Machikon คำนี้กำลังเป็นคีย์เวิร์ดที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งที่สุดคำหนึ่งในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยไปจนถึงคนวัยทำงานช่วงอายุ 20-40 ปีทั่วประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่คนต่างวัยจำนวนไม่น้อยกลับพิศวงและไม่สามารถแม้กระทั่งคาดเดาความหมาย ของคำศัพท์ใหม่นี้ได้เสียด้วยซ้ำ
แต่นับจากนี้อีกไม่ช้าไม่นาน Machikon มีแนวโน้มจะกลายเป็นที่รับรู้ในวงกว้างเนื่องด้วยกระแสความนิยมที่รุกคืบสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในบางบ่ายของวันหยุดสุดสัปดาห์และวันนักขัตฤกษ์ ที่จู่ๆ ใจกลางของเมืองใหญ่ก็ขวักไขว่ไปด้วยหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นถือแผนที่เดินตามหาบางสิ่งกันอย่างขะมักเขม้น
มีหลักฐานพออ้างอิงได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2004 ที่เมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ และกลายเป็นต้นแบบกระจายสู่เมืองอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่นจนกระทั่งเกิดคำแสลง Machikon นี้ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วโดยการสมาสคำ “machi” ซึ่งแปลว่าเมืองเข้ากับ “kon” ที่ย่อมาจากคำว่า goukon อีกที
บางครั้งก็ยากที่จะเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นยังคงรากฐานของทัศนคติในบางเรื่องที่ล้าหลังเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในปัจจุบันดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์ ของประเทศพัฒนาแล้วหนึ่งเดียวในเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น มุมมองในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ สตรีก็ดี หรือการดำรงอยู่ของบรรดาแม่สื่อแม่ชักที่กระตือรือร้นเป็นธุระจัดหาคู่ดูตัวตามประเพณีเก่าแก่ซึ่งทำรายได้เป็นกอบเป็นกำก็ดี
อย่างไรก็ตามในระยะหลังๆ กิจกรรมของแม่สื่อดูแผ่วเบาลงไปทุกขณะ นั่นอาจเป็นเพราะระดับการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่นสูงขึ้นส่งผลให้สถานภาพทางสังคมและเศรษฐานะสูงตามซึ่งแปรผกผันกับอัตราการแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่รู้จักกันผ่านพิธีดูตัวด้วยสนนราคาอันสูงลิ่ว ด้วยเหตุนี้พิธีดูตัวจึงค่อยๆ เสื่อมประสิทธิภาพไปตามกาลเวลา
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่การนัดพบของหนุ่มสาวรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแม่สื่อ ผู้ซึ่งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบผลการจัดหาคู่แต่อย่างใด ดังนั้นพิธีรีตองตามแบบแผนเดิมจึงถูกตัดออกไปกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยการนัดเลี้ยง สังสรรค์กันในหมู่เพื่อนฝูงตามร้านอาหารภายใต้เงื่อนไขการแนะนำเพื่อนใหม่ให้เพื่อนในกลุ่มได้รู้จักซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายแต่ให้ประสิทธิผลสูงขึ้นที่เรียกกันว่า goukon
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้มีคู่รักหรือสามีภรรยา หลายต่อหลายคู่ที่เริ่มต้นจาก goukon ซึ่งพบเห็นได้เป็นปกติโดยเฉพาะค่ำคืนศุกร์และเสาร์
กระนั้นก็ดี goukon ได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับด้วยการเพิ่มโอกาสขึ้นหลายเท่าตัวจากเครือข่ายในหมู่เพื่อนไม่กี่คนขยายตัวเป็นกลุ่มคนในอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีความสนใจคล้ายๆ กันผ่านงานอีเวนต์ใหญ่ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายของสมาคมร้านอาหารร้านดื่มตามเมืองใหญ่ๆ อันเป็นที่มาของ Machikon
การเติบโตของเครือข่าย Machikon ดำเนินไปอย่างถูกจังหวะถูกเวลาภายใต้แรงขับเคลื่อนของ Social Network ทรงประสิทธิภาพอย่าง Mixi รวมถึง Facebook และ Twitter นอกจากนี้ยังมีสมาร์ทโฟน เป็นอุปกรณ์สื่อสารคู่กายของคนในวัยนี้ที่สามารถรวบรวมสมาชิกได้คราวละหลายร้อยจนถึงหลายพันคนในอีเวนต์แต่ละครั้ง
ในทางปฏิบัติ Machikon ใช้ในความหมายแคบ ลงบ่งชี้ถึงสถานที่จัดอีเวนต์เช่น Harajukukon (ฮาราจุกุ), Asakusakon (อะสะคุสะ), Baykon (โยโกฮามา), Kawakon (คาวาซากิ), Kyokon (เกียวโต), Tenjinkon (ฟุคุโอกะ) เป็นต้น
รูปแบบของงานอีเวนต์มักจำกัดจำนวนและอายุของผู้เข้าร่วมงานที่ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วหรือเกิน 20 ปีขึ้นไปตามกฎหมายซึ่งอาจเปิดกว้างสำหรับคนทั่วไปหรือเฉพาะสมาชิกก็สุดแล้วแต่ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขกำหนดให้เพื่อนเพศเดียวกันมาลงทะเบียนเข้างานเป็นคู่แล้วรับ Wrist band พร้อมแผนที่ร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ
โดยทั่วไปค่าลงทะเบียนของฝ่ายชาย 5,900 เยน ฝ่ายหญิง 3,900 เยนจะใช้เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มภายในร้านค้าที่เข้าร่วมอีเวนต์ซึ่งการเลือกเข้าร้านเป็นไปได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังขอนั่งร่วมโต๊ะกับคู่ที่มี Wrist band เหมือนกันได้อย่างเสรี ภายในเวลาที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลา 15.00-18.00 น.ที่ไม่ค่อยมีลูกค้า
การเลือกช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากจะได้เปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ร่วมอีเวนต์อย่างเต็มที่แล้วยังช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ประการแรกของการจัด Machikon ที่ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินให้สะพัดและเกิดการไหลเวียนได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมอีเวนต์ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งส่งอานิสงส์ไปถึงร้านค้าอื่นที่เปิดอยู่โดยรอบอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น Machikon ยังประสงค์เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสสูงสุดให้คนหนุ่มสาวได้ออกมาพบปะกันอย่างเปิดเผยภายใต้กรอบและระเบียบสังคม ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังข้อกำหนดการลง ทะเบียนเป็นคู่เพศเดียวกันนี้เป็นกลไกช่วยให้ผู้ร่วมอีเวนต์ดังกล่าวลดการเขินอายพร้อมๆ กันนั้นก็มีเพื่อนที่มาด้วยคอยดูแลความปลอดภัยซึ่งกันและกันได้อีกทางหนึ่ง
หากสัมฤทธิผลที่เกิดขึ้นจาก Machikon เป็นจริงแล้วอาจช่วยกระตุ้นอัตราการแต่งงานของสังคมญี่ปุ่นให้สูงขึ้นได้ซึ่งประเด็นนี้กำลังติดอันดับปัญหาเรื้อรังว่าด้วยขนาดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังแก้ไม่ตก
อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมอีเวนต์เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จัดงานเตรียมมาตรการป้องกันไว้อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่การป้องกันปัญหาอาชญากรรมและการล่อลวง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงาน ของร้านที่เข้าร่วมโครงการช่วยสอดส่องดูแลรวมทั้งกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ส่วนอีกประการคือการรณรงค์เรื่อง “เมาไม่ขับ” ซึ่งขอความ ร่วมมือให้ผู้ร่วมงานเดินทางมาด้วยระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น
ความสำเร็จของ Machikon ที่ขยายตัวสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นในเวลานี้จึงเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัวที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น การสรรค์สร้างโอกาสให้หญิงชายได้รู้จักกันรวมถึงอาจส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาประชากรญี่ปุ่นในระยะยาวได้