วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > คนมะกันใช้อินเทอร์เน็ตวินิจฉัยโรคเอง

คนมะกันใช้อินเทอร์เน็ตวินิจฉัยโรคเอง

ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกายุ่งเหยิงน่าปวดหัว ทำให้สหรัฐฯ รั้งที่โหล่ในรายงานการเปรียบเทียบสุขภาพและอายุขัยของประชากรใน 17 ประเทศชั้นนำที่พัฒนาแล้วด้านเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้

ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่ได้ซื้อประกัน และแพทย์ก็ถูกกดดันทั้งด้านเวลาและเงิน จนพวกเขาไม่สามารถให้เวลากับคนไข้มากนัก ทำให้คนหันเข้าหาอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อวินิจฉัยโรคและเรียนรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ มากขึ้น

ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวระบุว่า จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 3,000 คน มีมากกว่าสองในสามใช้ระบบออน–ไลน์เพื่อสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ อีกหนึ่งในสามใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อวินิจฉัยโรคเอง จากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว มีประมาณครึ่งหนึ่งยอมไปปรึกษาแพทย์ แม้แต่พระเอกตลอดกาลอย่าง คลินต์ อีสต์วูด ยังยอมรับว่า “มีบ่อยครั้งที่ชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับข้อมูลเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว”

ริดสีดวงทวาร–โรคท็อปฮิตใน Google

เราอาจไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงริดสีดวงทวารกันอย่างเปิดเผยมากนัก แต่เชื่อไหมว่า คนจำนวนมากวิตกกังวลกับโรคนี้มาก เพราะเป็นหัวข้อยอดนิยมมากที่สุดหัวข้อหนึ่งในการค้นหาใน Google

ริดสีดวงทวารเป็นเนื้อเยื่อที่บวมเป่งบริเวณตอนล่างของทวารและช่องทวารหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วไปประมาณร้อยละ 75

ผู้ป่วยจะมีอาการคัน เจ็บปวด และมีเลือดสดออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ การป้องกันทำได้โดยบริโภคอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้ห่วงยางรองนั่ง

 

นั่งนานๆ เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพรุนแรง

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาสทริชต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเบอร์นาร์ด ดูวิเวียร์ ยืนยันว่า การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น

หากคุณนั่งวันละ 14 ชั่วโมง จะมีผลให้ระดับฮอร์โมนอินซูลิน ไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) และไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง

การศึกษายังบ่งชี้ว่า การนั่งวันละ 13 ชั่วโมง และออกกำลังกายอย่างหนักนาน 1 ชั่วโมง ให้ผลในการทำให้การเผาผลาญดีขึ้นไม่เท่าการนั่งวันละ 6 ชั่วโมง แล้วเดินออกกำลังระดับปานกลางนาน 4 ชั่วโมง

นัยสำคัญที่ต้องการสื่อคือ ให้กระฉับกระเฉง ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน จะส่งผลดีมากกว่าการหักโหมออกกำลังกายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่สามารถชดเชยการนั่งเฉยๆ วันละหลายชั่วโมงติดต่อกันได้
เคล็ดลับการกำหนดเวลารับสารอาหาร

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีเพียงนักกีฬาระดับแชมเปี้ยน โคช และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กีฬาไม่กี่รายเท่านั้น เป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านโภชนาการเพื่อการกีฬา นักกีฬาได้รับคำแนะนำให้บริโภคโปรตีนปริมาณมาก ซึ่งรวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ดิบ รวมทั้งให้ดื่มน้ำผลไม้มากๆ ด้วย นับจากนั้นเป็นต้นมา โภชนาการเพื่อการกีฬากลายเป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องพัฒนาและมีความซับซ้อน

คีธ วีเลอร์ สรุปหลักสำคัญของโภชนาการเพื่อการกีฬาว่า อยู่ที่การกำหนดเวลาในการรับสารอาหาร เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและได้ประโยชน์สูงสุดจากการฝึกซ้อม

เขาระบุว่า หลังการฝึกซ้อม ให้บริโภคโปรตีน 20–25 กรัม และคาร์โบไฮเดรทอีก 60–100 กรัม

ทั้งปริมาณ คุณภาพ และเวลาการรับสารอาหารหลังการฝึกซ้อมหรือออกกำลังกาย สำคัญต่อการเล่นกีฬาให้ได้ผลสูงสุด การใช้หลักโภชนาการเพื่อการกีฬาอย่างเป็นระบบ ช่วยการปรับตัวเพื่อออกกำลังกาย การฝึกฝน และการเพิ่มความเร็วในการเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดี

 

Column: Well-Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว

ที่มา: นิตยสาร Fitness Rx