การประกาศใช้เม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจใหม่ กระหึ่มโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชน หรือ Community Cineplex แบบปูพรมในประเทศไทยและเจาะตลาดอาเซียน จำนวนมากกว่า 1,000 สาขา ถือเป็นยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นธุรกิจครั้งใหญ่ของบริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หลังจากรายได้ตกฮวบติดต่อกันหลายปี และยังเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ การปรับโครงสร้างธุรกิจและทีมผู้บริหารทั้งสายมืออาชีพและสายครอบครัวตระกูล “กัลย์จาฤก” สู่ยุคเจเนเรชั่นที่ 3
เหตุผลสำคัญไม่ใช่แค่เป้าหมายการขยายอาณาจักรให้เติบโตต่อเนื่อง แต่ปัจจัยหลักมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลที่โถมเข้ามาอย่างรุนแรง จนกระทั่งบริษัทผู้ผลิตฟิล์มยักษ์ใหญ่อย่าง “โกดัก” ต้องประกาศปิดตำนาน 130 ปี รวมถึงบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลกสั่งเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหญ่ ซึ่งกันตนากรุ๊ปเจอผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ชนิดที่ว่า กลุ่มลูกค้าที่เคยมีใน 40 ประเทศหายไปเกือบทั้งหมด รายได้หลักจากสายธุรกิจภาพยนตร์เหลือไม่ถึง 10%
แม้บริษัทมองเห็นสัญญาณอันตรายมานานกว่าสิบปีและพยายามปรับตัวรองรับเทคโนโลยียุคใหม่ โดยเป็นผู้ให้บริการธุรกิจฟิล์มแล็บครบวงจรในทวีปเอเชีย ก่อตั้งบริษัท โอเรียนทัล โพสท์ จำกัด ซึ่งเป็น Post Production Service ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล และขยายไปยังประเทศเวียดนาม จีน ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ พม่าและอินโดนีเซีย แต่นั่นไม่เพียงพอ
มิหนำซ้ำยังเจอวิกฤตการเมืองเล่นงานธุรกิจสร้างภาพยนตร์ทำรายได้ติดลบตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง “คนไทยทิ้งแผ่นดิน” ที่ดีเดย์เข้าโรงฉายวันแรก 19 พฤษภาคมปีนั้น เกิดเหตุไม่คาดฝัน “ม็อบเสื้อแดงเผาเมือง” หนังเจ๊งหมดสภาพสิ้นเชิง
หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์แอนิเมชั่น “เอคโค่ จิ๋วก้องโลก” รูปแบบ 3D Stereoscopicเรื่องแรกของไทย ซึ่งลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท แต่กลับไม่โดนใจมหาชน ขาดทุนแบบหมดหน้าตัก และฉุดภาพรวมรายได้ของกันตนากรุ๊ป หายไป 700-800 ล้านบาท จากปกติมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2,500-2,600 ล้านบาท
จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า กันตนากรุ๊ป เข้าสู่ยุคดิจิตอลมานานไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้ว บริษัทลงทุนซื้อเครื่อง D2 เป็นเทปดิจิตอลคอมโพสิตเครื่องแรกของเมืองไทยมาอัพเดตเป็น D1 และปรับมาเรื่อย เพราะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยุคของฟิล์มกำลังจะหมดภายใน 2-3 ปี และทำโครงการเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด
แต่เกิดเหตุสายฟ้าแลบ เมื่อพันธมิตร “ดีลักซ์” ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของโลกในการทำฟิล์ม มีการเจรจาตกลงกับคู่แข่งอีกค่าย เพื่อแบ่งตลาดกันและประคองธุรกิจ โดย “เทคนิคคัลเลอร์” ขอคุมตลาดเอเชีย ส่วนดีลักซ์คุมส่วนที่เหลือทั้งหมด ทำให้ลูกค้าของกันตนาในภูมิภาคเอเชียที่เคยจับมือกับค่ายดีลักซ์หายไปทั้งหมด
“ผมตกงานทันที เพราะผมได้งานจากดีลักซ์ มันไม่น่าเชื่อเพราะผมต้องอยู่ได้อีกสองสามปีสบายๆ งานทั้งหมดเลยไปปูดที่เทคนิคคัลเลอร์ ต่อมาเทคนิคคัลเลอร์ทั่วโลกปิดหมด เหลือที่เมืองไทยที่เดียว เขาประกาศว่าจะเป็นแล็บสุดท้ายของโลก”
จากเดิมที่มีรายได้หลักจาก 2 สายธุรกิจ คือ สายธุรกิจโทรทัศน์ 50% และสายธุรกิจภาพยนตร์อีก 50% ตามโครงสร้างเดิม 3 สายธุรกิจ คือ สายธุรกิจโทรทัศน์ ได้แก่ การเช่าเวลาจากสถานีโทรทัศน์เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ เช่น รายการสารคดี รายการเพื่อเด็กและเยาวชน และรายการแนวเรียลลิตี้ บริหารการขายเวลาโฆษณาและการบริหารลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของกันตนา บริการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ บริการให้เช่าเครื่องมือเพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ในทุกขั้นตอนการผลิต
การบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งล่าสุดมีช่องดาวเทียม 4 ช่อง คือ Farm Channel, Miracle Channel, ฟู้ดแพลนเน็ต และ M-Channel นอกจากนี้ ขยายช่องสถานีออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม เขมร
สายธุรกิจภาพยนตร์ ทั้งผลิตและรับจ้างผลิตภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณาที่ครบวงจร ทั้งในและต่างประเทศ ให้บริการผลิตเสียงประกอบภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณา รับจ้างผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น และเทคนิคภาพพิเศษ (Visual Effects) ในภาพยนตร์ และภาพยนตร์โฆษณาทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นสายธุรกิจการศึกษาและการจัดกิจกรรม ส่วนนี้มี 3 บริษัท คือ บริษัท กันตนา ออร์กาไนเซอร์ แอนด์ แมเนจเมนท์, บริษัท กันตนา เอ็ดดูเทนเมนท์ (อินเตอร์เนชั่นแนล) และสถาบันกันตนา
ล่าสุด บอร์ดบริหารของกันตนากรุ๊ปประชุมปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยเพิ่มธุรกิจใหม่อีก 3 กลุ่ม รวมเป็น 6 สายธุรกิจ คือ ธุรกิจโทรทัศน์ ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ ธุรกิจโมบายเกมและธุรกิจสื่อเอาต์ดอร์ ซึ่งกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ถือเป็นธุรกิจหลักที่จะสร้างอนาคตใหม่ทดแทนธุรกิจภาพยนตร์ที่หายไปภายใน 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 25% และสามารถพุ่งขึ้นไปเป็น 50-60% หากธุรกิจสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้
ขณะที่ธุรกิจโมบายเกม ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดธุรกิจจากเกม “เอคโค่แพลนเน็ต” แม้ยังมีสัดส่วนน้อยมาก แต่มีศักยภาพเติบโตสูง เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจสื่อเอาต์ดอร์ที่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่กันตนากำลังเร่งสร้างตลาด
“ผมยังคาดว่า สายธุรกิจโรงภาพยนตร์จะอยู่ที่ 25% และแซงขึ้นมาได้ เพราะเล่นกับประชาชน ถ้าโดนก็โดนเลย ไม่เหมือนการทำรายการทีวี ซื้อเวลากับสถานี ชั่วโมงหนึ่งได้โฆษณา 10 นาที เรตติ้งร้อยล้านก็ได้ 10 นาที ไม่ได้มากขึ้น แต่โรงหนัง ถ้าได้หนังดี โดนใจกลุ่มเป้าหมาย รวยเลย แต่ต้องอึดให้ได้ก่อนอย่างน้อย 3 ปี ส่วนสายภาพยนตร์เดิม ไม่พูดถึงการสร้างหนัง ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว ธุรกิจประเภทรับส่งไฟล์ โพสต์โปรดักชั่น ยังทำรายได้และพยายามขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเติบโตอาจไม่สูงมากแล้ว” จาฤกกล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุนโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชน Community Cineplex กันตนากรุ๊ปจัดตั้งบริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด (ACN) เป็นผู้ดูแลและเตรียมเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศไทย และอีกอย่างน้อย 1,000 แห่งในอาเซียน โดยจะเริ่มปูพรมเปิดตั้งแต่ต้นปี 2557 และขยายให้ได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 2-3 ปี
สำหรับโมเดลโรงภาพยนตร์ชุมชนต่อสาขาใช้เงินลงทุน 1.2 ล้านบาท และเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกันตนากับผู้ประกอบการท้องถิ่นลักษณะ 50:50 ขนาดโรงไม่เกิน50 ที่นั่ง ใช้พื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา ซึ่งจาฤกระบุว่า มีผู้สนใจกว่า 500 แห่งแล้ว และมีการลงนามความร่วมมือกับ 6 ประเทศในอาเซียน คือ เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายสาขาใน 6 ประเทศ ประเทศละ 500-1,000 แห่ง โดยเฉพาะพม่า แม้มีกฎหมายควบคุมธุรกิจสื่อแต่ในแง่กลุ่มลูกค้าชาวพม่ามีวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรงมาก
ด้านรายได้จากการฉายภาพยนตร์จะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ สายหนัง 50% เจ้าของโรงหนัง 40% และกันตนา 10% นอกจากนี้ โฆษณาก่อนหนังฉายและการโฆษณาภายในโรงภาพยนตร์จะเป็นของกันตนาทั้งหมด ส่วนเจ้าของโรงหนังนอกจากรายได้จากตั๋วหนังแล้ว สามารถหารายได้เพิ่มจากการให้เช่าพื้นที่ การขายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการโฆษณาภายนอกอาคาร ซึ่งเบื้องต้นกันตนาคาดว่าจะมีรายได้จากโฆษณาปีละ 200-300 ล้านบาทและน่าจะคุ้มทุนภายใน 3-5 ปี
อันที่จริง Community Cineplex เป็นโครงการที่กันตนากรุ๊ปวางแนวคิดมานานแล้ว และเดิมต้องการร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อจัดฉายฟรีก่อนปรับราคาค่าตั๋วอยู่ที่ 5 บาทต่อที่นั่ง เพราะต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงทำให้โครงการหยุดชะงัก จนกระทั่งตัดสินใจเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปีนี้
จาฤกกล่าวว่า โรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์ จะมีรูปแบบเหมือนกันหมด คือ เป็นโรงขนาดเล็ก 50 ที่นั่ง ราคาตั๋วเข้าชมเพียง 30 บาทต่อที่นั่ง เพราะมีต้นทุนต่ำ แต่มีคุณภาพเต็มรูปแบบ โดยบริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท จับมือกับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ประเทศแคนาดา พัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการเบ็ดเสร็จ คือ “Kantana Intelligent One Touch” แค่กดปุ่ม ระบบการฉายภาพยนตร์จะเริ่มปฏิบัติการแบบอัตโนมัติตามขั้นตอนต่างๆ เช่น ไฟหรี่ลง ฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง ฉายภาพยนตร์โฆษณา และดับไฟเข้าสู่การฉายภาพยนตร์หลัก
กระบวนการทั้งหมดเป็นการรับส่งสัญญาณจากส่วนกลางผ่านดาวเทียมไปสู่ทุกโรงภาพยนตร์ เพื่อฉายภาพยนตร์ในระบบภาพดิจิตอลและระบบเสียง Surround 5.1 และ 7.1 รวมทั้งหนังทุกเรื่องสามารถปรับเปลี่ยนไฟล์ตามความต้องการของโรงหนังแต่ละสาขาในแต่ละประเทศ
จากคนส่งฟิล์มเป็นคนส่งไฟล์ อาณาจักรธุรกิจสื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของครอบครัว “กัลย์จาฤก” กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหม่ โดยเฉพาะการปลุกปั้นธุรกิจใหม่และเล่นกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ใช่การผลิตรายการป้อนสถานีและรอวัดเรตติ้งเหมือนเดิม ถ้ากลยุทธ์โดนใจชาวบ้านรากหญ้าย่อมหมายถึงเม็ดเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่สำคัญ กันตนากรุ๊ป จะสามารถฟื้นคืนชีพอย่างสวยหรูอีกครั้งและเป็นผลงานชิ้นโบแดงของผู้ชายวัย 60 ปีที่ชื่อ “จาฤก” ก่อนตัดสินใจวางมือธุรกิจทั้งหมดอย่างมีความสุขที่สุด