“สหฟาร์มเป็นบริษัทคนจน ไม่ใช่คนรวย ไม่มีทุนประมูลแข่งขัน เราไม่เข้มแข็งเพราะจน!!”
ดร.ปัญญา โชติเทวัญ เอ่ยประโยคแรกกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” สรุปบทเรียนจากวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดของ “สหฟาร์ม กรุ๊ป” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่สุดของประเทศ กำลังผลิตมากกว่า 5 แสนตันต่อปี เป็นผู้บุกเบิกการส่งออกไก่ไปตลาดญี่ปุ่น และติดท็อปไฟว์ของโลก
เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า อาณาจักรมูลค่าแสนล้านจะเจอปัญหาขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งต้องปิดโรงงาน 2 แห่งที่จังหวัดลพบุรีและเพชรบูรณ์ ค้างจ่ายเงินเดือนแรงงานกว่า 3,000 คน เจอกลุ่มลูกเล้าและเกษตรกรผู้ผลิตอาหารสัตว์รวมตัวประท้วงทวงเงินอีกหลายล้านบาท และมีหนี้ปูดออกมามากกว่า 30,000 ล้านบาท แม้ล่าสุด เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงไทย ยอมอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเปิดดำเนินกิจการ เริ่มกระบวนการเลี้ยงและคาดว่าจะดีเดย์ส่งออกได้อีกครั้งในเดือนหน้า หรืออย่างช้าภายในเดือนกันยายน
แต่ย่างก้าวหลังจากนี้ ดร.ปัญญา วัย 81 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจและเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ต้องนับหนึ่งใหม่ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านธุรกิจ และเร่งสะสมทุนอีกครั้ง เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่เหลือเพียงไม่กี่เจ้าและกำลังรุกขยายตลาดทุกช่องทาง เพื่อยึดกุมอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมด
“45 ปี ผมเริ่มจากไม่มีอะไร เจอขวากหนามในวังวนธุรกิจ วิกฤตครั้งล่าสุดร้ายแรงมากและถูกทำให้แย่มากๆ ถ้าวิเคราะห์และเปิดใจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ เมื่อฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ อีกฝ่ายมีความเข้มแข็งสามารถกดดันให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นไป มีความพยายามมานานหลายสิบปี เกิดกระแสข่าวไม่ดี เคยเกิดข่าวว่าร่วมกับสหรัฐฯ รับซื้อไก่ไร้คุณภาพมาขายในประเทศ หาว่าจะย้ายเงินทุนเพื่อเจตนาโกงแบงก์ แบงก์เชื่อและเข้มงวดกับสหฟาร์ม ถูกรุมโจมตีร้อยแปดพันเก้า อย่างกรณีนี้ผมยังอยากให้ดีเอสไอมาตรวจสอบที่มาที่ไป แต่ไม่อยากโทษคนอื่น ต้องโทษตัวเอง”
ดร.ปัญญาระบุว่า แม้อุตสาหกรรมไก่ที่ผ่านมายังไม่อยู่ในสภาพผูกขาด แต่ถ้าไม่มี “สหฟาร์ม” ตลาดจะเปลี่ยนรูปแบบทันที สังเกตจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น จะเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่เจ้า แต่ไม่ใช่ “ไก่” ซึ่งสหฟาร์มยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่เข้าไปแข่งขันในราคาถูก เพื่อเน้นตลาดล่าง ช่วยเหลือคนจน
“ด้วยลักษณะโครงสร้างธุรกิจแบบประเทศไทย สหฟาร์มพัฒนาขึ้นมาเป็นเกษตรกรครบวงจร ถ้าไม่ทำครบวงจร เราตายไปนานแล้ว และถ้าวันนี้ไม่มีสหฟาร์มประเทศไทยจะไม่ต่างจากเขมร คนเขมรต้องซื้อไก่กิโลละ 150 บาท ไม่ใช่กิโลละ 30 หรือ 40 บาท”
เขาย้ำแล้วย้ำอีกตลอดการสัมภาษณ์ ชี้ความแตกต่างระหว่างสหฟาร์มกับบริษัทยักษ์ใหญ่ การเป็นบริษัทคนจน ทำธุรกิจไก่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ขยายใหญ่โต ไม่ได้ขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ เพราะต้องการพัฒนาแรงงานเกษตรกรในเมืองไทย และเติบโตมากับเกษตรกรหลายรุ่น ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อนที่เริ่มต้นธุรกิจ
ดร.ปัญญาเป็นชาววิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เรียนมัธยมโรงเรียนประจำอำเภอแล้วต่อวิชาพยาบาลจากกรมการแพทย์ทหารเรือ รับราชการเป็นพยาบาลทหารเรือ 11 ปีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ กทม. อีก 12 ปี ตำแหน่งงานครั้งสุดท้ายคือ หัวหน้าสุขาภิบาลเขตสามเสน
เวลานั้น เขาคำนวณเงินเดือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลังหักลบหนี้สินต่างๆ แล้วไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว จึงเริ่มต้นเลี้ยงไก่ โดยระดมทุนตั้งตัว จำนวน 5,000 บาท ล้มลุกคลุกคลานเรียนรู้ประสบการณ์นานหลายปี จนกระทั่งตั้งบริษัท สหฟาร์ม จำกัด เมื่อปี 2512 ขยายธุรกิจเลี้ยงและชำแหละไก่ จนกระทั่งปี 2517 ลุยส่งออกไก่สดแช่แข็ง เข้าสู่ธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ผลิตลูกไก่ ผลิตอาหารสัตว์ ส่งลูกไก่และอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ขยายเครือข่ายลูกเล้าด้วยวิธีประกันราคา โดยส่งไก่ตัวมาชำแหละและตัดแต่งเพื่อการส่งออก
ปี 2536 วางแผนเปิดฟาร์มแห่งใหม่ที่บ้านม่วงค่อม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแหล่งน้ำ แม้มีเสียงคัดค้านมากมาย แต่ ดร.ปัญญาเดินหน้าพัฒนาโรงเรือนชำแหละไก่ สร้างอ่างเก็บน้ำ และเจรจากับเกษตรกร จนขยายเป็นอาณาจักรเลี้ยงไก่ได้มากกว่า 50,000 ไร่
วิกฤตครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 เกิดไข้หวัดนกระบาดถึง 60 จังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เลี้ยงไก่จนส่งออกไม่ได้ โชคดีของประธานสหฟาร์มกรุ๊ปที่พนักงานทุกคนยอมช่วยกันทำงานอย่างหนัก ตะลุยขายไก่ หลายคนไม่ขอรับเงินเดือน จนผ่านปัญหาทุกอย่างและฟื้นขึ้นมาได้ กลายเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ตลาดตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
การส่งออกไก่และการทำตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง แต่มาเกิดวิกฤตอีกครั้งช่วงปี 2555 ผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดอาหารสัตว์มากที่สุดในโลกปีละ 400 ล้านตัน การเพาะปลูกลดลงอย่างฮวบฮาบ และทางการสหรัฐฯ พยายามนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพืชพลังงานเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มดุลการค้า เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากรครั้งใหญ่ ข้าวโพดขาดแคลนทั่วโลก ราคาพุ่งพรวดพราดจากกิโลกรัมละ 8 บาท เป็น 12 บาท
ขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตร ใช้วิธีสต๊อกและเปิดการประมูลปริมาณมาก ซึ่งสหฟาร์มไม่มีเงินประมูลแข่งขันกับรายใหญ่ และเป็นช่วงรอยต่อตามแผนขยายกำลังผลิตรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี)
ในที่สุด สหฟาร์มจึงตกอยู่ในสภาพขาดแคลนสต๊อกอาหารสัตว์อย่างรุนแรง ไม่สามารถเลี้ยงไก่ ขาดรายได้ และธนาคารเจ้าหนี้เริ่มจำกัดวงเงิน เนื่องจากไม่เห็นตัวเงินเข้าบริษัทจนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ปี 2555 สหฟาร์มมีรายได้รวม 15,836 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่มีรายได้ 16,008 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้จากการขายต่างประเทศ 7,826 ล้านบาท รายได้จากการขายในประเทศ 7,942 ล้านบาท รายได้จากการลงทุน 5.59 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 25.3 ล้านบาท และรายได้อื่น 37.0 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 16,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีรายจ่าย 14,884 ล้านบาท แยกเป็นต้นทุนขายสินค้า 15,893 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 475 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 449 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงิน 483 ล้านบาท ขาดทุน 1,465 ล้านบาท จากปี 2554 ที่ยังมีกำไร 695 ล้านบาท
ต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ค่าไฟฟ้า และระบบลูกเล้า เกษตรกรในกระบวนการเลี้ยงไก่ บริษัทใช้ระบบเงินเชื่อ 100% ต่างจากระบบของบริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่นที่ให้เกษตรกรซื้อวัตถุดิบเป็นเงินสดทั้งหมด
“บางคนมองเป็นความผิดพลาด เรากำลังขยายเพื่อเตรียมความพร้อมรับเออีซี เพราะต่อไปวัตถุดิบอาหารสัตว์จะผ่านแดนเสรีอยู่แล้ว การขยายไม่ได้ผิดแผน แต่มีทุนน้อย การลงทุนทุกวันนี้ทำยากขึ้น ที่ดินในอดีตลงทุน 5-8 หมื่นล้านบาท แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นไปเป็นแสนล้าน สองแสนล้าน ทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ผมต้องคิดถึงความอยู่รอดของตัวเองและคนรอบข้าง ธุรกิจเกษตรกำไรน้อยและผูกพันกับคนจำนวนมหาศาล เกษตรกรรวย บริษัทก็รวย เกษตรกรจน บริษัทก็จน ซึ่งผมต้องรับผิดชอบ”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทั้ง 8 แห่ง รวมเฉพาะภาระหนี้เงินต้น ประมาณ 11,500 ล้านบาท ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย 6,900 ล้านบาท ธนชาต 2,200 ล้านบาท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) 1,600 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 540 ล้านบาท
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) 200 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 40 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 23 ล้านบาท และบริษัท อยุธยาดีเวลลอปเมนท์ ลีสซิ่ง จำกัด 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนหนึ่ง และหนี้เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงินอีกราว 2 หมื่นล้านบาท เป็นเจ้าหนี้ซัปพลายเออร์ทั้งในกลุ่มบริษัทสหฟาร์มและซัปพลายเออร์ทั่วไปอีกประมาณ 50 ราย
ขณะที่ “สหฟาร์มกรุ๊ป” ในปัจจุบันมีบริษัทหลักในเครือ 6 แห่ง คือ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด, บริษัท โกลเด้นไลน์บิสสิเนส จำกัด, บริษัท สหอินเตอร์ฟู้ด จำกัด, บริษัท ฟู้ดฟอร์เดอะเวิลด์ จำกัด, บริษัท เฮลท์ฟู้ด จำกัด, บริษัท เฮลท์ฟู้ด เอ็มแอลเอ็ม จำกัด โดยมีฐานผลิตหลักที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ กำลังการผลิต 600,000 ตัวต่อวัน และ โรงเชือดที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังการผลิตประมาณ 400,000 ตัวต่อวัน ส่วนแผนการขยายฐานโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงรายและชัยภูมิต้องชะลอไว้ก่อน
สำหรับคฤหาสน์ “สุขาวดี” ซึ่งดร.ปัญญาใช้ทุนส่วนตัวมากกว่าพันล้านบาท ก่อสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้สัจธรรมในการดำเนินชีวิต รวมถึงการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเรียนรู้มาตลอดชีวิตและยังไม่จบหลักสูตร โดยเฉพาะสัจธรรมเรื่องการพึ่งพาตัวเองก่อน นั่นทำให้อนาคตของสหฟาร์มภายใต้การบริหารของทายาทยุคที่สอง ต้องเดินอยู่บนความระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น
สำคัญที่สุด ปรากฏการณ์การต่อสู้ในวังวนธุรกิจ เมื่อทุนน้อยต้องต่อสู้กับทุนใหญ่ สงครามการแข่งขันที่พยายามยึดครองวัตถุดิบอาหารและช่องทางตลาดทั้งหมด การปรับตัวไม่ได้ ไม่มีกลยุทธ์ที่เหนือชั้นกว่า นั่นไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่ยังส่งสัญญาณอันตรายต่อผู้บริโภคภายใต้ธุรกิจผูกขาดแบบเบ็ดเสร็จอย่างน่ากลัวที่สุด