ระหว่างการประกอบพิธีมิสา ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า แมซ (messe) มีขึ้นตอน commu- nion อันมีขนมปังและไวน์เป็นสำคัญ บาทหลวงผู้ประกอบพิธี จะมอบขนมปังชิ้นเล็กให้คริสต์ศาสนิกชนผู้เคยผ่านพิธีรับศีลจุ่ม (bapteme) มาก่อน ส่วนไวน์นั้นให้แต่บาทหลวงรูปอื่นๆที่อยู่ในพิธีหรือผู้ใกล้ชิดทำงานให้โบสถ์เท่านั้น ดื่มแล้วต้องเช็ด ขอบแก้วไวน์ด้วย แล้วจึงส่งต่อ
ขนมปังและไวน์นั้นมิใช่มาจากท้องตลาดทั่วไป เพราะจะมีแหล่งผลิตพิเศษ เป็นขนมปังกลมๆ แบนๆ ชิ้นเล็กที่บาทหลวงจะใส่ในปากหรือวางบนมือ
ไวน์ที่ใช้ในพิธีมิสาเป็นเหล้าที่ทำจากองุ่นเท่านั้น โบสถ์ที่ตั้งในแถบที่มีการผลิตไวน์จะสั่งกับผู้ผลิตโดยตรง ผู้ผลิตบาง รายจัดส่งไวน์ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็น การรับใช้ศาสนา พวกนักบวชชอบไวน์ที่มีรสอ่อน ออกหวาน และหากจะขายก็ราคา ถูกมาก Nicolas เป็นเชนขายเหล้าและไวน์ ที่มีอยู่ทั่วฝรั่งเศส ส่งเหล้าให้โบสถ์และวัดทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีขายตามร้านค้าของวัดต่างๆ ด้วย
เหล้านั้นพันผูกกับนักบวชมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังเช่นเหล้าชาร์เทริซ (chartreuse) ซึ่งเป็นเหล้าหลังอาหารเพื่อช่วยย่อยก็เป็นเหล้าที่นักบวชสาย Chartreuse de Vauvert ได้รับสูตรมาจากนายพลเอสเทรส์ (Estrees) แล้วส่งต่อให้ la Grande Chartreuse ซึ่งเป็นสายนักบวชที่ก่อตั้งโดยนักบุญบรูโน (Bruno) นับแต่นั้น la Grande Chartreuse จึงกลั่นเหล้ารสเลิศจากสมุนไพรร้อยกว่าชนิด ซึ่งนักบวชสายนี้ยังเก็บเป็นความลับมาจนทุกวันนี้ นักบวชแต่ละรุ่นจะมีผู้ทำหน้าที่กลั่นเพียง 2 คน เป็น 2 คนที่เข้าถึงสูตร
อามาญัก (armagnac) เหล้าช่วยย่อยอาหารที่เรียกว่า digestif เป็นเหล้าที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส มีอายุครบ 700 ปีในปี 2010 ย้อนไปปี 1310 นักบวชชื่อ โดมินิ วิตาลิซ เดอ ฟูร์โน (Domini Vitalis de Furno) อ้างสรรพคุณเหล้าท้องถิ่นของกาสโกญ (Casgogne) ซึ่งมาเรียกชื่อว่า armagnac ตามชื่อแหล่งผลิตในอาร์มาญัก (Armagnac) และแน่นอนว่าเหล้ารสดีชนิดนี้มีมาก่อนปี 1310 เมื่อมีการประดิษฐ์ เครื่องพิมพ์ ในปี 1531 จึงมีการพิมพ์ข้อเขียนของอาร์มาญักและเก็บไว้ในห้องสมุดของวาติกัน
การค้าเหล้าอาร์มาญักเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ลูกค้าคือฮอลแลนด์และอังกฤษ จวบจนศตวรรษที่ 18 อาร์มาญัก ยังมีสีขาวเพราะไม่ได้บ่มนาน เรียก Blanche d’armagnac ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการผลิตอีกครั้งหนึ่ง
อาร์มาญักกลั่นจากองุ่นขาว การผลิตอาร์มาญักมีกฎเกณฑ์เคร่งครัด หากเป็นอาร์มา ญัก VS ใช้เวลาบ่ม 1-3 ปี ส่วน VSOP หรือ Napoleon ใช้เวลา บ่ม 4-9 ปี และ XO หรือ hors d’age ใช้เวลาบ่ม 10 ปีขึ้นไป XO premium บ่มนานกว่า 20 ปี ราคาอาร์มาญักจึงต่างกันไปตามจำนวนปีของการบ่ม จึงไม่มีชาวฝรั่งเศสคนไหนเมาเพราะอาร์มาญัก ประการหนึ่งเพราะเป็นเหล้าหลังอาหารซึ่งจะจิบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เหล้าลงไปถึงส่วนไหนของกระเพาะ ลำไส้ เป็นรู้หมดเนื่องจากระดับแอลกอฮอล์สูงมาก อีกประการหนึ่งเพราะราคาอาร์มาญักสูงเกินกว่าจะนำมาดื่มเล่น
ในปี 2011 ผู้ผลิตอาร์มาญักเดินทางไปวาติกันเพื่อค้นหาข้อเขียนของโดมินิ วิตาลิซ เดอ ฟูร์โน
Suze เป็นเหล้าเรียกน้ำย่อยที่เรียกว่า apperitif ไม่ได้ผลิตจากองุ่นอย่างเหล้า ทั่วไป เป็นความคิดของแฟร์นองด์ มูโรซ์ (Fernand Moureaux) ที่นำสมุนไพรชนิด หนึ่งคือ gentiane และต้องเป็น gentiane ที่มาจากที่ราบสูงของโอแวร์ญ (Auvergne) เท่านั้น และตั้งชื่อว่า Suze ตามชื่อของน้องสะใภ้ ซูซาน จาสปารต์ (Suzanne Jaspart)
ส่วนผสมของ Suze เป็นความลับมาจนทุกวันนี้ เมื่อแรกมีระดับแอลกอฮอล์ 36 ดีกรี แต่ภายหลังลดเหลือ 20 ดีกรีเป็นเหล้าที่ผลิตในแถบเทือกเขา ปีเรเนส์ ในแถบ Pyrenees orientales ของฝรั่งเศส การดื่ม Suze จะใส่น้ำแข็งด้วย
นอร์มองดี (Normandie) เป็นแหล่งผลิตซีเดรอะ (cidre หรือไซเดอร์-cider ในภาษาอังกฤษ) เหล้าที่กลั่นจากแอปเปิล เป็นเครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์ไม่สูง ต้องแช่เย็น จึงเป็นเครื่องดื่มที่ชาวฝรั่งเศส ถามหาเมื่อฤดูร้อนมาถึง มักดื่มแกล้ม แครป (crepe) และกาแลต (galette) ในนอร์มองดียังมีเหล้าอีก ชนิดหนึ่ง ถือเป็นเหล้าชั้นเยี่ยมของนอร์มองดี คือ กัลวาโดส (Calvados) เคยไปเยือนเกษตรกรชาวนอร์มองดี ชาวบ้านน้ำใจ ดี ชวนไปดื่มกาแฟที่บ้านกาแฟของชาวนอร์มองดีใส่กัลวาโดสด้วย เรียก cafe-calva
กัลวาโดสจะบ่มในถังไม้โอ๊กมากกว่า 2 ปี หากน้อยกว่า 2 ปีนำมาผสมกับน้ำแอปเปิลได้เหล้าชนิดใหม่ คือ ปอมโม (pommeau) ระดับแอลกอฮอล์ 16-18 ดีกรี ในขณะที่กัลวาโดส 40 หรือ 42 ดีกรี
มื้ออาหารที่มีอาหารสัตว์ 2 จาน จะเสิร์ฟกัลวาโดสในถ้วยเล็กนิดเดียว ผสม น้ำแข็งเล็กน้อย เรียก trou normand เป็นการดื่มล้างปาก เพื่ออาหารเนื้อสัตว์จานต่อไป ทว่าในปัจจุบัน trou normand จะเป็นเชอร์เบทแอปเปิล บางครั้งเหยาะกัลวาโดสเล็กน้อย
Crepe suzette แครปสุดแสนอร่อยที่นอกจากน้ำส้มแล้ว ยังใส่เหล้าด้วย มีให้เลือกระหว่างกัลวาโดสและกรองด์ มาร์นีเอร์ (Grand marnier) พนักงานเสิร์ฟจะนำจานแครปมาที่โต๊ะ พร้อมกับกระทะใบจิ๋วใส่เหล้ามา แล้วเทใส่บนแครปและจุดไฟ
โดยปกติแล้วกัลวาโดสเป็น digestif เหล้าย่อยอาหาร
กวงโทร (Cointreau) เป็นเหล้าจากเมืองอองเจร์ (Angers) ที่เพิ่งมีการกลั่นในปี 1875 จากผลไม้ท้องถิ่น เริ่มจาก การที่พี่น้องตระกูลกวงโทรผลิตเหล้า guignolet จากเชอรี่ขนาดเล็กที่เรียกว่า guigne ต่อมาในปี 1875 เอดูอารด์ กวงโทร (Edouard Cointreau) กลั่นเหล้าจากเปลือกส้ม ได้เหล้าออกรสขม เป็นเหล้ากวงโทรที่ใส่ในขวดสี่เหลี่ยม กลายเป็นเหล้า digestif ที่ขายดีในยุโรปและอเมริกา
กวงโทรมีระดับแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี
ดง เปรีญง (Dom Perignon) เป็นเหล้าที่ถือกำเนิดในวัดอีกชนิดหนึ่ง เมื่อนักบวชผู้หนึ่งคือ ดง เปรีญง กลั่นเหล้า ในวัดแซงต์-ปิแอร์ โอต์วิลแลร์ (abbaye Saint-Pierre d’Hautvillers)
โรมาเน-กงติ (Romanee-Conti) ไวน์รสเลิศของบูร์โกญ (Bourgogne) ในหมู่บ้านโวส์น-โรมาเน (Vosne-Romanee) กลั่นจากองุ่นพันธุ์ pinot noir ที่ปลูกในพื้นที่ขนาด 1.8 เฮกตาร์ จึงผลิตไวน์ ได้เพียงปีละ 6,000 ขวดเท่านั้น ราคา ขวดละ 1,345 ยูโรไม่รวมภาษีสำหรับไวน์ที่ผลิตในปี 2005
ไร่องุ่นสำหรับการผลิตโรมาเน-กงตินั้นเริ่มแรกเป็นไร่ของพวกนักบวชสาย Prieure de Saint-Vivant ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ต่อมาในปี 1651 นักบวชขายที่ให้กับตระกูลโครเนนบูรก์ (Cronen-bourg) ศตวรรษต่อมาเจ้าชายแห่งกงติ (Conti) ซื้อไว้ จึงใช้ชื่อของตนในไวน์ที่ผลิตได้และใช้ดื่มส่วนตัวเท่านั้น
ที่ดินผืนนี้เปลี่ยนเจ้าของอีกหลายครั้งหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในทุกครั้งราคา ไวน์จะสูงขึ้น ปัจจุบันไร่องุ่นแห่งนี้เป็นของตระกูลวิลแลน (Villaine) และตระกูลเลอรัว (Leroy)
เหล้ามักมีต้นกำเนิดในวัดในคริสต์ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนักบวชในสายเบเนดิก แตง (bebedictin) ซิสแตร์เซียง (cistercien) ชาร์เทรอะซ์ (chartreux) เจซูอิต (jesuite) ต่างผลิตไวน์ชั้นเลิศวัด ซิโตซ์ (abbaye de Citeaux) ผลิต Meursault, Musigny, Savigny-les-Baunes, Epenotte, Morey-Saint-Denis และ Chambolle-Musigny นักบวชซิสแตร์เซียง (cistercien) จากวัดโบวัววร์ (abbaye de Beauvoir) เป็นผู้นำพันธุ์องุ่นโซวีญง (sauvignon) มาปลูกที่เมืองแกงซี (Quincy) Chateauneuf-du-Pape หรือ Pommard ล้วนแต่เป็นไวน์ที่พวกนักบวชผลิต