วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 62 ปี “กัลย์จาฤก” ได้เวลาเจเนเรชั่น 3

62 ปี “กัลย์จาฤก” ได้เวลาเจเนเรชั่น 3

 

“อีกสองสามปี ผมอาจจะรีไทร์ ภารกิจของผมเริ่มหมดแล้ว และกำลังส่งมอบงานกันตนากรุ๊ปในวันนี้เป็นยุคของลูกหลานเจนเนอเรชั่น 3 แล้ว”

จาฤก กัลย์จาฤก ผู้กุมบังเหียนขยายอาณาจักรธุรกิจของกันตนากรุ๊ปจากประดิษฐ์ กัลย์จาฤก กล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ซึ่งแน่นอนว่า เส้นทางการต่อสู้ทุกช่วงจังหวะจนกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านสื่อเอ็นเตอร์เทนเมนท์รายใหญ่ รายได้มากกว่า 2,500 ล้านต่อปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและกินเวลายาวนานกว่า 60 ปี

สำหรับ “กันตนากรุ๊ป” เกิดและเติบโตจากธุรกิจวิทยุ เมื่อประดิษฐ์และสมสุข กัลย์จาฤก ก่อตั้งละครวิทยุ  “คณะกันตนา” เมื่อปี 2494 โดยมีลูกชาย 2 คน คือ สิทธานต์และจาฤกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงติดตามช่วยงานพ่อในยุคบุกเบิก ก่อนก้าวเข้าสู่วงการโทรทัศน์ในอีก 7 ปีต่อมา โดยมีผลงานชิ้นแรก ละครเรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ)

ปี 2503 กันตนาผลิตภาพยนตร์เรื่องแรก “ผีพยาบาท” และกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ มีหนังออกสู่ตลาดต่อเนื่อง เช่นเรื่อง เย้ยฟ้าท้าดิน, ลูกกรอก เพชรตาแมว รวมถึงมีผู้ผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ขอซื้อลิขสิทธิ์บทละครวิทยุกันตนา เพื่อสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์และละครโทรทัศน์

ปี 2519 ประดิษฐ์และสมสุข กัลย์จาฤก ก่อตั้ง “คณะส่งเสริมศิลปิน” ซึ่งเป็นคณะผู้ผลิตละครโทรทัศน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานหน้าใหม่ ผลิตละครออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มีผลงานละครที่โด่งดังหลายเรื่อง เช่น “38 ซอย 2” และ “บาปบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นละครชุดที่กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการโทรทัศน์

4 ปีต่อมา บริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด แจ้งเกิด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลประเภทการสร้างภาพยนตร์ด้วยระบบโทรทัศน์ สร้างโรงถ่ายทำรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ให้บริการเครื่องมือการผลิตที่ทันสมัยครบวงจร พัฒนาระบบการถ่ายทำนอกสถานที่  และระบบเสียงแบบไร้สาย   ทำให้การผลิตละครโทรทัศน์เปลี่ยนไปสู่การบันทึกเทปนอกสถานที่ การสร้างฉากประเภท Outdoor Studio และการเดินทางไปถ่ายทำละครในต่างประเทศที่ได้ทั้งภาพ  บรรยากาศและอารมณ์สมจริง จนทำให้ละครโทรทัศน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปี 2527 บริษัท กันตนา จำกัด  จัดตั้งขึ้นบนถนนรัชดาภิเษกและได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลต่อเนื่องตั้งบริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจบันเทิง  ได้แก่ การขยายธุรกิจการผลิตสปอตโฆษณาด้วยระบบวิดีโอ การบุกเบิกธุรกิจแอนิเมชั่น โดยร่วมกับ บริษัท โตเอะ จำกัด ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท ไทย แอนิเม จำกัด เมื่อปี 2531 รับงานผลิตการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น

ปี 2532บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด สร้างหนังเรื่อง “แม่เบี้ย” ซึ่งถ่ายทำด้วยระบบโทรทัศน์แล้วแปลงสัญญาณเป็นฟิล์มภาพยนตร์ ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่แพร่หลายในวงการภาพยนตร์ไทย

หลังจากนั้นจัดตั้ง บริษัท กันตนา แอนมิเมชั่น จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กันตนา แลบบอราทอรี่ส์  เมื่อปี 2544 โดยได้รับส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล และถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ Postproduction ครบวงจร มีการขยายธุรกิจเปิดเครือข่ายในต่างประเทศ ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มิก้า มีเดีย จำกัด เพื่อบริหารสถานีโทรทัศน์ “กองพลเขมระภูมินทร์ ช่อง 5” ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา 

ปี 2538 บริษัท กันตนา จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด เปิดโครงสร้างธุรกิจครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การให้บริการเครื่องมือ การบริการเกี่ยวกับงานผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ครบวงจร  เปิดบริษัท  โอเรียนทัลโพสท์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด  กับบริษัท ล็อกซเล่ย์  วีดีโพสต์ (กรุงเทพ) จำกัด  เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการ Postproduction  เทคโนโลยีระดับโลกที่ครบวงจรที่สุดในภาคพื้นเอเชีย 

ปี 2546  กันตนากรุ๊ป ผลิตละคร  2 เรื่อง คือ  “กษัตริยา” และ “มหาราชกู้แผ่นดิน” โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาให้เกียรติแสดงนำ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถ่ายทำในสตูดิโอกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรือ “กันตนา มูฟวี่ทาวน์” ที่มีการสร้างฉากสมัยอยุธยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท  กันตนา มูฟวี่ ทาวน์ (2002) จำกัด โครงการ “เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์” เนื้อที่กว่า 800 ไร่ มูลค่ากว่าพันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุด “พีค” การเติบโตแบบก้าวกระโดด มีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท  และขยายในทุกสายธุรกิจ ทั้งสายธุรกิจโทรทัศน์ การผลิตภาพยนตร์ และการศึกษา ภายใต้โครงการ Kantana Broadcasting and Film Academy 

นอกจากนี้ ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Deluxe Laboratories ฟิล์มแล็บ อันดับ 1 ของโลก ขยายตลาดใน 40 ประเทศ สร้างรายได้หลักมากกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม ปี  2552 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตสื่อบันเทิงจากยุคฟิล์มสู่ยุคดิจิตอล กันตนากรุ๊ป พยายามปรับตัวเพื่อไม่ให้พบจุดจบเช่นเดียวกับบริษัทฟิล์มยักษ์ใหญ่ของโลก และยังเป็นยุคของการเติมเต็มบุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งจาฤกยอมรับว่า รุ่นพี่น้อง 5 คน คือ สิทธานต์ (เสียชีวิตแล้ว) จาฤก ปนัดดา นิรัตติศัย และจิตรลดา ต้องเปิดทางให้รุ่นลูกหลาน เจนเนอเรชั่นที่ 3 ทั้ง 13 คน เข้ามาเรียนรู้งานและดึงศักยภาพความเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะนั่นถือเป็นฉากม่านหน้าใหม่ ไม่ใช่แค่สงครามการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังไร้ขอบเขตและไร้พรมแดนด้วย