วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > OLYMPIC MIRACLE

OLYMPIC MIRACLE

 

ผลการตัดสินคัดเลือกเมืองเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Olympic 2020 เสร็จสิ้นลงไปแล้ว พร้อมกับความผิดหวังของกรุงมาดริด และอิสตันบูล ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้อง Banzai และน้ำตาแห่งความชื่นมื่นของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

กล่าวเฉพาะ Tokyo ความมุ่งหมายที่จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นกรณีที่สืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่เมื่อปี 2005 เมื่อ Shintaro Ishihara ผู้ว่าการกรุงโตเกียวประกาศเป็นนโยบายสำหรับรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ สมัยที่ 3

โดยวางเป้าหมายให้การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Olympic 2016 เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเพื่อการพัฒนาของกรุงโตเกียว

ข้อเสนอของ Shintaro Ishihara ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวญี่ปุ่น จนเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวเป็นสมัยที่ 3 สมดังตั้งใจในการเลือกตั้งเมื่อปี 2007 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพความสำเร็จในอดีตเมื่อครั้งกรุงโตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Olympic เมื่อปี 1964 ซึ่งยังเป็นภาพอดีตที่ติดตราตรึงใจชาวญี่ปุ่นไม่น้อย และถูกกล่าวขวัญถึงในฐานะที่เป็น Olympic Miracle สำหรับญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เพราะการได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 1964 ทำให้กรุงโตเกียวสามารถแสดงพลังในการขับเคลื่อนทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1950 ต่อเนื่องมาสู่ 1960 หลังจากที่ต้องตกอยู่ในภาวะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างบอบช้ำที่สุด

Olympic 1964 จึงเป็นประหนึ่ง Showcase ที่หนุนนำให้ญี่ปุ่นกลับมามีที่อยู่ที่ยืน และเป็นที่สนใจของประชาคมโลกอีกครั้ง

ขณะเดียวกันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะชาวกรุงโตเกียว ก็กลับมามีสีสันอีกครั้ง เพราะระบบทางรถไฟและการสัญจรด้วยระบบทางด่วนรอบกรุงโตเกียว ก็เติมเต็มความสะดวกสบายควบคู่กับผังเมืองใหม่ไปในคราวเดียว

มรดกของ Olympic 1964 ในด้านหนึ่งก็คือการเป็นจุดสูงสุดของยุคสมัยที่ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “ยุคบ้านเมืองดีของญี่ปุ่น” ซึ่งไม่แปลกที่ Shintaro Ishihara ซึ่งผ่านประสบการณ์ดังกล่าวจะหวนระลึกและนำมาใช้ประโยชน์อย่างได้ผล

โดยเฉพาะการกล่าวถึงผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ภายใต้การระบุว่าการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 จะสามารถสร้างผลต่อเนื่องทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากถึง 3 ล้านล้านเยน ประมาณว่าเร่ขายฝันกันเลย

แต่ผลการตัดสินเลือกเมืองเพื่อเป็นสถานที่จัดการแข่งขัน OLYMPIC ฤดูร้อนครั้งที่ 31 ในปี 2016 ในครั้งนั้นกลับเป็นริโอ เด จาเนโรของบราซิลที่ได้รับเลือก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกจะได้จัดในทวีปอเมริกาใต้ แม้ว่า ริดอ เด จาเนโรจะไม่ได้มีฐานะเมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพก็ตาม พร้อมกับความผิดหวังร้าวลึกที่ทิ้งไว้ให้กับทั้ง มาดริดและโตเกียว

ความพยายามของญี่ปุ่นในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Olympic 2020 ถือเป็นวาระแห่งชาติในฐานะที่จะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ญี่ปุ่นกลับมามีที่อยู่ที่ยืนในเวทีนานาชาติอีกครั้ง หลังจากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานกว่า 2 ทศวรรษและยังถูกโถมทับด้วยเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่ถล่มใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ และความน่าเชื่อถือของระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อปี 2011 อีกด้วย

คณะผู้บริหารของจังหวัด Hiroshima และ Nagasaki เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ในฐานะตัวแทนของญี่ปุ่นด้วย โดยหวังว่าข้อเสนอที่จะให้ Hiroshima และ Nagasaki ในฐานะที่เป็น Peace City เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จะช่วยปลุกกระแสต่อต้านระเบิดปรมาณูในโอกาสครบวาระ 75 ปี ของการทิ้งระเบิดใส่สองเมืองนี้มาก่อนไปในตัว

แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ยากเพราะไม่เคยมีการจัดโอลิมปิกที่มีเจ้าภาพร่วม 2 เมืองมาก่อน และอาจขัดกับวัตถุประสงค์ของโอลิมปิกสากลที่ไม่ต้องการเกี่ยวพันกับมิติทางการเมือง ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเน้นหนักและเสนอให้กรุงโตเกียวเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นในที่สุด

กระนั้นก็ดี ความสำเร็จของการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ Olympic 2020 นับเป็นเพียงก้าวแรกของการฟื้นฟูความมั่นใจและเดินหน้ากลไกระบบเศรษฐกิจแบบ Abenomics ที่ประกอบส่วนด้วยการระดมงบประมาณเพื่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจชนิดที่ต้องเรียกว่า “รื้อสร้าง” เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่กันเลยทีเดียว

นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจประเมินกันว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของกรุงโตเกียวจะสามารถสร้างงานได้มากถึงกว่า 1.5 แสนอัตรา และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างเอิกเกริก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมได้มากถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 ล้านล้านเยน

ยังไม่นับรวมการหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวในช่วงระหว่างการแข่งขัน ที่คาดว่าจะมีถึงกว่า 8.5-10 ล้านคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคให้กับตลาดญี่ปุ่นอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่งก็คือ นอกจากกรุงโตเกียวจะได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดOlympic 2020 แล้ว ญี่ปุ่นยังได้รับเลือกให้จัดการแข่งขัน Rugby World Cup 2019 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันกีฬาระดับโลก เป็นการโหมโรงก่อนหน้า

แม้ว่ากำหนดการเหล่านี้จะอยู่ห่างออกไปอีก 5-6 ปีข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่าจักรกลในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นกำลังเริ่มเดินเครื่องและพร้อมทะยานไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ท้าทายครั้งใหม่แล้ว

 

Column: JAPANORAMA