วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > Digital University อีกก้าวของจุฬาฯ ที่ยังไม่ใกล้ “เสาหลักของแผ่นดิน”

Digital University อีกก้าวของจุฬาฯ ที่ยังไม่ใกล้ “เสาหลักของแผ่นดิน”

 

ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยกำลังจะมีอายุครบ 100 ปี 

ตามแผนยุทธศาสตร์ปี พ.ศ. 2555-2559 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งเป้าที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก: World Class National University”
 
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในพันธกิจสำคัญของจุฬาฯ คือการผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Digital University อันเป็นยุทธศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารของมหาวิทยาลัยอย่างรอบด้าน
 
ด้วยเหตุนี้ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้จัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “WiFi4CU” ระหว่างจุฬาฯ กับ 4 ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำของไทย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรู และทีโอที ในการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็ว 100 เมกะบิตต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่แนวราบทั้งหมดของจุฬาฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี
 
“ทุกวันนี้ การเรียนการสอนทุกอย่างใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อน การวิจัยก็ใช้เครือข่ายนักวิจัยทั่วโลกเข้าด้วยกัน ตอนนี้กิจกรรมมหาวิทยาลัยหลายๆ อย่างได้ขึ้นไปอยู่บนระบบ ICT เกือบหมด เราพยายามขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ใช้ ICT เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดย WiFi จะเป็นตัวเชื่อมนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ เข้ากับกิจกรรมทุกอย่างภายในมหาลัย”
 
ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ มองว่า โครงการ WiFi4CU จะเสริมประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงฐานข้อมูลการศึกษา ผ่านเครือข่าย WiFi ในจุฬาฯ ซึ่งมีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาคมจุฬาฯ ซึ่งประกอบด้วย นิสิตกว่า 4 หมื่นคน และบุคลากรจุฬาฯ กว่า 8 พันคน 
 
เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน จุฬาฯ ได้ลงทุนโครงข่ายเพื่อบริการ WiFi ฟรีให้กับนิสิตและบุคลากรในชื่อ “ChulaWiFi” แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1 ล้าน ตร.ม. ของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ จึงเปิดให้ค่ายมือถือชั้นนำทั้ง 4 ค่าย เข้ามาติดตั้ง Access Point หรือ WiFi Hotspot ในรั้วจามจุรี ซึ่งยังต้องการอีกอย่างน้อย 800 จุด จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 800 จุด 
 
ประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถขยายบริการเครือข่าย WiFi ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มฮอตสปอตอีกร่วม 800 จุด ด้วยเงินลงทุนของมหาวิทยาลัยเอง
 
สำหรับนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ รวมถึงผู้ใช้บริการในจุฬาฯ ที่เป็นลูกค้าของทั้ง 4 โอเปอเรเตอร์ (Operator) จะสามารถใช้บริการ WiFi ได้ทันที หากมีแพ็คเกจ WiFi กับโอเปอเรเตอร์อยู่แล้ว แต่ถ้าแพ็คเกจไม่รวมบริการ WiFi ก็ต้องซื้อบริการเสริมเข้าไป 
 
ขณะที่โอเปอเรเตอร์ 4 ราย จะสามารถเข้ามาให้บริการลูกค้าของตนในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างจุฬาฯ ได้ ด้วยเงินลงทุนที่น้อยลง เพราะใช้โครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกที่จุฬาฯ ลงทุนไว้แล้ว โดยสิ่งที่ต้องลงทุนคือ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งฮอตสปอต 800 จุด ซึ่งน่าจะใช้งบรวมแล้ว 30-50 ล้านบาท โดยโอเปอเรเตอร์จะลงขันร่วมกัน

ยกเว้น ผู้นำด้านบริการ WiFi ที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 1 แสนจุด อย่างทรู เพราะทรูมีแผนจะลงทุนเอง โดยก่อนหน้านี้ ทรูได้วางโครงข่ายและติดตั้งฮอตสปอตของตนไว้ตามศูนย์การค้าและพื้นที่รอบจุฬาฯ ไปมากแล้ว โดยเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทรูก็เพิ่งเปิดร้าน “ทรูคอฟฟี่” พร้อมบริการ WiFi by TrueMove H ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
 
“ภายใต้โครงการ WiFi4CU กลุ่มทรูได้ติดตั้งฮอตสปอต WiFi by TrueMove H เพิ่มเป็น 400 จุด เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 19 คณะ และอีก 2 สถาบันการศึกษาทั่วจุฬาฯ” อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบายล์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย
 
ขณะที่ “เบอร์ 1” ด้านบริการมือถืออย่างเอไอเอส กลับมีนโยบายเกี่ยวกับบริการ WiFi เพียงเป็น “ตัวเสริม” ของบริการ 3G โดยยุทธศาสตร์ของเอไอเอสสำหรับโครงการ WiFi4CU วิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอของเอไอเอส ระบุว่า เพื่อลดความหนาแน่นในการใช้ 3G ของนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ
 
ส่วนเบอร์สองอย่างดีแทค ระบุว่า ยุทธศาสตร์ด้านบริการ WiFi ของดีแทค คือการให้บริการตามศูนย์การค้าเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้เริ่มกระจายไปบริการไปในต่างจังหวัดแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริการในพื้นที่ที่ประชาชนหนาแน่น อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้า และสนามบิน เป็นต้น
 
ด้านทีโอที ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Thailand ของรัฐบาล ที่ผ่านมา ทีโอทีร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย “ICT Free Wi-Fi” ในพื้นที่สาธารณะร่วม 3 หมื่นจุด โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 แสนจุดทั่วประเทศ ภายในปี 2557
 
“ส่วนสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการศึกษา คงขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาที่จะทำให้การใช้ WiFi เป็นไปเพื่อความรู้และเป็น Digital Lifestyle ที่มีประโยชน์” รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการสื่อสารไร้สายและบริการเพื่อสังคม ทิ้งท้าย
 
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและยุทธศาสตร์ ยอมรับว่า ในการใช้ ChulaWiFi นิสิตจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และฐานข้อมูลของจุฬาฯ ได้ และเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปได้ แต่การใช้ WiFi ของโอเปอเรเตอร์ นิสิตจะใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้อย่างเดียว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยคงไม่สามารถไปจำกัดการเข้าเว็ปของนิสิตได้
 
สำหรับขั้นต่อไปในการก้าวสู่ Digital University ผู้บริหารจุฬาฯ ระบุว่า จะเน้นการขยายการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์โมบายมากขึ้น รวมถึงการทำ Smart Classroom หรือห้องเรียนรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้นิสิตมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนและอาจารย์มากกว่าการเรียนการสอนที่เน้นการจดเล็กเชอร์แบบเดิม
 
อันที่จริง ก่อนนี้ก็มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ได้ร่วมมือกับค่ายมือถือชั้นนำ ในการลงทุนโครงข่ายบริการ WiFi ทั่วมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น เพียงแต่โครงการ WiFi4CU นับเป็นครั้งแรกที่นำ 4 บริษัทมือถือชั้นนำของไทยมาจับมือกัน
 
โดย ดร.สุพจน์ ให้เหตุผลว่า หากเลือกรายใดรายหนึ่งอาจไม่เหมาะสม ส่วนอธิการบดีจุฬาฯ มองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า ขณะที่ผู้บริหารของบางค่ายมือถือมองว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ให้จุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ และมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม อันเป็นภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ
 
ทั้งนี้ ผู้บริหารจุฬาฯ ระบุว่า การก้าวสู่การเป็น Digital University เป็นการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ “คล่องตัว” ของจุฬาฯ อันเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 6 ด้าน เพื่อมุ่งสู่ความปรารถนาในการเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับครบรอบร้อยปีของจุฬาฯ
 
ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย “ก้าวไกล” หมายถึง การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก, “ยกย่อง” คือการเป็นปัญญาแห่งแผ่นดินและนำความรู้สู่สังคม, “คล่องตัว” ได้แก่ การเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล, “มั่นคง” คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการบริหารทรัพย์สินทั้งทางกายภาพ การเงิน และทางปัญญา อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
 
ขณะที่ “เกื้อกูล” หมายถึง การเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา และมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชน (University Social Responsibility) ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และ “เป็นสุข” ซึ่งหมายถึง การเป็นบ้านอันอบอุ่นของคนดี คนเก่ง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
 
ปุจฉาคือ เหตุใดข่าวคราวที่เกิดขึ้นกับจุฬาฯ ก่อนหน้านี้ กลับไม่ได้สะท้อนภาพก้าวย่างไปสู่ความเป็น “เสาหลักแห่งแผ่นดิน” ที่สมบูรณ์ อย่างที่จุฬาฯ ประกาศไว้?
 
โดยเฉพาะกรณีล่าสุด คือความพยายามยึดพื้นที่ของ “อุเทนถวาย” สถาบันการศึกษาบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีกำลังจะมีอายุครบ 80 ปี ท่ามกลางความระแวงของสังคมว่า จุฬาฯ อาจนำพื้นที่ตรงนี้ไปพัฒนาเป็นศูนย์การค้า หรือคอนโดหรู มากกว่าที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การศึกษาฯ อย่างที่ประกาศไว้ เช่นเดียวกับพื้นที่จามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน และพื้นที่สามย่านในอดีต ที่ไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาเพื่อการศึกษาดังที่ได้เคยกล่าวไว้
 
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวการยึดที่ดินโรงเรียนสาธิตปทุมวันฯ เพื่อทำสวนสาธารณะและขยายถนน ฯลฯ และแผนการยึดคืนโรงหนังเก่าแก่ของเมืองไทย อย่างลิโด้และสกาล่า รวมถึง การไล่รื้ออาคาร ตึกแถว และตลาด ย่านปทุมวัน สวนหลวง และสามย่าน เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า ฯลฯ
 
ทั้งที่รายได้จากค่าเช่าที่ดินทั้งหมดของจุฬาฯ โดยเฉพาะพื้นที่สยามสแควร์, MBK, จามจุรีสแควร์, ตลาดสามย่านใหม่ และสนามกีฬาแห่งชาติ ก็น่าจะทำให้จุฬาฯ ได้เงินมามากมายสำหรับพัฒนาการศึกษาอยู่แล้ว

ภาพลบเหล่านี้ กำลังทำให้จุฬาฯ ถูกสังคมสงสัยว่า กำลังเห็น “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญกว่าการศึกษา หรือไม่?
 
สุดท้าย หากไร้ซึ่งความยอมรับและไว้วางใจจากสังคม ถึงจุฬาฯ จะเป็นมหาวิทยาลัยอายุ 100 ปี ที่เป็น Digital University โดยสมบูรณ์ แต่ก็หาได้ทำให้จุฬาฯ เข้าใกล้เป้าหมายการเป็น “เสาหลักแห่งแผ่นดิน” มากขึ้นไม่!