป็นการชิมลางตลาดนี้ ก่อนที่ ปณท. จะพัฒนาไปสู่ธุรกิจนายหน้าประกันเต็มรูปแบบในราว 2 ปีข้างหน้า
          
แน่นอนว่าคู่แข่งอย่างร้าน 7-11 ก็เปิดขายไมโครอินชัวรันส์แล้ว แต่นำหน้ากว่าด้วยการร่วมมือกับ “เมืองไทยประกันชีวิต” เปิดช่องทางรับค่าสินไหมฯ ที่ยอดไม่เกิน 1 หมื่นบาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้เลย นอกจากนี้ยังมีเทสโก้ฯ และเซ็นทรัล ที่เตรียมลงมาขายประกันรายย่อยเช่นกัน

ขณะที่ช่องทางใหม่ในตลาดการเงินดูจะไม่ง่าย การสร้างช่องทางเพิ่มรายได้ในอีก 3 กลุ่มธุรกิจก็ดูเป็นเรื่องน่าจะ “เหนื่อยเอาการ”
 
ในธุรกิจสื่อสาร นอกจากการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการส่งเอกสารและใบแจ้งหนี้ให้แล้ว ปณท. ยังรุกสู่ตลาดไดเร็กต์เมล์ โดยชูจุดแข็งความ “เข้าถึง” ชุมชนทั่วประเทศ และ “รู้จริง” ว่าบ้านไหน ชุมชนไหน น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของโบรชัวร์นั้น

ส่วนธุรกิจขนส่งซึ่งทวีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ปณท. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่เพราะมี “ผู้เล่น” มากราย ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ขนส่งข้ามชาติ จนถึงบริษัทรถทัวร์ที่มีบริการรับส่งสินค้า ปณท. จึงต้องงัดกลยุทธ์มาสู้แบบไม่ยั้ง

อาทิ บริการขนส่งสินค้าทุกอย่าง ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ถึงสินค้าเฉพาะด้าน อย่างสินค้าการแพทย์ บริการ “ตัวกลาง” วางระบบขนส่งสินค้าสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี โอทอป อี-คอมเมิร์ช และขายตรง บริการขนส่งสินค้าและอุปกรณ์สำหรับบูธงานแสดงสินค้า บริการส่งอาหารแคมเปญ “อร่อยทั่วไทย” และ “ของดีเยาวราช” ที่เป็นการคัดสรรอาหารขึ้นชื่อของชุมชนโดยคน ปณท. บริการส่งด่วนข้ามจังหวัดภายใน 1 วัน (Super EMS) โดยร่วมกับแอร์เอเชียเพื่อเพิ่มมูลค่าบริการ EMS เดิม ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บริการเฉพาะเขตเมืองเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมจับมือกับแอร์เอเชียในการส่งสินค้าไทยไปยังตลาดอาเซียน โดยปัจจุบัน ปณท. ได้เริ่มนำร่องบริการไปรษณีย์กับธนาณัติระหว่างประเทศในกัมพูชาและลาวแล้ว

และเพื่อให้ธุรกิจขนส่งแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปณท. เตรียมจัดตั้งบริษัท “ไปรษณีย์ ดิสทริบิวชั่น” ด้วยงบ 500 ล้านบาท สำหรับการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ
 
สำหรับตลาดค้าปลีก แม้จะไร้คู่แข่งแต่ก็หาได้ซื้อง่ายขายคล่อง ที่ผ่านมา ปณท. ต้องงัดหลาก “ไอเดีย” มาใช้สร้างแบบแสตมป์ โดย “ไม้ตาย” คือ แสตมป์เหตุการณ์ เช่น แสตมป์สายัณห์ แสตมป์เทศกาล เช่น ตรุษจีน แสตมป์มงคล เช่น ชุดเบญจภาคี และแสตมป์ครบรอบหน่วยงานหรือความสัมพันธ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังใช้ “แสตมป์โลโก” เจาะกลุ่มองค์กรธุรกิจในการผลิตแสตมป์โลโกของบริษัทห้างร้านสำหรับการใช้งานขององค์กรนั้น และ “แสตมป์ส่วนตัว” สำหรับการใช้งานของบุคคลทั่วไป

ล่าสุด เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ ปณท. ยังเปิดให้เช่าพื้นที่ “อาคารไปรษณีย์กลาง” โดยให้ “อิมแพ็ค” บริหารให้เป็นเวลา 5 ปี ด้วยราคาขายพื้นที่ที่สูงกว่าอิมแพ็ค เจาะตลาดงานประชุม สัมมนา แสดงสินค้า อีเว้นต์ กาลาดินเนอร์ และงานแต่งงาน โดยชูจุดขายที่ตั้งเขตบางรักและความโรแมนติกของอาคาร ซึ่งงานแต่งของปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล เป็นงานแต่งแรกของที่นี่

“อาจมองว่า วันนี้ ปณท. ขายอะไรเยอะ ทำอะไรแยะไปหมด ก็เพราะเราต้องหาอะไรมารองรับ ถ้าเราหยุดนิ่ง ถ้าวันนี้เรายังส่งแต่จดหมาย วันนี้คงได้ทำข่าวปิดกิจการไปรษณีย์แทนข่าวที่เราจะเป็นนายหน้าประกัน” สมชายทิ้งท้าย

ความพยายามดิ้นรนต่อสู้ในทุกทางของ ปณท. ช่วยพลิกสถานการณ์ “ขาดทุน” เมื่อกว่า 10 ก่อน มาเป็น “กำไร” ในวันนี้ ภาพเช่นนี้ดูจะตรงกันข้ามกับรัฐวิสาหกิจเพื่อนบ้าน อย่าง “ทีโอที” ที่ไม่ยอมปรับตัว จนต้องตกอยู่ในสภาพ “ขาดทุน” มาโดยตลอด และกำลังประสบภาวะ “อยู่ลำบาก” เฉกเช่นวันนี้