ความเคลื่อนไหวว่าด้วยการ “รีแบรนด์” สายการบินค่าโดยสารต่ำในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจประเมินว่าเป็นเรื่องปกติสามัญสำหรับธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนวิบากกรรมของการประกอบธุรกิจสายการบินค่าโดยสารต่ำในญี่ปุ่นไม่น้อย
เพราะการเกิดขึ้นของ วนิลลา แอร์ ในด้านหนึ่งก็คือภาพสะท้อนความล้มเหลวหลังจากมีการร่วมทุนระหว่าง All Nippon Airways (ANA) สายการบินรายใหญ่ของญี่ปุ่น กับ Air Asia ผู้ประกอบการสายการบินค่าโดยสารต่ำจากมาเลเซีย เพื่อจัดตั้งสายการบิน Air Asia Japanเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา
แต่การร่วมทุนของสองสายการบินจำเป็นต้องสิ้นสุดลงด้วยระยะเวลาอันแสนสั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า การดำเนินงานของ Air Asia Japan บันทึกผลขาดทุนจนถึงเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมาด้วยยอดรวมถึง 3.5 พันล้านเยน หรือประมาณ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผลจากขาดทุนดังกล่าว ทำให้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของทั้ง ANA และ Air Asia แถลงว่าการร่วมทุนของทั้งสองสายการบินนี้จะสิ้นสุดลงภายในเดือนตุลาคม 2556 นี้
อุตสาหกรรมการบินของญี่ปุ่นถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง All Nippon Airways (ANA) และJapan Airlines มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก่อนที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะเบียดแทรกขึ้นมาในฐานะของสายการบินค่าโดยสารต่ำ ที่มีเส้นทางการบินเจาะจงเฉพาะถิ่น
การเกิดขึ้นของ Star Flyer จากเมือง Kitakyushu จังหวัด Fukuoka ดูจะเด่นชัดที่สุดในกรณีที่ว่านี้ หรือแม้กระทั่งกรณีของ Skymark และความพยายามของ ANA ที่จะสร้างสายการบินทางเลือกทั้ง Air Do และ Solaseed Air ขึ้นมาเป็นหน่วยเสริม
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการปรากฏตัวขึ้นของสายการบินค่าโดยสารต่ำเหล่านี้ จะได้รับการประเมินว่าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมการบินญี่ปุ่นที่ถูกครอบครองโดย ANA และ Japan Airlines มาอย่างยาวนาน แต่ความล้มเหลวของ Air Asia Japan กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไป
หากประเมินสถานะล่าสุดของธุรกิจการบินค่าโดยสารต่ำของญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ประกอบการ 7 ราย จะพบว่า ANA มีส่วนในการขับเคลื่อนสายการบินเหล่านี้มากถึง 4 ราย เป็นการกระชับพื้นที่ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องประเมินสถานะการแข่งขันกันใหม่เลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ JAL ที่มีสถานะเป็นสายการบินประจำชาติ ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าจะยังอยู่ในช่วงเวลาของการพักฟื้นจากภาวะไข้ “ล้มละลาย” ในช่วงก่อนหน้านี้และยังไม่แข็งแรงพอที่จะทัดทานการรุกคืบของ ANA ได้มากนัก
ภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่ของ Vanilla Air ที่จะมี ANA เป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของสายการบินค่าโดยสารต่ำแห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จ ทิศทางใหม่ของ Vanilla Air จึงเป็นประหนึ่งการเติมเต็มและต่อยอดทางธุรกิจให้กับ ANA ในระยะยาว โดยเฉพาะการเสริมความแข็งแกร่งให้กับยุทธศาสตร์ของแบรนด์ ANA ด้วย
เป้าหมายของ Vanilla Air ในระยะเริ่มต้นนี้ จึงผูกพันอยู่กับการกำหนดจุดหมายปลายทางไว้ที่เส้นทางการบินสู่เมืองหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โดยจะมีศูนย์กลางการบริหารการบินหรือ Hub หลักอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ Narita ชานกรุงโตเกียว
ตามแผนการบริหารจัดการที่ได้ประกาศออกมาล่าสุด พนักงานของ Air Asia Japan จำนวนกว่า 420 อัตราจะได้รับการโอนย้ายมาสังกัดเป็นพนักงานของสายการบิน Vanilla Air ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเที่ยวบินแรกในเดือนธันวาคม 2556 นี้ โดยในเบื้องต้นจะใช้เครื่องบินที่จะเช่าซื้อจาก ANA จำนวน 2 ลำ และจะเพิ่มฝูงบินให้เป็น 10 ลำภายในปี 2558 ควบคู่กับการขยายขอบเขตการบริการในเส้นทางการบินระยะสั้น ไปสู่จุดหมายในเส้นทางการบินระยะกลางและระยะยาวด้วย ซึ่งคงช่วยเติมเต็มสีสันบนฟากฟ้าของอุตสาหกรรมการบินญี่ปุ่นอย่างน่าสนใจยิ่ง
กระนั้นก็ดีโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารของ Vanilla Air จะต้องรีบแก้ไขโดยด่วนก็คือ ภายใต้ประสบการณ์ที่ผ่านพบตัวเลขขาดทุนสะสมมาก่อนหน้านี้ Vanilla Air จะบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่องนี้
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้สายการบินค่าโดยสารต่ำอย่าง Air Asia Japan ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า Air Asia Japan และสายการบินค่าโดยสารต่ำรายอื่นๆ เน้นกลยุทธ์การจองบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์อย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งแม้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะสามารถประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดีในตลาดอื่นๆ
หากแต่สำหรับตลาดญี่ปุ่นแล้ว ประพฤติกรรมของผู้โดยสารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังนิยมที่จะจองบัตรโดยสารผ่านระบบตัวแทนท่องเที่ยวและผู้แทนจำหน่ายบัตรโดยสาร รวมถึงการซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวที่ผนวกรวมค่าใช้จ่ายการเดินทางและที่พักเข้าไว้ด้วยกัน ยังไม่นับรวมแพ็กเกจที่อาจเสริมกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ พ่วงไปด้วย
กรณีเช่นว่านี้ทำให้กลยุทธ์การจองบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์ของสายการบินค่าโดยสารต่ำที่ควรจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารกลายเป็นอุปสรรคในการเดินทางไปโดยปริยาย
แม้ว่ารายละเอียดของแผนการบริหารจัดการและแผนการตลาดที่ชัดเจน ที่รวมถึงเส้นทางการบิน และอัตราค่าโดยสารของ Vanilla Air คงจะได้รับการนำเสนอในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารได้เน้นย้ำก็คือระบบการจองบัตรโดยสารออนไลน์แบบใหม่ที่ผูกเชื่อมเข้ากับบริษัทผู้แทนการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้มากขึ้นด้วย
ภายใต้เงื่อนไขของค่าธรรมเนียมการลงจอดและภาษีเชื้อเพลิงของท่าอากาศยานญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าสูงจนติดอันดับและเป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน ประเด็นที่ว่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคสำคัญสำหรับการประกอบกิจการของสายการบินค่าโดยสารต่ำทั้งหลาย
อนาคตของ Vanilla Air และสายการบินค่าโดยสารต่ำในญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะสามารถผ่านด่านกระแสลมที่ปรวนแปรไปได้อย่างราบรื่น หรือจะกลายเป็นเพียงอีกบทเรียนหนึ่งที่ต้องจากไปก่อนกาล