วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > พืช…มงคล เพาะหว่านพืช…ต้องหวังผล

พืช…มงคล เพาะหว่านพืช…ต้องหวังผล

เมล็ดพันธุ์ที่ดีเป็น “แหล่งกำเนิดอาหารคุณภาพของโลก”

ทุกวันพืชมงคล คนไทยจะได้เห็นภาพการถ่ายทอดสดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญผ่านทางทีวีสาธารณะ พร้อมกับลุ้นว่าปีนั้นพระโคจะเสี่ยงทายอะไร ภาพพระราชพิธีเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ประเทศไทย (เคย) เป็นประเทศเกษตรกรรม แม้ว่าสังคมเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันจะพึ่งพารายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมานานแล้ว

ภาพสุดท้ายของพระราชพิธีในทุกๆ ปีคือ ภาพประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรกรูกันเข้าไปแย่งชิงเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานที่ใช้ในพระราชพิธี คนกลุ่มหนึ่งตั้งใจนำไปบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนเกษตรกรหลายคนตั้งใจนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไปเป็นปลูกไว้ทำพันธุ์ในแปลงข้าว เพราะเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะเป็นหัวใจของผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง

คงไม่มีเกษตรกรคนใดที่หว่านเมล็ดพันธุ์แล้วไม่หวังผลที่ดีที่สุดจากการลงทุนและลงแรงในแต่ละครั้ง แต่กว่าที่ผลลัพธ์จะประจักษ์ว่าขาดทุนหรือได้กำไร ก็ต้องใช้เวลารอคอยด้วยความคาดหวัง

“ถ้าเมล็ดพันธุ์ไม่ดี ลงทุนไปแล้ว 2-3 เดือน ไถดิน ของออกมาไม่ดี แย่เลย การลงทุนเสียหายหมด เพราะฉะนั้นเราเน้นมากเรื่องความเชื่อถือได้ สินค้ามีคุณภาพ และด้านบริการหลังการขาย” คำกล่าวของมนัส เจียรวนนท์ ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด

“เจียไต๋” เป็นบริษัทที่บุกเบิกธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพมาตั้งแต่ปี 2464 จุดเริ่มต้นจากแผงลอยเล็กๆ ย่านทรงวาด โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพจากประเทศจีนมาขาย ภายใต้วิสัยทัศน์ของ “เจี่ย เอ็กชอ” และ “ชนม์เจริญ เจียรวนนท์” พ่อและอาของเจ้าสัวซีพี เจียไต๋จึงถือเป็นธุรกิจแรกและเป็นรากเหง้า (original) ของเครือซีพี 

มนัสเป็นลูกชายคนเล็กของชนม์เจริญ เข้ามาดูแลธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2527 แต่คลุกคลีอยู่ในโกดังเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ยังเล็ก จึงได้เห็นพัฒนาการธุรกิจนี้ของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยที่เน้นนำเข้า โดยไทยยังไม่มีการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์เอง จนปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตพันธุ์รายใหญ่ของอาเซียน และชั้นแนวหน้าของเอเชีย โดยมีเจียไต๋เป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญ

กว่า 91 ปี ปัจจุบัน เจียไต๋กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ และอยู่แถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเอเชีย โดยเฉพาะในตลาดเมล็ดพันธุ์เขตร้อน อีกทั้งบริษัทยังได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูง, ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช อุปกรณ์ในการเพาะปลูก และธุรกิจผักผลไม้สด

ปัจจุบันรายได้ของ “เจียไต๋” อยู่กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ราว 80% มาจากกลุ่มธุรกิจปุ๋ย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ก็อยู่ในอัตราลดลง ขณะที่รายได้จากกลุ่มเมล็ดพันธุ์และกลุ่มอารักขาพืชรวมกันมีสัดส่วนเพียง 20% ดังนั้นในการขยายการเติบโตของเจียไต๋ โดยเฉพาะในเวทีโลก จึงหมายถึงการผลักดันกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์เป็นหลัก

วันนี้ ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์มียอดขายกว่า 1,500 ล้านบาท โดย 65% เป็นยอดขายจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายจากในประเทศ โดยมนัสมองว่า ถ้าเทียบกับกลุ่มซีพี ธุรกิจนี้ถือว่ายังมีขนาดเล็กมาก แต่ก็เป็นธุรกิจที่สำคัญที่ต้องทุ่มเทต่อไป เพราะถือเป็นธุรกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ และเป็น “ธุรกิจแม่” ของซีพี

เพื่อเป็นการเดินหน้าปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันในเวทีโลก เมื่อไม่นานมานี้ เจียไต๋จึงได้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการใหม่ โดยผ่านการรับรองระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานจากสมาคมทดสอบเมล็ดพันธุ์นานาชาติ ISTA (International Seed Testing Association) ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่กำหนดมาตรฐานห้องปฏิบัติการและวิธีการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นที่ยอมรับในวงการค้าเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งเปรียบได้กับมาตรฐาน ISO หรือ GMP ของวงการ ซึ่งนับเป็นบริษัทไทยรายแรกและรายเดียวที่ได้รับการรับรองจาก ISTA 

“เราใช้เวลาประมาณ 2 ปี มุ่งมั่นในการพัฒนาให้ห้องแล็บมีมาตรฐานระดับโลก ลูกค้าที่ต้องการเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง (พรีเมียม) โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเกษตรค่อนข้างพัฒนา จะให้ความเชื่อถือกับองค์กรนี้ ฉะนั้นการได้รับการรับรองครั้งนี้จึงถือเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบซ้ำ ลูกค้าก็จะไม่มีเงื่อนไขมากดราคาเราได้เหมือนแต่ก่อน”

ดร.สุมิตรา กันตรง ผู้จัดการคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ขยายความเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะได้ใบรับรองจาก ISTA แม้ว่าเมล็ดพันธุ์พืชของเจียไต๋จะผ่านการตรวจสอบมาเป็นอย่างดีและรับรองคุณภาพโดยบริษัทเอง แต่จะถูกลูกค้าต่างประเทศนำมาใช้เป็นจุดอ่อนในการขอลดราคา หรือไม่ก็ถูกกีดกันการค้าไปเลย

อาจารย์ยกตัวอย่าง เมล็ดพันธุ์เจียไต๋ที่ผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็บแห่งนี้ อาจจะเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 600 เหรียญสหรัฐ ได้สูงถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อแลกกับเงินลงทุนร่วม 20 ล้านบาท เฉพาะการปรับปรุงและพัฒนาห้องแล็บ จึงถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

“เหตุที่เราต้องเร่งขอใบรับรองช่วงนี้ ทั้งที่จริงๆ เราบุกต่างประเทศมานานแล้ว เป็นเพราะเราเห็นแนวโน้มว่าการขายเมล็ดพันธุ์ในประเทศเริ่มติดเพดาน การเกษตรในประเทศก็น้อยลง ถ้าเราไม่การันตีตัวเองมันจะไปยากในการเข้าสู่เวทีโลก หรือถ้าช้ากว่านี้ เราอาจจะช้าเกินไป” ดร.สุมิตรากล่าว

ทั้งนี้ ห้องแล็บมาตรฐาน ISTA ของเจียไต๋ จะรับผิดชอบในส่วนของการประกันคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ อัตราความงอก, ความชื้น, ความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ และความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ในแปลงปลูก ตลอดจนการรับประกันคุณภาพสินค้าในประเด็นอื่นตามที่ลูกค้าระบุด้วย พร้อมกับเพิ่มมูลค่าให้แก่เมล็ดพันธุ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์ (Seed Technology) 

“ในธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์ LAB และ R&D ถือเป็นหัวใจ เพราะถ้าสู้กันด้วยคุณภาพสินค้าและการรับรองในเชิงปริมาณและผลผลิต สุดท้ายก็ตามกันทัน แต่ถ้าจะนำคนอื่นเราต้องมีเทคโนโลยีและการวิจัยในเรื่องของพันธุ์ ที่ตอบสนองต่อพื้นที่ ต่อความต้องการตลาด โดยเฉพาะตอนนี้เราค่อนข้างกังวลเรื่องโลกร้อน ซึ่งกระทบมากทั้งในและต่างประเทศ ฉะนั้นพืชที่จะออกมาใหม่ทนต่อโรค และสิ่งแวดล้อมด้วย”

ทิศทางในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์จากปากคำของ “บุญมี ออกแมน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลด้านการตลาดต่างประเทศให้กับเจียไต๋มายาวนาน ตอกย้ำให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในกลุ่มธุรกิจนี้ของเจียไต๋ 

ปัจจุบัน เจียไต๋มีสถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชแหล่งใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ กาญจนบุรี, เชียงใหม่ และคุนหมิง ประเทศจีน และยังมีบริษัทในต่างประเทศที่ตั้งขึ้นเพื่อร่วมพัฒนาพันธุ์พืชกับบริษัทคู่ค้าในหลายประเทศ เช่น อินเดีย, เวียดนาม, จีน, อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ เป็นต้น

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่เป็นจุดแข็งของเจียไต๋ที่ได้รับการพัฒนาและส่งออกมากที่สุด ได้แก่ แตงกวา, แตงโม, มะระ, บวบ, ฟักทอง, พริก, มะเขือเทศ และเมลอน โดยบุญมีกล้ายืนยันว่า แตงกวาและแตงโมในอินเดียราว 70% และ 80% ของทั้งหมด (ตามลำดับ) เป็นผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ของเจียไต๋ 

“การแข่งขันบนเวทีในประเทศ เรามีบริษัทเล็กๆ หลายราย บริษัทใหญ่ใกล้เคียงกับเราก็มี “ศรแดง” ซึ่งมาจากฮอลแลนด์ แต่ในตลาดโลกมีหลากหลายแบรนด์ ซึ่งเขาใหญ่กว่าเราเยอะมาก อย่างในเอเชียเราก็เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลี แต่เราก็มีศักยภาพที่จะแข่งในตลาดโลกได้ เพราะมันไม่มีใครที่เก่งทุกพืชผักหรอก เราก็เลือกแข่งในพืชผักที่เราถนัด คุ้นเคย และมีโอกาสเป็นผู้นำ”

บุญมี ระบุจุดยืน ณ ปัจจุบันของเจียไต๋ว่า จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักที่เหมาะจะปลูกในพื้นที่เขตร้อน หรือพื้นที่ในช่วงเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปถึงละติจูดที่ 23 ส่วนพืชผักอื่นที่เจียไต๋ไม่ถนัด โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาว บริษัทจะใช้กลยุทธ์เป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตต่างประเทศที่เป็นผู้นำพืชผักนั้น

ปัจจุบัน เจียไต๋ส่งเมล็ดพันธุ์ออกไปต่างประเทศถึง 35 ประเทศ โดยปีนี้ บริษัทตั้งเป้าอัตราการเติบโตยอดขายในตลาดต่างประเทศไม่ต่ำ 20% และตั้งเป้าจะไปให้ถึง 3 พันล้านบาทให้ได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะมองว่า ใบรับรอง ISTA จะช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสทางการค้าได้อีกมาก

ส่วนตลาดในประเทศ ก่อนหน้านี้ เจียไต๋ได้ปรับโมเดลธุรกิจด้วยการต่อยอดจากธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไปสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผักผลไม้สด ในแปลงปลูกระบบปิดใน 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยมนัสให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ต่อไปอาจจะมีการขยายโครงการไปในพื้นที่ต่าง ๆ ในรูปแบบของ Contract Farming เช่นเดียวกับฟาร์มเลี้ยงไก่ของ CPF ก็มีโอกาสเป็นไปได้

สำหรับผักผลไม้ที่นำมาต่อยอดธุรกิจ ล้วนแต่เป็นพืชผักที่เป็นดาวเด่นของบริษัท ได้แก่ เมลอน, แตงโม, แตงกวา และมะเขือเทศ โดย “เมลอน” นับเป็นตัวอย่างสินค้าของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งปัจจุบันมีวางขายใน Golden Place, CP Food Market และตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

“แนวโน้มของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ราคาน่าจะแพงขึ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง เกษตรกรน้อยลง ฉะนั้นก็ต้องเก็บเกี่ยวให้เร็วขึ้น ต้องสร้างผลผลิตได้มากขึ้น รสชาติอร่อยขึ้น ฯลฯ ทุกอย่างต้องดีขึ้น ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น” มนัสทิ้งท้าย

ด้วยนัยนี้ เมล็ดพันธุ์ที่ดีจึงไม่ได้หมายถึงเพียงความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร แต่ยังหมายถึงการก้าวสู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย อันเป็นเป้าหมายภายใน 5 ปีของเจียไต๋ ซึ่งถูกตั้งขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็น “แหล่งกำเนิดอาหารคุณภาพของโลก”

และยังหมายถึงอีกก้าวที่เข้าใกล้ความปรารถนาอันลุ่มลึกของเจ้าสัวซีพีที่ต้องการเป็นบริษัทที่มีส่วนในการดูแล (หรือ “ควบคุม”??) ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยและของโลก เรียกว่าครบวงจร “from farm to table” เลยทีเดียว