โซเชียลมีเดียที่มียอดการใช้เติบโตสูงสุด 163% โดยเฉพาะโปรแกรมแบ่งปันรูปภาพ อินสตาแกรม (Instagram) แอพพลิเคชั่นสุดฮอตในมือถือสมาร์ทโฟน ล่าสุดมียอดผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคนและในประเทศไทยมียอดคนเล่นมากกว่า 10 ล้านคน มียอดการถ่ายรูปอัพโหลดถึงปีละ 70 ล้านภาพ และดาราอย่าง “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ กลายเป็นคนไทยที่มียอดฟอลโลว์ทะลุเกิน 1 ล้านฟอลโลว์ ติดอันดับ 1 ในประเทศไทยและติดทอปร้อยระดับโลกด้วย
อินสตาแกรมถือเป็นโปรแกรมแบ่งปันรูปภาพ ได้รับการคิดค้นขึ้นมาเมื่อเดือน ตุลาคม 2553 โดยผู้ใช้งานสามารถถ่ายรูปและตกแต่งภาพได้ตามใจต้องการ จากนั้นแบ่งปันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งช่วงแรกนั้น อินสตาแกรมรองรับการใช้งานบน ไอโฟน ไอแพด และไอพอดทัช ต่อมาในปี 2555 จึงเพิ่มการรองรับกับระบบแอนดรอยด์และปัจจุบันเปิดให้ดาวน์โหลดได้ทางไอทูนส์และกูเกิลเพลย์
ต้องถือว่า ระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ยอดการใช้อินสตาแกรมเติบโตแซงหน้าเฟซบุ๊กและหากคำนวณอัตราเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านคน ประมาณกันว่า ยอดผู้ใช้มีสิทธิ์แตะ 200 ล้านคนภายในปีนี้
ศักยภาพการสร้างเครือข่ายผู้ติดตามหรือเป็นแฟนคลับที่มีรอยัลตี้สูงชนิดเพิ่มได้ไม่หยุด เฉพาะในไทยสูงถึง 10 ล้านคนและเติบโตต่อเนื่องตามจำนวนประชากรคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่สนใจสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ทำให้อินสตาแกรมถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดชิ้นหนึ่งของเหล่าเซเลบคนดัง ดาราศิลปิน
หลายคนเปิดกิจการส่วนตัว โดยไม่ต้องลงทุนเช่าหน้าร้านหรือละลายงบโฆษณาก้อนใหญ่ เพียงแค่โพสต์ท่าเก๋ๆ กับสินค้า อาศัยความสวย ความดัง สร้างกระแสและยอดขายได้อย่างไม่ยากนัก กลายเป็นธุรกิจขายตรงที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกำลังกินแชร์ตลาดโฮมชอปปิ้งอย่างเงียบๆ ด้วย
ริสา หงส์หิรัญ กรรมการบริหารบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารธุรกิจทีวีชอปปิ้ง “ช้อปชาแนล” และอดีตนางแบบที่อยู่ในวงการทีวีชอปปิ้งมานานเกือบ 10 ปี กล่าวกับ ผู้จัดการ360 ํ ว่า การขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) ถือเป็นตัวสร้างความคึกคักในตลาดรีเทลส่วนหนึ่ง สร้างความคุ้นชินและพฤติกรรมการซื้อสินค้า ดูภาพและตัดสินใจ กลายเป็นธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตและมีสิทธิ์ที่จะยกระดับเป็นคู่แข่งใหม่ในอนาคตของตลาดค้าปลีกประเภทโฮมชอปปิ้งได้ เนื่องจากรูปแบบการนำเสนอสินค้าและประเภทสินค้าคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ถ้ามีการพัฒนาระบบและจดทะเบียนกับ สคบ. อย่างถูกต้อง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ www.Lazada.co.th ยังระบุว่า ปัจจุบัน ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายถึง 50,000 ล้านบาท แยกเป็นสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซประมาณ 1% และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนไม่น้อยกว่า 4-5%
ทั้งนี้ หากสำรวจบรรดาคนดังที่ใช้อินสตาแกรมขายสินค้าอย่าง นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี ซึ่งเริ่มทำธุรกิจใหม่ นำเข้าหมวกจากประเทศปานามา ขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คในชื่อ “WORRA” โดยเป็นพรีเซนเตอร์สวมหมวกเองถ่ายภาพสวยงาม จนสร้างกระแสให้ “WORRA Panama Hat” กลายเป็นหมวกยอดฮิตของเหล่าเซเลบและดารามากมาย
หรือจะเป็นนางเอกสาว “แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์” เปิดตัวธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง “เบบี้ โรส บาย แพนเค้ก” ขายผ่านอินสตาแกรม ซึ่งสามารถโปรโมตและสร้างยอดขายดีเสียยิ่งกว่าการเปิดหน้าร้านขายตุ๊กตาหมี “เท็ดดี้เฮาส์”, เจ-เจตริน วรรธนะสิน ขายโทรศัพท์มือถือตัวจิ๋ว, นักแสดงหนุ่ม ธีร์ วณิชนันทธาดา ขายกระเป๋าหนัง, นาตาลี เดวิส ขายเบเกอรี่ “ Molly Bakery by นาตาลี เดวิส”
อุ้ม-ลักขณา วัธนวงส์ศิริ ขายเครื่องสำอางแบรนด์ Kaniste Cream โดยมีตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์โชว์ความขาวใสของผิวหน้ารับประกัน และครีม-เปรมสินี รัตนโสภา ที่หันมาเป็นพรีเซนเตอร์ในอินสตาแกรมขายครีมPreedee cream ซึ่งพบว่าสร้างทั้งยอดฟอลโลว์และยอดขายแบบถล่มทลาย
อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมยังมีจุดอ่อนมากเมื่อเทียบกับธุรกิจโฮมชอปปิ้งหรือทีวีชอปปิ้ง ทั้งเรื่องจำนวนสินค้า ประเภทสินค้าที่จำกัด การสาธิตคุณสมบัติ วิธีการใช้ ที่สำคัญการรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการคืนสินค้า หากผู้บริโภคไม่พึงพอใจ ซึ่งจุดอ่อนทั้งหมดยังถือเป็นจุดแข็งของโฮมชอปปิ้ง และหากลูกค้าได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดการซื้อขายจะหดตัวไปโดยปริยาย
“จริงอยู่ที่กลุ่มเซเลบขายของ อาศัยกระแสปลื้มดาราหรือคนดัง มีโอกาสทับซ้อนกับสินค้าของโฮมชอปปิ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก ดารานางแบบใช้เป็นช่องทางขายของ อย่างครีมลดความอ้วนแบบพุงทลาย ไม่โยโย่ แต่การซื้อผ่านอินสตาแกรมจะเห็นแค่ภาพ ไม่เห็นวิธีสาธิต โดยเฉพาะการรับประกันความปลอดภัย สินค้าผ่าน อย. หรือไม่ คืนได้หรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นวิจารณญาณของประชาชน และน่าจะเป็นประเด็นที่ สคบ. ควรเข้ามาตรวจสอบ” ริสากล่าว
กรณีนักต้มตุ๋มหลอกขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ โดยมีเหยื่อมากกว่า 30 รายหลงเชื่อและสั่งซื้อผ่านอินสตาแกรม เพียงแค่อาศัยข้อมูลในบัตรประชาชนของผู้อื่นที่ทำตกไว้ในผับ ไปโพสต์ประกาศหลอกขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดนานกว่า 4 ปี ทั้งโทรศัพท์มือถือไอโฟนและตุ๊กตาเฟอร์บี้ พอมีผู้สั่งซื้อและโอนเงินกลับไม่ได้รับสินค้า มูลค่าความเสียหายกว่าหลายล้านบาทน่าจะเป็นตัวอย่างสะท้อนช่องโหว่สำคัญของโซเชียลเน็ตเวิร์ค
แม้จะเป็นแนวรบใหม่ที่กำลังรุกเงียบกินแชร์ของตลาดโฮมชอปปิ้งก็ตาม