“ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสในการก้าวสู่การเป็นผู้นำเกษตรโลก ภาคเกษตรของไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการเกษตร เพราะทุกอย่างได้เอื้ออำนวยและผลักดันให้เกษตรกรไทยมีฐานะร่ำรวยขึ้น”
คำกล่าวของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาพร้อมความเชื่อที่ว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคของ “น้ำมันบนดิน” หรือ “พืชเกษตร” ซึ่งเป็นน้ำมันเลี้ยงมนุษย์ เป็นพลังงานของมนุษย์ และเป็นพลังงานของเครื่องจักร
ส่วน “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มองว่า ประเทศไทยอาจก้าวไปไม่ถึงจุดที่ธนินท์พูด เนื่องจากขาดคนที่จะขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย และประชากรรุ่นใหม่ในภาคเกษตรลดลงจนน่าเป็นห่วง
วันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา “ซีพี” ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจหลักด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร จึงได้ลงนามกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดตั้ง “คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร” ขึ้นที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ”นักจัดการเกษตร” ที่สามารถบูรณาการวิชาการเกษตร เข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยี และการจัดการธุรกิจเกษตร ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
“ประธานธนินท์เคยบอกว่า จุดอ่อนของการเกษตรไทยคือ เราขาดความรู้ในเรื่องการบริหารการจัดการอย่างเป็นรูปแบบ” คำกล่าวของ “ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน” คณบดีคณะนวัตกรรมฯ และรองประธานกรรมการของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร “นักบริหารมือทอง” ที่อยู่กับเครือซีพีมา 33 ปี และเป็นบุคคลที่แวดวงธุรกิจการเกษตรระดับชาติรู้จักดี
คณบดีป้ายแดงเล่าถึงหลักสูตรการเรียนว่า นักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาการและปฏิบัติการเกี่ยวกับพืชสำคัญ 6 ชนิด คือ ข้าว, ยางพารา, อ้อย, น้ำตาล, ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่กินความกว่า 80% ของพืชหลักที่เกษตรกรไทยปลูก ส่วนอีกชนิด คือ ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่ “เจ้าสัว” ขอให้กลุ่มธุรกิจพืชฯ เร่งศึกษาหาวิธีเพิ่มผลผลิต เพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคของคนจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต
“เราต้องการสร้าง “นักบริหารจัดการ” สำหรับพืชสำคัญ ฉะนั้นเราจะไม่เรียนสะเปะสะปะ แต่เรียนลึกลงไปในเรื่องของการเกษตร ทั้งวิชาชลประทาน, ภูมิอากาศ, สุขภาพพืช, เทคโนโลยีการเกษตร ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเรียนเรื่องการจัดการภายในฟาร์มทั้งกระบวนการ อาทิ การจัดซื้อ, การรวบรวมผลผลิต, การแปรรูป, การตลาด, การจัดการบุคคล ฯลฯ เพื่อสร้างนักจัดการเกษตรที่เข้าใจทั้งระบบแบบครบวงจร”
ด้วยคอนเซ็ปต์ Work-based Learning ของ PIM นักศึกษาคณะนวัตกรรมฯ ก็ไม่ต่างจากคณะอื่นที่ต้องฝึกงานในสนามจริง โดยถือเป็นธรรมเนียมของ PIM ที่นักศึกษาปี 1 ทุกคณะต้องฝึกงานในร้าน 7-11 หน่วยงานสูบฉีดรายได้ของเครือซีพี และเป็น “ห้องเรียน” วัฒนธรรมองค์กรแบบเร่งรัด เสริมด้วยการเรียนรู้ทิศทางธุรกิจเกษตรผ่านทิศทางธุรกิจอาหารจากหน้าร้าน 7-11
นักศึกษาปี 2 จะได้ฝึกงานกับทีมการตลาดของกลุ่มพืชฯ ในการออกไปส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่เมล็ดพันธุ์, ปุ๋ย, ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช และเครื่องจักรการเกษตร ส่วนปี 3 จะได้ฝึกงานกับบริษัทในเครือซีพีที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียน ตลอดจนฝึกงานในโรงสีข้าว, โรงสกัดน้ำมันปาล์ม, โรงงานยางแท่ง และโรงงานร้อยยาง ซึ่งซีพีจะร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์จากเซี่ยงไฮ้สร้างขึ้น
อย่างไรก็ดี อ.มนตรี ระบุว่า โรงงานเหล่านั้นจะเปิดได้ครบในปี 2558 แต่ระหว่างที่ศูนย์การเรียนยังไม่ครบวงจร นักศึกษาจะต้องไปฝึกงานกับโรงงาน “เครือข่าย” ซึ่งเป็นของพันธมิตรก่อน โดยหนึ่งในนั้นคือ “มิตรผล”
มิตรผลยังได้สนับสนุนค่าเล่าเรียนให้แก่ลูกหลานของเกษตรกรไร่อ้อยในเครือข่าย เพื่อให้เด็กเหล่านี้กลับไปทำงานกับมิตรผล โดยนี่นับเป็นต้นแบบความร่วมมือในการ “เทรน” บุคลากรให้กับบริษัทอื่น ซึ่ง ดร.มนตรี ย้ำว่า พร้อมเปิดรับบริษัทอื่นๆ ในแวดวงเกษตรมาเป็นพันธมิตรร่วมกัน
ขณะที่เทอมแรกของปี 4 จะเป็นการเรียนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร ผ่านกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นของเครือซีพี โดยผู้บริหารของซีพีจะมาเฉลยแนวทางที่บริษัทได้ดำเนินการไปในแต่ละเคส ส่วน 9 เดือนที่เหลือ นักศึกษาจะได้ลงไปอยู่ในกิจการที่ต้องการทำการศึกษา เพื่อเขียนบทวิเคราะห์การลงทุน (Project Analysis)
“เหมือนกับการตัดเสื้อ เราไม่ตัดเสื้อโหล แต่เราวัดตัวแล้วก็สร้างรูปแบบขึ้นมา หลักสูตรเหล่านี้เราร่างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า เราอยากได้นักบริหารจัดการเกษตรที่เข้าใจทั้งระบบ เพื่อมาปรับทิศทางของการเกษตรเมืองไทยให้เป็นการเกษตรสมัยใหม่ และเปลี่ยนเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer”
อ.มนตรี เชื่อว่า บัณฑิตคณะนี้จะมีความสามารถในการทำงานได้ทั้งในหน่วยงานเกษตรของรัฐและเอกชน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจเกษตรเอง เช่น โรงงานยาง, โรงสกัดน้ำมัน, โรงสี และบริษัทบริการทางการเกษตร เป็นต้น
แต่แน่นอนที่สุดคือ สามารถร่วมงานกับหลากหลายบริษัทในเครือซีพี ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ซีพีมีโครงการขยายธุรกิจอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพืชฯ ซึ่ง ดร.มนตรี เผยว่า มีแผนเปิดหน่วยบริการทางการเกษตรให้กับเกษตรกร และแผนเปิดโรงงานแปรรูปพืชหลายโรง ขณะที่การขยายตัวของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการได้แม็คโครมา ก็ยิ่งทำให้กลุ่มพืชฯ ต้องเร่งเพิ่มผลผลิตการเกษตรเพื่อให้ทันกับการเติบโตของกลุ่มค้าปลีก
ทั้งนี้ คณะนวัตกรรมฯ เพิ่งเปิดรับนักศึกษาสำหรับปีการศึกษา 2556 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรก โดยเปิดรับเพียง 50 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาทุนมิตรผล 10 คน
อ.มนตรี มองว่า หลังจาก “บ่มเพาะ” จนครบ 4 ปี บัณฑิตทุกคนน่าจะทำงานได้ปั๊บ โดยเฉพาะการทำงานกับกลุ่มซีพีในธุรกิจที่เคยฝึกงาน โดยไม่ต้องเสียเวลาเทรนในงาน (on-the job training) 1-2 ปีเช่นในอดีต เพราะนัยหนึ่งของ PIM คือ การทำหน้าที่ “เทรน” บุคลากรให้มีความเข้าใจทั้งในเนื้องานและ “วัฒนธรรมซีพี”
นอกจาก “ได้เงิน” ค่าเล่าเรียน และ “ได้งาน” ทันที อีกสิ่งสำคัญคือ ซีพีได้โอกาสคัดเลือก “คนเก่ง” ก่อนใคร โดยหนึ่งในแรงจูงใจที่ใช้คือ ทุนการศึกษาที่มาพร้อมกับเงื่อนไขว่า ต้องทำงานกับเครือซีพีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาที่จบเป็นเวลา 2 ปี หลังเรียนจบ
“บริษัทไหนจะเติบโตมากน้อยเพียงใด ไม่ได้อยู่ที่เงิน เงินสำคัญเป็นลำดับ 2 เรื่องคนมาเป็นที่ 1 ถ้าไม่มีเงิน มีคนเก่ง ก็สร้างให้บริษัทร่ำรวยใหญ่โตได้ แต่ถ้ามีเงิน ไม่มีคนเก่ง บริษัทนี้ก็ล้มละลายได้” คำกล่าวของเจ้าสัวธนินท์ในงานแถลงข่าวการซื้อหุ้นแม็คโคร เมื่อปลายเมษายน ที่ผ่านมา โดยงานแถลงถูกจัดขึ้น ณ สถาบันแห่งนี้
ย้อนกลับไป 5 ปี PIM เกิดขึ้นครั้งแรกจากคณะบริหารธุรกิจ โดยวัตถุประสงค์หนึ่งคือ เพื่อป้อนคนเข้าสู่กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีความต้องการบุคลากรที่ทำงานได้ทันทีจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ซีพีออลล์มีแผนขยายร้าน 7-11 ให้ถึง 1.5 หมื่นร้านภายในปี 2561 พร้อมกับเตรียมขยายแม็คโครออกสู่ภูมิภาคในเร็วๆ นี้
สำหรับคณะนวัตกรรมฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการ “คนเก่ง” เข้าสู่กลุ่มธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจ “ต้นน้ำ” ของเครือซีพี ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัว และเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ในการเป็น “ครัวของโลก” ของเจ้าสัวธนินท์
ขณะเดียวกันก็ยังเป็นโอกาสต่อยอดและขยายธุรกิจของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรของซีพี เพราะบัณฑิตที่ออกไปสร้างธุรกิจเกษตรเอง มีแนวโน้มจะเป็น “ลูกข่าย” หรือเครือข่ายลูกค้าชั้นดีของกลุ่มพืชฯ ส่วนบัณฑิตที่ทำงานในหน่วยงานเกษตรหรือบริษัทการเกษตรอื่น ก็จะกลายเป็น “เครือข่าย” ในแวดวงการเกษตรที่มี่ความผูกพันอันดีกับกลุ่มซีพี
ทั้ง ”องค์ความรู้” และ “เครือข่าย” ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ “นักจัดการเกษตร” และ “ธุรกิจการเกษตร” ยุคใหม่
“เรา (ซีพี) เชื่อว่าประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่แท้จริง ถ้าเราเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรได้ เราก็จะคุมอาเซียนได้ และเป็นครัวของโลกได้จริงๆ เพราะเกษตรคือทิศทางของอาหาร และนี่ (คณะนวัตกรรมฯ) ก็คือโอกาสที่เราจะสนองตอบต่อการเกษตรของไทยได้” คณบดีย้ำบ่อยครั้งเพราะตระหนักดีว่าจุดหมายนี้คือเป้าหมายของ “ท่านประธานธนินท์”