“สุขอยู่ที่ใดใด …สุขอยู่นี่ไง ค้นพบความสุขที่ MK” เมื่อเพลงดังขึ้น พนักงาน MK ที่ตั้งแถวรออยู่ก็เต้นอย่างพร้อมเพรียง แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้เต้นอยู่ในร้าน MK หากแต่เป็น ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีลูกค้าวีไอพีกิตติมศักดิ์ซึ่งทาน MK มาตลอด 28 ปี อย่าง ท่านอานันท์ ปันยารชุน มาร่วมรับชม
การแสดงนี้มีชื่อว่า “MK Step Forward” เป็นส่วนหนึ่งในพิธีเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรกของ บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเข้าทำการซื้อขายในตลาดฯ ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ใช้ชื่อย่อว่า “M” เนื่องจากในตลาดฯ มีผู้ใช้ “MK” ไปก่อนแล้ว คือ “มั่นคงเคหะการ” ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ก่อนหน้านี้ MK ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในราคาหุ้นละ 49 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาขายที่เคยกำหนดไว้ที่ 45-49 บาท หลังพบว่ามียอดจองเกิน 18 เท่า โดยเสนอขายทั้งสิ้น 185.85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นราว 20% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้กว่า 9.1 พันล้านบาท
หลังพิธีเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการ หุ้น M พุ่งไปถึง 55.5 บาท ก่อนจะลดลงมาปิดที่ราว 54 บาท โดยมูลค่าของตลาด (Market Cap) ของหุ้น M ณ วันเข้าตลาดสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท
“วันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัท และเป็นจุดเริ่มต้นที่สดใส ในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านบริการร้านอาหารในประเทศไทย และก้าวนี้จะเป็นก้าวกระโดดที่จะทำให้เรามีโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย” ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็มเคฯ แถลง
เพื่อเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน MK ได้ลงทุนก่อสร้างครัวกลางแห่งที่ 3 ตั้งอยู่บน ถ.บางนา-ตราด ใกล้กับเซ็นทรัล บางนา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 2 หมื่นตารางเมตร ใหญ่กว่า 2 แห่งแรกรวมกัน งบก่อสร้างราว 1 พันล้านบาท สามารถรองรับการขยายตัวของ MK ได้อีกเท่าตัว โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มภายใน 5-7 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมปีนี้
เงินที่ได้จากการระดมทุนอีก 320 ล้านบาท ถูกใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่มูลค่า 320 ล้านบาท โดยผู้บริหาร MK ตั้งใจออกแบบตกแต่งอย่างดีเพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศที่อาจจะเข้ามามากขึ้นภายหลังที่เข้าตลาดฯ
ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ใช้ในการขยายสาขาร้านอาหารในเครือ MK ทั้งในและต่างประเทศ และเก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะโอกาสในการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ การร่วมทุน หรือซื้อกิจการ (M&A) เครือข่ายร้านอาหารที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ
“ที่ผ่านมา การขยายสาขาของเราเป็นแบบ Organic Growth คือโตด้วยตัวเอง เราใช้กำไรที่มีมาสร้างสาขาใหม่ตลอดเวลา แต่พอเข้าตลาด เราคงมีภาระที่จะต้องลงทุนในธุรกิจใหม่ ถ้ากิจการเหล่านั้นมีโอกาสเป็นกิจการที่ดีและมี Synergy กับกลุ่มเรา นี่คือความหมายของการก้าวกระโดด” ฤทธิ์อธิบาย
ทั้งนี้ ความหมายของการเข้าสู่ตลาดหุ้นในปีที่ 28 ของ MK โดยนัยหนึ่ง ยังถือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ “ยุคที่ 5” ของ MK ทั้งนี้เพราะฤทธิ์มักพูดอยู่เสมอว่า แต่ละยุคของ MK กินเวลา 7 ปี โดยในทุกยุคมีสิ่งให้เรียนรู้และเป็นพัฒนาการที่เป็นรากฐานของ MK มาจนวันนี้
จากร้านอาหารไทยย่านสยามสแควร์ ชื่อ “เอ็มเค คาเฟ่” ซึ่งแม่ยายของฤทธิ์ได้ซื้อกิจการมาจากชาวฮ่องกงชื่อ “มาคอง คิงยี” ด้วยรสชาติอาหารที่ดี ลูกค้าประจำที่ชื่อ “ศักดิ์ชัย จิราธิวัฒน์” ลูกชายของ “วันชัย จิราธิวัฒน์” จึงชวนให้มาเปิดร้านในเซ็นทรัล ลาดพร้าว
เปิดร้านอาหารไทยด้วยชื่อ “กรีม เอ็มเค” อยู่สักพัก ไม่นาน “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” ก็ชวนให้ทำร้านสุกี้ โดยออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าห้ามใช้แก๊สเด็ดขาด ในฐานะวิศวกร ฤทธิ์จึงออกแบบและวางระบบไฟฟ้า พร้อมกับเดินทางไปซื้อเตาไฟฟ้าจากญี่ปุ่นกระทั่งปี 2529 จึงเกิดร้าน MKสุกี้เตาไฟฟ้าสาขาแรกขึ้น
“พอเริ่มมี 4-5 สาขา ผมเริ่มคิดแล้วว่าธุรกิจเราเป็นเชน (chain) เป็นเครือข่าย ฉะนั้นต้องมีศูนย์กระจายสินค้าที่เอาวัตถุดิบทุกอย่างมารวมศูนย์” ผู้บริหาร MK มองว่าครัวกลางเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ MK ขยายสาขาได้รวดเร็วโดยที่รสชาติและคุณภาพยังเหมือนกันทุกร้าน (Consistency)
เข้าสู่ 7 ปีที่ 2 ซึ่งเป็นยุครุ่งโรจน์ของประเทศไทย เพราะห้างร้านเปิดตัวใหม่จำนวนมาก จาก 15 สาขาในปีที่ 7 มาถึงปีที่ 14 บริษัทฯ มีสาขาถึง 80 สาขา ท่ามกลางคู่แข่งที่มีมากถึง 20 แบรนด์
จากที่เคยเปิด 1 สาขาช่วง 1-2 ปี กลายมาเป็นเดือนละ 1-2 สาขา MK จึงประสบปัญหาเรื่องพนักงานอย่างมาก ในที่สุดจึงมีการตั้งโรงเรียนสอนการบริการขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อรองรับสาขาที่เพิ่มขึ้น ก็มีการสร้างศูนย์กระจายอาหารให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับนำเอาระบบต่างๆ ที่ได้มาตรฐานมาใช้ อาทิ ระบบบัญชี ระบบการเงิน ระบบ HR ฯลฯ
“ผมมานั่งคิดว่า ถ้าเราเปิดสาขาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีระบบรองรับ เราล้มเหลวแน่นอน” ฤทธิ์วิเคราะห์
ยุคที่ 3 รุ่งโรจน์กว่ายุคที่ 2 เพราะหลังปี 2540 บริษัทต่างชาติที่เข้ามาซื้อ Discount Store ในเมืองไทยเริ่มขยายสาขาอย่างหนัก ยุคนี้ MK จึงดีไซน์ร้านให้เล็กลงเพื่อเข้าห้างเหล่านี้ได้ ในยุคนี้ MK เปิดร้านใหม่ปีละ 40-50 สาขา หรือทุกสัปดาห์จะมี MK เปิดใหม่ กระทั่งจบยุคด้วยยอดกว่า 200 สาขา
สิ่งที่ฤทธิ์เรียนรู้ในยุคนี้ คือ Benchmarking โดยเขาตระหนักว่า มาตรฐานที่มีอยู่เริ่มไม่พอ จะต้องเปลี่ยนเป็นมาตรฐานระดับสากลให้หมด เขาจึงไปเรียนรู้และศึกษา “สิ่งดี” จากธุรกิจอื่นเพื่อนำมาปรับใช้กับ MK โดยการนำ PDA มาใช้รับออเดอร์ ก็เป็นหนึ่งสิ่งดีๆ ที่เขาปรับมาใช้ โดยเรียนรู้มาจาก FedEx
ในยุคที่ 4 เป็นยุคที่ MK เริ่มมีการแตกแบรนด์ไปสู่ร้านอาหารประเภทอื่นโดยฤทธิ์มองว่ายุคนี้เป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูง แม้จะมีจำนวนแบรนด์สุกี้ลดลง แต่มีแบรนด์ร้านอาหารเครือข่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี MK ถือเป็นผู้นำตลาดร้านอาหารที่มีเครือข่ายของเมืองไทย
ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทฯ มีสาขาในไทยทั้งสิ้น 473 สาขา เป็นร้าน MK 366 สาขา ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” 101 สาขา เปิดบริการตั้งแต่ปี 2549 ร้านราเมน “ฮากาตะ” และร้านเทปปันยากิ “เท็นจิน” แห่งละ 1 สาขา เพิ่งเปิดบริการเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีร้านอาหารไทย “ณ สยาม” 2 สาขา และ “เลอ สยาม” 1 สาขา รวมถึงร้านเบเกอรี่ “เลอ เพอทิท” อีก 1 สาขา
สำหรับสาขาในต่างประเทศ ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกของ MK โดยเปิดมานานเกือบ 20 ปี โดยบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ Plenus Group ซึ่งเป็นบริษัทอาหารกล่องที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของแบรนด์ “ยาโยอิ” ที่บริษัทฯ ซื้อแฟรนไชส์มา ปัจจุบันร้าน MK ในญี่ปุ่นมีอยู่ 35 สาขา
สำหรับตลาดอาเซียน บริษัทมีร้าน MK 3 สาขา ในเวียดนาม และในไตรมาส 3 ปีนี้ กำลังจะเปิดร้าน MK สาขาแรกในอินโดนีเซีย โดยใน 2 ประเทศนี้เป็นการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ ส่วนในสิงคโปร์ เมื่อมิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมทุนกับกลุ่ม Plenus เข้าไปเปิด MK 1 สาขา และยาโยอิ 4 สาขา และพฤศจิกายนนี้ จะเปิด MK สาขาที่ 2
“การเปิดร้านในสิงคโปร์ถือเป็นการพิสูจน์ตัวเองของ MK เพราะเป็นประเทศที่ทำการค้ายากมาก แต่ฐานลูกค้าของสิงคโปร์จะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะเขามีทั้งแขก ไทย จีน ฝรั่ง ฯลฯ ถ้าเราเปิดที่นั่น “รอด” เราจะเปิดที่ไหนในโลกก็ได้” คำกล่าวของฤทธิ์สะท้อนนัยแห่งความหวังที่แฝงด้วยความมั่นใจในการก้าวสู่ตลาดโลก
ปีที่ 28 ถือเป็นรอยต่อสู่ยุคที่ 5 ของ MK ซึ่งฤทธิ์มองว่ายุทธศาสตร์หลักคงเป็นการเพิ่มประเภทร้านอาหารในพอร์ตให้มากขึ้น พร้อมกับปั้นแบรนด์อื่นในกลุ่มให้แข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ “ยาโยอิ” เพื่อเป็นอีก “ขาหลัก” คู่ไปกับ MK ซึ่งปัจจุบัน รายได้กว่า 85% ของเครือมาจากร้าน MK อีกกว่า 12% มาจากยาโยอิ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำแบรนด์ของบริษัท เอ็มเคฯ มีข่าวแว่วมาว่า ในช่วง 7 ปีเข้าสู่ยุคที่ 5 บริษัทฯ มีโครงการสร้าง “ฟู้ดมอลล์” ซึ่งเป็นศูนย์อาหารที่รวบรวมแบรนด์ในเครือทั้งหมดมาอยู่รวมกันในพื้นที่ราว 2 พันตารางเมตร ด้วย
อีกยุทธศาสตร์สำคัญในช่วง 7 ปีที่กำลังจะถึงของ MK คือ การลุยขยายในต่างประเทศ โดย “สมชาย หาญจิตต์เกษม” กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอ็มเคฯ ระบุว่า แม้ว่าปัจจุบัน บริษัทฯ ยังไม่มีการจัดตั้งทีมต่างประเทศขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่อยู่ในแผนที่บริษัทต้องเร่งทำในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เพื่อเตรียมตัวขยายไปในตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและเอเชีย
“ภายใน 5 ปี เราเชื่อว่าเราจะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่กลายเป็นแบรนด์ภูมิภาค เป้าหมายเราคืออยากเป็นแบรนด์คนไทยที่ก้าวไปสู่การเป็น Asian Brand ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศ” ฤทธิ์เชื่อว่า ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่บริษัทฯ มี จะทำให้ MK จะก้าวสู่การเป็น “No. 1 Brand” ในทุกประเทศที่ MK ไปเปิดตลาดแล้ว และกำลังจะไป ได้ไม่ยาก แต่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์
ตำนาน 28 ปีของ MK อาจช่วยทำให้เส้นทางสู่การเป็น Asian Brand ของ MK ราบรื่นขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย แต่แนวโน้มผลประกอบการและแผนลงทุนในอนาคต คือสิ่งที่ชี้ว่า “หุ้น M” จะสดใสหรือไม่ ซึ่งนี่ทำให้ทุกฝีก้าวของ MK นับจากนี้ไป จะถูกจับตามองและประเมินผล โดยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “นักลงทุน”