เงื่อนกำหนดของเวลาว่าด้วยการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังขยับใกล้เข้ามาในปี 2015 กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้แต่ละประเทศต่างเร่งปรับปรุงและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการเชื่อมโยง Connectivity ที่อาเซียนตั้งไว้
ความเคลื่อนไหวที่เห็นชัดที่สุดในมิติที่ว่านี้ ปรากฏขึ้นในกรณีของเมียนมาร์ ซึ่งกำลังเร่งเปิดประตูการค้าหลังจากที่เปิดประเทศทั้งในมิติของเศรษฐกิจและการเมือง ไปก่อนหน้านี้ โดยความคลี่คลายดังกล่าวในเมียนมาร์ได้หนุนนำให้เมียนมาร์กลับมาเป็นที่สนใจของประชาคมนานาชาติอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ก้าวย่างของรัฐบาลเมียนมาร์คืบหน้าไปสู่การประกาศที่จะเปิดด่านการค้าถาวร 3 จุดหลักกับประเทศไทยทั้งที่ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ด่านแม่สอด จ.ตาก และที่เกาะสอง จ. ระนอง ซึ่งหากพิจารณาในมิติทางภูมิศาสตร์ ต้องยอมรับว่านี่คือการเปิดด่านที่นำไปสู่การเชื่อมโยงเมียนมาร์เข้ากับโลกภายนอกโดยผ่านประเทศไทยที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
แม้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เชื่อมทะเลจีนใต้ หรือทะเลตะวันออก ผ่านเวียดนาม-สปป.ลาว-ไทย กับอันดามัน เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดีย ผ่านทางสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ (The Republic of Union of Myanmar) จะถูกพูดถึงกันมานาน
แต่พื้นที่ปลายทางฝั่งตะวันตกของ EWEC ที่อยู่ในเมียนมาร์ ตั้งแต่เมียวดี กอกาเร็ก หรือกรุกกริก พะอัน รัฐกะเหรี่ยง-เมาะละแหม่ง รัฐมอญ ถือเป็นพื้นที่ปิด เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับคนภายนอก เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับชนกลุ่มน้อยมาอย่างยาวนาน แม้จะมีกิจกรรมการค้าเกิดขึ้นมายาวนานกว่าศตวรรษก็ตาม
เรื่องราวที่รับรู้กัน ส่วนใหญ่เป็นเพียงคำบอกเล่าผ่านคนท้องถิ่น หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่เดินทางจากฝั่งเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ ที่เข้ามาหางานทำในฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก หรือพื้นที่ชั้นในของไทยเป็นด้านหลักเท่านั้น
วันนี้ …พื้นที่ยุทธศาสตร์ฝั่งตะวันตกของ EWEC กำลังเปิดออกสู่โลกภายนอก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติเศรษฐกิจ–สังคม-การเมือง ตามมาอย่างแน่นอน
ภาพของคาราวานรถยนต์บนเส้นทางยุทธศาสตร์ปลายทาง EWEC จากพรมแดนแม่สอด จังหวัดตาก ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ ข้ามลำน้ำเมย เข้าสู่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง หัวเมืองเศรษฐกิจชายแดนสำคัญ ที่เป็น 1 ใน 3 ด่านการค้าใหญ่ของเมียนมาร์ ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า ที่มีศักยภาพเป็นประตูเชื่อมเอเชียใต้– ยุโรป และคาบสมุทรอินโดจีนเข้าด้วยกัน เป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของไทยในเมียนมาร์มาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ทางการเมียนมาร์ยังจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ขึ้นเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 466 เอเคอร์ หรือราว 1,165 ไร่ เป็น 1 ใน 19 เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ที่ทางการเมียนมาร์ จะเปิดขึ้นทั่วประเทศภายในปี 2558
สมศักดิ์ คะวีรัตน์ และบรรพต ก่อเกียรติเจริญ 2 คีย์แมนคนสำคัญของหอการค้าจังหวัดตาก บอกว่า สินค้าไทยถูกส่งผ่านแม่สอด เข้าสู่เมียวดี เพื่อส่งต่อไปยังเมาะละแหม่ง ที่อยู่ห่างไปราว 168 กม. และพะอัน หรือผาอัน–ย่างกุ้ง มานานนับร้อย ๆ ปีมาแล้ว และกำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ธุรกรรมทางการค้าไทย-เมียนมาร์ ผ่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ที่เกิดขึ้นเดือนละ 3,500–4,000 ล้านบาท หรือปีละ 42,000-48,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เกิดขึ้นบนเส้นทางแคบเล็ก ที่พาดผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ที่ตั้งตระหง่านกั้นกลางระหว่างเมียวดี–กอกาเร็ก หรือกรุกกริก เมืองชุมทางเชิงเขา ก่อนที่จะเข้าสู่เขตพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง
“การสัญจรผ่านถนนบนเขาตะนาวศรี หลายสิบปีที่ผ่านมามีการจัดตารางให้รถเข้า-ออก แบบวันเว้นวัน เพราะถนนแคบมาก ถ้ามีรถเสียคันเดียว ก็ต้องหยุดกันหมด บางครั้ง 2-3 ชั่วโมง บางครั้งข้ามวันข้ามคืน” สมศักดิ์ ระบุ
แต่ความเคลื่อนไหวบนเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง และกำลังจะได้รับการพัฒนายกระดับเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมโยงภูมิภาคนี้เข้าไว้ด้วยกัน
ปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนและตอกย้ำมิติของการเชื่อมโยงบนเส้นทางสายนี้ก็คือ ในระหว่างที่คาราวานสำรวจและเชื่อมโยงแม่สอด-พะอัน-ไจก์ทิโย-เมาะละแหม่ง ติดอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี เช่นเดียวกับคาราวานขนสินค้าของพ่อค้าท้องถิ่น ที่ต้องจอดรอให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพม่าเคลื่อนย้ายรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่พลิกคว่ำขวางเส้นทางอยู่นั้น
ปรากฏว่า มีขบวนรถออฟโรดจากเวียดนาม ในทริปประวัติศาสตร์ “Asian Friendship Caravan Myanmar 2013” จำนวน 9 คัน พร้อมนักท่องเที่ยวชาย-หญิงชาวเวียดนาม 24 ชีวิต ซึ่งเดินทางมาจากโฮจิมินห์ เวียดนาม–กัมพูชา–ไทย–เมียนมาร์ อยู่ด้วย เคลื่อนพลเข้ามาสมทบ โดยพวกเขาบอกว่า กำลังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการท่องเที่ยวบนเส้นทาง EWEC เช่นกัน
U Zaw Min Chief Minister รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมาร์ ระบุในระหว่างเลี้ยงต้อนรับคาราวานประวัติศาสตร์ของหอการค้าจังหวัดตาก ณ ZWEKABIN Hotel เมืองพะอัน ว่า เมียนมาร์กำลังเปิดประเทศ อีกไม่เกิน 2 ปี ถนนจากเมียวดี–กอกาเร็ก ที่บริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด ของไทย กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ก็จะแล้วเสร็จ จากนั้นการสัญจรไปมาบนเส้นทางสายนี้ก็จะสะดวกขึ้น
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือในงานเลี้ยงดังกล่าวนี้ มี Jawnny ตัวแทนกองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU) ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเมียนมาร์ และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหยุดยิงร่วมงานด้วย ซึ่งนี่อาจถือเป็นมิติใหม่ของเมียนมาร์ในการบริหารจัดการและจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกลางและชนกลุ่มน้อยซึ่งต่างเป็น stake holder แต่ละกลุ่มในการก้าวเดินไปข้างหน้า
นอกจากนี้ทางผู้บริหารของสายการบินนกแอร์จากไทย ก็เคยเข้ามาหารือที่จะเปิดเส้นทางบินพะอัน–กรุงเทพฯ เช่นกัน ซึ่งจะทำให้การค้า การท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมาร์ ขยายตัวมากกว่านี้อีกมากแน่นอน
U Zaw Minย้ำว่า ไทยและเมียนมาร์เป็นสมาชิกกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งเป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาร์จะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
“ไทย-เมียนมาร์ จะเป็นจุดศูนย์กลางของ AEC และไม่แน่ ในอนาคตไทยและเมียนมาร์จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอาเซียนก็เป็นได้”
ขณะที่ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเมาะละแหม่ง รัฐมอญ บอกว่า แม้ว่าเมาะละแหม่งกับแม่สอดจะมีการติดต่อค้าขายกันมานานกว่า 100 ปี สินค้าสำคัญทั้งผงชูรส รองเท้าแตะ ก็ล้วนแต่นำเข้ามาทางแม่สอดทั้งสิ้นก็ตาม แต่ยังไม่เคยมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ คาราวานของหอการค้าจังหวัดตาก ครั้งนี้ ถือเป็นคาราวานประวัติศาสตร์ ที่เดินทางเข้าสู่เมาะละแหม่งผ่านทางชายแดนแม่สอด เป็นคณะแรก
“หากเส้นทางคมนาคมทางบก ที่เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจ EWEC ได้รับการพัฒนามากขึ้น และมีการเปิดเส้นทางการบินจากแม่สอด-เมาะละแหม่ง เชื่อว่าจะทำให้การค้า การท่องเที่ยว ระหว่างกันขยายตัวมากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าตัวแน่นอน”
สมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก บอกด้วยว่า หลังคาราวานครั้งนี้เสร็จสิ้น ก็จะถูกบันทึกไว้ว่า เส้นทางสายนี้ปลอดภัยแล้ว หลังจากในอดีตมีปัญหาเรื่องการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยมาอย่างยาวนาน และทำให้คนภายนอกเห็นว่า พม่าพร้อมรับคนภายนอกมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นด้วยว่า ทั้งรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยงมีศักยภาพด้านการค้า และการท่องเที่ยวอีกมาก
“ถนนสายนี้ ต่อไปจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญทั้งระหว่างไทย-เมียนมาร์ รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนจีน-อินเดียด้วยแน่นอน”
เช่นเดียวกับบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ที่กล่าวว่า ในการสำรวจเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-พะอัน-ไจก์ทิโย-เมาะละแหม่ง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของการค้า และการท่องเที่ยวที่มีอยู่สูงมาก
โดยเฉพาะเมืองไจก์ทิโย ที่มีพระธาตุอินทร์แขวน1ใน5สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาของพม่า และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวพม่าตามหมู่บ้านในชนบท ที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาอยู่แล้ว จึงเหมาะที่จะพัฒนาเปิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวได้
“ถ้าถนนเมียวดี–กอกาเร็ก เสร็จ เราสามารถเดินทางจากแม่สอด–ไจก์ทิโย ด้วยเวลาแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น และถ้าต้องการเดินทางต่อจากเมาะละแหม่งไปยังทวาย ก็มีระยะทางเพียง 200 กว่า กม. หรือถ้าจะขึ้นไปทางย่างกุ้ง ก็สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถไฟ-รถยนต์ ด้วยระยะทางเพียง 200-300 กม. เท่านั้น”
นั่นอาจเป็นมิติมุมมองของหอการค้าจังหวัดตากที่หวังจะให้ “แม่สอด” เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังหัวเมืองสำคัญของพม่า ที่ใกล้ที่สุดรวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจ EWEC
แต่สำหรับรัฐบาลเมียนมาร์ที่กรุงเนย์ปญีดอว์ ด่านพรมแดนที่เชื่อมโยงไล่เรียงตั้งแต่แม่สาย จ.เชียงราย แม่สอด จ.ตาก และเกาะสอง จ.ระนอง อาจเป็นเพียงก้าวย่างในอีกระนาบหนึ่งสำหรับการเปิดตัวและเชื่อมโยงเมียนมาร์กับโลกภายนอก บนยุทธศาสตร์ที่กว้างไกลกว่าสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่นั้นแล้วก็เป็นได้
ผู้จัดการ 360 ํ/ศูนย์ข่าวภาคเหนือ