เมื่อปี 2544 องค์การสหประชาชาติได้ริเริ่มโครงการเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือเรียกสั้นๆ ว่า MDGs) คือ เป้าหมาย 8 ประการที่สมาชิกของสหประชาชาติทั้ง 189 ประเทศ ได้ตกลงที่จะยอมรับและจะพยายามบรรลุเป้าหมายทั้ง 8 ประการนี้ภายในปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดความอดอยากให้หมดไปจากโลก และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
เป้าหมายทั้ง 8 ประการนี้ประกอบด้วย (1) การขจัดความยากจนและความหิวโหยที่ร้ายแรง (2) การพัฒนาการศึกษา ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนอย่างน้อยระดับประถมศึกษา (3) การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ และให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น (4) การลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก (5) การพัฒนาสุขภาพอนามัยของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ (6) การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ (7) การรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และ(8) การส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประเทศพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่จะมีขึ้นไปทั่วโลก
สองข้อหลักๆ จากทั้งหมด 8 ข้อ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2558 คือ (1) การขจัดความยากจนและความหิวโหยที่ร้ายแรง และ (2) การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ ให้ผู้หญิงได้มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น ทั้งสองข้อนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ การที่จะบรรลุเป้าหมายข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะทั้งสองข้อจะต้องถูกพัฒนาภายในประเทศนั้นๆ ไปพร้อมๆ กัน
Danielle Nierenberg เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Food Tank: The Food Think Tank ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดหาอาหาร และเป็นคนกลางในการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับคนประมาณเจ็ดร้อยล้านคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความอดอยากและหิวโหย ให้สัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัวแล้วเธอมีจุดมุ่งหมายต้องการที่จะทำให้ความหิวโหยและความอดอยากอย่างร้ายแรงหมดไปจากโลกของเรา แต่องค์กรของเราไม่สามารถทำได้ ตราบใดที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับความเท่าเทียมกันในสังคม เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น การขจัดปัญหาเรื่องความอดอยากก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วย
ทำไมปัญหาเรื่องความอดอยากกับเรื่องสิทธิของผู้หญิงในสังคมถึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน
สาเหตุที่สองปัญหานี้เกี่ยวข้องกันก็เป็นเพราะทุกวันนี้คนที่ทำงานเป็นเกษตรกรทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อย่างเช่นที่ทวีปแอฟริกา มีผู้หญิงที่เป็นเกษตรกรอยู่ถึง 80% ด้วยกัน และเมื่อผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ในสังคมที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ก็หมายความว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำความรู้มาใช้ในการทำการเกษตร และยังรวมไปถึงว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำเงินมาลงทุนและต่อยอดในการทำการเกษตร เมื่อผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ก็หมายความว่าผลผลิตจากการเกษตรที่จะมาแปรรูปเป็นอาหารให้รับประทานนั้นมีจำนวนน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจากทั่วโลก
เพื่อสนับสนุนความคิดนี้ องค์กร Food and Agriculture Organization หรือ FAO ยังได้ออกมายืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถ้าผู้หญิงมีสิทธิในสังคมเท่ากับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเจ้าของที่ดิน การศึกษา หรือการกู้เงินจากธนาคาร ก็จะทำให้พืชผลทางการเกษตรสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% ทำให้ปริมาณอาหารเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร และยังช่วยลดจำนวนของผู้ที่หิวโหยได้อีกอย่างน้อย 17% เลยทีเดียว
องค์การสหประชาชาติเองก็เชื่อว่า การที่ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมกันกับผู้ชายในสังคมจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและสั้นที่สุดในการขจัดปัญหาความอดอยากและขาดแคลนสารอาหาร เพราะผู้หญิงเป็นหลักในการทำเกษตร ในขณะที่ผู้ชายมักจะเข้ามาหางานทำในเมือง ดังนั้นถ้าผู้หญิงไม่สามารถมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายได้ เธอก็ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ และในที่สุดเธอก็จะเลิกเป็นเกษตรกร ทำให้ผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง และส่งผลให้ปริมาณอาหารลดลงตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายในการเป็นเจ้าของที่ดิน และไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาลงทุน หรือเพื่อซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ หมายความว่าพวกเธอจะต้องไปเช่าที่ดินของคนอื่นมาทำการเกษตร และถ้าหากผลผลิตของพวกเธอไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ว่าจะจะนำกำไรมาให้ พวกเธอก็จะไม่มีเงินทุนมาทำการเกษตรต่อไป ในที่สุดพวกเธอเหล่านี้ก็จะเลิกเป็นเกษตรกร และต้องหางานอย่างอื่นมาทำแทน ดังนั้นปริมาณอาหารในโลกนี้ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในโลกนี้
ดังนั้นเรื่องการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และเรื่องการให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ในสังคมเท่าเทียมกับผู้ชายจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน แต่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ก็ไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากนัก
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการจัดประชุม World Food Security Conference ขึ้นที่กรุงโรม และได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ด้วย FAO พยายามพูดถึงการให้สิทธิต่างๆ กับผู้หญิงในสังคมให้มากขึ้น เพื่อที่จะช่วยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ FAO กลับลืมที่จะให้ความสนใจเกษตรกรหญิง ทั้งที่เกษตรกรหญิงคือคนสำคัญในการผลิตอาหาร
ในขณะเดียวกันเรื่องการให้สิทธิที่เท่าเทียมกับผู้หญิงในสังคมก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงยังถูกจำกัดสิทธิในสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก อย่างเช่น การเป็นเจ้าของที่ดิน การได้ค่าจ้างในการทำงานที่เท่ากันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเมื่อทำงานแบบเดียวกัน และโอกาสในการได้เลื่อนตำแหน่งไปทำงานในระดับผู้บริหาร
นอกจากนี้ในหลายๆ ประเทศยังมีกฎหมายที่มีการจำกัดสิทธิของผู้หญิงอยู่อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นกฎหมายเรื่องครอบครัวในประเทศมุสลิม อย่างอินโดนีเซีย อิรัก และอิหร่าน เป็นต้น ที่กฎหมายยังคงจำกัดสิทธิของผู้หญิงในสังคมอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน
วิธีการที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถมีสิทธิในสังคมได้เท่ากับผู้ชายนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลจะต้องประสานงานกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในการให้สิทธิกับผู้หญิงในสังคม อย่างเช่นต้องทำงานร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการให้ได้รับสิทธิในการเข้ารับการศึกษาในทุกระดับชั้นได้เหมือนผู้ชาย รัฐมนตรีสาธารณสุขต้องมีส่วนช่วยในการให้ผู้หญิงได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมือนกับผู้ชาย รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าทำงานเหมือนกับผู้ชายและได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมไปถึงประกันสังคมเหมือนกับผู้ชาย และรัฐมนตรีเกษตรต้องช่วยส่งสริมให้ผู้หญิงสามารถเป็นเจ้าของที่ดินทำกินได้ ดังนั้นถ้าหากผู้หญิงได้รับสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว พวกเธอก็สามารถเป็นเกษตรกรที่ดีและมีคุณภาพ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีอาหารที่เพียงพอสำหรับทุกคน
สิทธิแรกที่ผู้หญิงควรจะได้รับ คือสิทธิเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของที่ดินและการกู้ยืมเงินจากธนาคาร เพราะถ้าพวกเธอเป็นเจ้าของที่ดิน พวกเธอก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเช่าที่ดินของคนอื่นในการทำการเกษตร และในขณะเดียวกันพวกเธอก็จำเป็นต้องมีเงินในการลงทุนเช่นกัน เมื่อพวกเธอเป็นเจ้าของที่ดินและสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ พวกเธอก็จะสามารถทำการเกษตรต่อไปได้ ปริมาณอาหารในโลกนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สิทธิที่สองที่ผู้หญิงควรจะได้รับคือสิทธิในเรื่องของการศึกษา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาเหมือนกับผู้ชาย ผู้หญิงก็จะสามารถรู้ได้ว่าพวกเธอควรจะทำอาหารแบบใดให้ลูกๆ และสามีรับประทาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร และยังทำให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นคุณภาพชีวิตในสังคมก็จะดีขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลยังควรช่วยลดภาระของผู้หญิงที่มีในบ้านด้วย อย่างเช่นว่า ควรจะมีสถานรับเลี้ยงดูแลเด็กที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล มาช่วยดูแลเด็กๆในเวลาที่ผู้หญิงออกไปทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงได้ทำงานอย่างเต็มที่ และไม่ต้องเป็นห่วงลูกๆ และยังควรมีแหล่งน้ำที่สะอาดและไฟฟ้าที่ทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตชนบท ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากไม่มีน้ำสะอาดและไม่มีไฟฟ้าใช้ พวกเธอก็จะไม่สามารถอยู่ในเขตชนบทได้นาน และในที่สุดพวกเธอก็จะเลิกการเป็นเกษตรกร และย้ายเข้ามาทำงานในตัวเมืองแทนและท้ายที่สุดก็จะทำให้ปริมาณอาหารลดน้อยลงไปอีกด้วย
ดังนั้นหากรัฐบาลหันมาให้ความสนใจในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ชายในสังคม ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องความหิวโหยลงไปได้ด้วยเช่นกัน และในที่สุดประชาชนทุกคนก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่มีใครต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความอดอยากอีกต่อไป
Column: Women in Wonderland